บาลีวันละคำ

ทิฏฐธัมมิกัตถะ (บาลีวันละคำ 3,988)

ทิฏฐธัมมิกัตถะ

เข้าใจไม่ยาก

แต่ปฏิบัติไม่ง่าย

อ่านว่า ทิด-ถะ-ทำ-มิ-กัด-ถะ

ทิฏฐธัมมิกัตถะ” เขียนแบบบาลีเป็น “ทิฏฺฐธมฺมิกตฺถ” อ่านเท่ากับภาษาไทย คือ ทิด-ถะ-ทำ-มิ-กัด-ถะ

แยกศัพท์เป็น ทิฏฺฐธมฺมิก + อตฺถ

(๑) “ทิฏฺฐธมฺมิก” 

อ่านว่า ทิด-ถะ-ทำ-มิ-กะ ประกอบด้วย ทิฏฺฐ + ธมฺม + อิก ปัจจัย

(ก) “ทิฏฺฐ” อ่านว่า ทิด-ถะ รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ปัจจัย, แปลง สฺต (คือ (ทิ)-สฺ + ) เป็น ฏฺฐ

: ทิสฺ + = ทิสฺต > ทิฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า (1) “เห็นแล้ว” (2) “สิ่งอันเขาเห็น

ทิฏฺฐ” ใช้ในความหมายดังนี้ –

(๑) เป็นคำนาม หมายถึง การเห็น, มโนภาพ (a vision)

(๒) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง –

(1) ได้เห็น (seen)

(2) รู้, เข้าใจ (known, understood)

(3) อันปรากฏ, อันวินิจฉัยได้ด้วยการเห็น (visible, determined by sight)

ทิฏฺฐ” ในภาษาไทย ตัด ปฏักออก เขียนเป็น “ทิฐ

ในที่นี้เขียนตามรูปบาลีเป็น “ทิฏฺฐ

(ข) “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > -) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > –มฺม )

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม สันสกฤตเป็น ธรฺม เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น ธรรม

ธมฺมธรรม” มีความหมายหลายหลาก ในภาษาไทยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้เขียนตามรูปบาลีเป็น “ธมฺม

ทิฏฺฐ + ธมฺม = ทิฏฺฐธมฺม (ทิด-ถะ-ทำ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมอันตนเห็นแล้ว” หมายถึง สิ่งที่บุคลลมองเห็น, โลกแห่งความรู้สึก, โลกนี้ (the visible order of things, the world of sensation, this world)

ในภาษาไทย “ทิฏฺฐธมฺม” เขียนเป็น “ทิฐธรรม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ทิฐธรรม : (คำแบบ) (คำนาม) “ธรรมทันตาเห็น”, ความเป็นไปที่เห็นในชาตินี้. (ป. ทิฏฺฐธมฺม).”

ในที่นี้เขียนแบบบาลีเป็น “ทิฏฐธัมม” 

ทิฏฺฐธมฺม + อิก = ทิฏฺฐธมฺมิก (ทิด-ถะ-ทำ-มิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบด้วยธรรมอันตนเห็นแล้ว” หมายถึง ได้เห็น ได้ประสบ ได้รับ ในชาติปัจจุบันทันตาเห็น

(๒) “อตฺถ” 

อ่านว่า อัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง รฺ ที่ (อ)-รฺ เป็น ตฺ (อรฺ > อตฺ

: อรฺ + = อรถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ดำเนินไปได้” (2) “สิ่งที่ให้ดำเนินไปตามการณ์” (3) “สิ่งอันบุคคลถึง คือได้รับตามครรลองแห่งเหตุ

(2) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย, แปลง ที่ (อ)-สฺ เป็น ตฺ (อสฺ > อตฺ)

: อสฺ + = อสถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้มีให้เป็น” (2) “เหตุให้มีศัพท์

(3) อตฺถฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา) + (อะ) ปัจจัย

: อตฺถ + = อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ต้องการ

อตฺถ” (ปุงลิงค์) มีความหมายหลายอย่าง เช่น –

(1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ, ความดี (ทางศีลธรรม), พร, สวัสดิภาพ, ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; (moral) good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)

(2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา (need, want)

(3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import, denotation, signification)

(4) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)

อตฺถ” ในภาษาไทยนิยมใช้อิงสันสกฤตเป็น “อรรถ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อรรถ, อรรถ– : (คำนาม) เนื้อความ เช่น แปลโดยอรรถ, คําที่ยังไม่ได้แปลความหมาย เช่น คําอรรถ. (ส. อรฺถ; ป. อตฺถ).”

ในที่นี้เขียนตามรูปบาลีเป็น “อัตถะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อัตถ-, อัตถ์, อัตถะ : (คำนาม) เนื้อความ, ประโยชน์, ความต้องการ. (ป. อตฺถ; ส. อรฺถ).”

ทิฏฺฐธมฺมิก + อตฺถ = ทิฏฺฐธมฺมิกตฺถ (ทิด-ถะ-ทำ-มิ-กัด-ถะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผลประโยชน์ประกอบด้วยธรรมอันตนเห็นแล้ว” หมายถึง ผลประโยชน์ที่ได้เห็น ได้ประสบ ได้รับ ในชาติปัจจุบันทันตาเห็น

ทิฏฺฐธมฺมิกตฺถ” ในที่นี้เขียนตามรูปบาลีเป็น “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” (ทิด-ถะ-ทำ-มิ-กัด-ถะ) 

คำว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” ไว้ดังนี้ –

…………..

ทิฏฐธัมมิกัตถะ : ประโยชน์ในปัจจุบัน, ประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ ที่คนทั่วไปปรารถนา มีทรัพย์ ยศเกียรติ ไมตรี เป็นต้น อันจะสำเร็จด้วยธรรม (เรียกเต็มว่า ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ธรรมอันเป็นไปเพื่อทิฏฐธัมมิกัตถะ) ๔ ประการ คือ ๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา ๓. กัลยาณมิตตตา คบหาคนดีเป็นมิตร ๔. สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตให้พอดีแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้; มักเรียกคล่องปากว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [144] แสดงหลักธรรมข้อนี้ในชื่อเต็มว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม” ไว้ดังนี้ –

…………..

ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 (ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน, หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น — Diṭṭhadhammikattha-saṁvattanika-dhamma: virtues conducive to benefits in the present; virtues leading to temporal welfare)

1. อุฏฐานสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอันสุจริต มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่อง ตรวจตรา หาอุบายวิธี สามารถจัดดำเนินการให้ได้ผลดี — Uṭṭhānasampadā: to be endowed with energy and industry; achievement of diligence)

2. อารักขสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์ และผลงานอันตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม ด้วยกำลังงานของตน ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย — Ārakkhasampadā: to be endowed with watchfulness; achievement of protection)

3. กัลยาณมิตตตา (คบคนดีเป็นมิตร คือ รู้จักกำหนดบุคคลในถิ่นที่อาศัย เลือกเสวนาสำเหนียกศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้ทรงคุณมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา — Kalyāṇamittatā: good company; association with good people)

4. สมชีวิตา (มีความเป็นอยู่เหมาะสม คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี มิให้ฝืดเคืองหรือฟูมฟาย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้ — Samajīvitā: balanced livelihood; living economically)

ธรรมหมวดนี้เรียกกันสั้นๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือเรียกติดปากอย่างไทยๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ (อัตถะ แปลว่า ประโยชน์ จึงมีประโยชน์ซ้ำซ้อนกันสองคำ)

…………..

แถม :

หัวข้อธรรมทั้ง 4 นี้ ผู้รู้ท่านตัดเอาเฉพาะพยางค์แรกมาพูดรวมกันว่า “อุ อา กะ สะ” นิยมเรียกกันว่า “หัวใจเศรษฐี”

อุ” ย่อมาจากคำว่า “อุฏฺฐานสมฺปทา” แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงพร้อมด้วยการลุกขึ้น” หมายถึง ความขยันหมั่นเพียร ผูกเป็นคำสั้นๆ ว่า “ขยันหา

อา” ย่อมาจากคำว่า “อารกฺขสมฺปทา” แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงพร้อมด้วยการอารักขา” หมายถึง รู้จักระวังรักษาทรัพย์ที่หามาได้ ผูกเป็นคำสั้นๆ ว่า “รักษาดี

กะ” ย่อมาจากคำว่า “กลฺยาณมิตฺตตา” แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้มีคนดีเป็นเพื่อน” หมายถึง คบหากับคนดี ผูกเป็นคำสั้นๆ ว่า “มีกัลยาณมิตร

สะ” ย่อมาจากคำว่า “สมชีวิตา” แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้ดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม” หมายถึง ความรู้จักจับจ่ายใช้สอยอย่างพอเหมาะพอควร ผูกเป็นคำสั้นๆ ว่า “เลี้ยงชีวิตเหมาะสม

อุ” = ขยันหา

อา” = รักษาดี

กะ” = มีกัลยาณมิตร

สะ” = เลี้ยงชีวิตเหมาะสม 

สั้นๆ แต่ต้องปฏิบัติติดต่อกันยาวนาน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระพุทธเจ้าสอนไว้ที่ไหนว่า –

ให้มนุษย์หวังความสุขในชาติหน้าเท่านั้น?

: และพระพุทธเจ้าสอนไว้ที่ไหนว่า –

ต้องล้างสิ่งที่ไม่ถูกใจเราให้สิ้นซากเสียก่อน

จึงมีความสุขในชาตินี้ได้?

#บาลีวันละคำ (3,988)

14-5-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *