สัมปรายิกัตถะ (บาลีวันละคำ 3,989)
สัมปรายิกัตถะ
ประโยชน์เบื้องหน้า
ไม่ได้แปลว่าจะไม่ได้รับในชาตินี้
อ่านว่า สำ-ปะ-รา-ยิ-กัด-ถะ
“สัมปรายิกัตถะ” เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺปรายิกตฺถ” อ่านเท่ากับภาษาไทย คือ สำ-ปะ-รา-ยิ-กัด-ถะ
แยกศัพท์เป็น สมฺปรายิก + อตฺถ
(๑) “สมฺปรายิก”
อ่านว่า สำ-ปะ-รา-ยิ-กะ ประกอบด้วย สมฺปราย + อิก ปัจจัย
(ก) “สมฺปราย” อ่านว่า สำ-ปะ-รา-ยะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ปร (เบื้องหน้า, ข้างหน้า, อื่นอีก) + อิ (แผลงเป็น อยฺ) หรือ อยฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ม, ทีฆะ อะ ที่ อ-(ยฺ) เป็น อา (อย > อาย)
: สํ + ปร + อิ > อยฺ = สํปรยฺ + อ = สํปรย > สมฺปรย > สมฺปราย แปลตามศัพท์ว่า “-อันบุคคลพึงถึงพร้อมในเบื้องหน้า (ตามอำนาจของกรรม)” หรือ “-เป็นที่ไปในเบื้องหน้า” หมายถึง ปรโลก, โลกหน้า (future state, the next world)
“สมฺปราย” เขียนแบบไทยเป็น “สัมปราย” แต่ไม่มีคำที่ใช้เดี่ยวๆ แบบนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำที่มาจาก “สัมปราย” ไว้ 2 คำ คือ “สัมปรายภพ” และ “สัมปรายิกภพ” บอกไว้ว่า –
“สัมปรายภพ, สัมปรายิกภพ : (คำนาม) ภพหน้า. (ป., ส.).”
“สัมปรายภพ” อ่านว่า สำ-ปะ-รา-ยะ-พบ
“สัมปรายิกภพ” อ่านว่า สำ-ปะ-รา-ยิ-กะ-พบ
ข้อสังเกต : เฉพาะคำ “สัมปราย-” มักมีผู้อ่านหรือพูดเป็น สำ-ปฺราย คือออกเสียง “-ปราย” เหมือนคำไทยว่า ประปราย หรือ โปรยปราย และคำว่า “สัมปรายภพ” ก็ออกเสียงว่า สำ-ปฺราย-พบ (ไม่มี -ยะ-) ซึ่งเป็นการออกเสียงผิด อันเนื่องมาจากไม่เข้าใจการออกเสียงคำที่มาจากบาลีสันสกฤต (และที่ไม่เข้าใจก็เพราะขาดการศึกษาสังเกตสำเหนียก!)
จึงขอย้ำว่า –
“สัมปราย-” อ่านว่า สำ-ปะ-ราย ไม่ใช่ สำ-ปฺราย
“สัมปรายภพ” อ่านว่า สำ-ปะ-รา-ยะ-พบ ไม่ใช่ สำ-ปฺราย-พบ
สมฺปราย + อิก = สมฺปรายิก (สำ-ปะ-รา-ยิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบในภพเบื้องหน้า” ความหมายที่มักเข้าใจกันคือ ได้เห็น ได้ประสบ ได้รับผลในชาติหน้า
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมฺปรายิก” ว่า belonging to the next world (เป็นของโลกหน้า)
(๒) “อตฺถ”
อ่านว่า อัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่ (อ)-รฺ เป็น ตฺ (อรฺ > อตฺ)
: อรฺ + ถ = อรถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ดำเนินไปได้” (2) “สิ่งที่ให้ดำเนินไปตามการณ์” (3) “สิ่งอันบุคคลถึง คือได้รับตามครรลองแห่งเหตุ”
(2) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + ถ ปัจจัย, แปลง ส ที่ (อ)-สฺ เป็น ตฺ (อสฺ > อตฺ)
: อสฺ + ถ = อสถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้มีให้เป็น” (2) “เหตุให้มีศัพท์”
(3) อตฺถฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย
: อตฺถ + อ = อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ต้องการ”
“อตฺถ” (ปุงลิงค์) มีความหมายหลายอย่าง เช่น –
(1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ, ความดี (ทางศีลธรรม), พร, สวัสดิภาพ, ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; (moral) good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)
(2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา (need, want)
(3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import, denotation, signification)
(4) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)
“อตฺถ” ในภาษาไทยนิยมใช้อิงสันสกฤตเป็น “อรรถ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อรรถ, อรรถ– : (คำนาม) เนื้อความ เช่น แปลโดยอรรถ, คําที่ยังไม่ได้แปลความหมาย เช่น คําอรรถ. (ส. อรฺถ; ป. อตฺถ).”
ในที่นี้เขียนตามรูปบาลีเป็น “อัตถะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัตถ-, อัตถ์, อัตถะ : (คำนาม) เนื้อความ, ประโยชน์, ความต้องการ. (ป. อตฺถ; ส. อรฺถ).”
สมฺปรายิก + อตฺถ = สมฺปรายิกตฺถ (สำ-ปะ-รา-ยิ-กัด-ถะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผลประโยชน์อันประกอบในภพเบื้องหน้า” หมายถึง ผลประโยชน์ที่จะได้เห็น ได้ประสบ ได้รับ ในชาติหน้า
“สมฺปรายิกตฺถ” ในที่นี้เขียนตามรูปบาลีเป็น “สัมปรายิกัตถะ” (สำ-ปะ-รา-ยิ-กัด-ถะ)
คำว่า “สัมปรายิกัตถะ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “สัมปรายิกัตถะ” ไว้ดังนี้ –
…………..
สัมปรายิกัตถะ : ประโยชน์ภายหน้า, ประโยชน์เลยตาเห็น, ประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไป อันได้แก่ความมีจิตใจเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมความดี ทำให้ชีวิตนี้มีค่าและเป็นหลักประกันชีวิตในภพหน้าซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยธรรม ๔ ประการ คือ ๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล ๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาค ๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา ธรรม ๔ อย่างนี้เรียกเต็มว่า สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม (ธรรมอันเป็นไปเพื่อสัมปรายิกัตถะ)
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [191] แสดงหลักธรรมข้อนี้ในชื่อเต็มว่า “สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม” ไว้ดังนี้ –
…………..
สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 (ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์เบื้องหน้า, ธรรมเป็นเหตุให้สมหมาย, หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นสูงขึ้นไป — Samparāyikattha-saṁvattanika-dhamma: virtues conducive to benefits in the future; virtues leading to spiritual welfare)
1. สัทธาสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยศรัทธา — Saddhā-sampadā: to be endowed with faith; accomplishment of confidence)
2. สีลสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยศีล — Sīla-sampadā: to be endowed with morality; accomplishment of virtue)
3. จาคสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยการเสียสละ — Cāga-sampadā: to be endowed with generosity; accomplishment of charity)
4. ปัญญาสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยปัญญา — Paññā-sampadā: to be endowed with wisdom; accomplishment of wisdom)
ธรรมหมวดนี้ เรียกกันสั้นๆ ว่า สัมปรายิกัตถะ หรือเรียกติดปากอย่างไทยๆ ว่า สัมปรายิกัตถประโยชน์ (อัตถะ ก็แปลว่า “ประโยชน์” จึงเป็นคำซ้ำซ้อนกัน)
…………..
แถม :
เมื่อเข้าคู่กับ “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” ซึ่งมักเรียกกันติดปากว่า “ประโยชน์ชาตินี้” “สัมปรายิกัตถะ” ก็มักเรียกคู่กันไปว่า “ประโยชน์ชาติหน้า”
เมื่อเรียกอย่างนี้ก็ชวนให้สงสัยว่า ผู้ที่ปฏิบัติบำเพ็ญคุณธรรมชุดนี้จะได้รับผลแห่งคุณธรรมในชาติหน้าเท่านั้น ไม่ได้รับในชาตินี้ เช่นนั้นหรือ? ยิ่งเมื่อเทียบกับคำว่า “สัมปรายภพ” และ “สัมปรายิกภพ” ที่หมายถึง ภพหน้า หรือชาติหน้า ก็ยิ่งชวนให้เชื่อว่า “สัมปรายิกัตถะ” ก็ต้องเป็นประโยชน์ที่จะได้รับในชาติหน้าด้วยเช่นกัน
พึงทราบว่า คำว่า “สัมปรายิกัตถะ” ท่านไขความไว้ชัดแล้วว่า หมายถึง ประโยชน์ภายหน้า, ประโยชน์เลยตาเห็น, ประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไป อันได้แก่ความมีจิตใจเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมความดี ทำให้ชีวิตนี้มีค่าและเป็นหลักประกันชีวิตในภพหน้า
นั่นหมายถึง ชาตินี้ก็มีค่า ชาติหน้าก็มีคุณ
กล่าวอีกนัยหนึ่ง “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” เป็นหลักประกันเฉพาะชีวิตในปัจจุบันนี้ แต่ “สัมปรายิกัตถะ” เป็นหลักประกันทั้งชีวิตในปัจจุบันนี้ ทั้งชีวิตในภายหน้า
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่ามัวเถียงกันว่าชาติหน้ามีหรือไม่มี
: จนลืมทำความดีในชาติปัจจุบัน
#บาลีวันละคำ (3,989)
15-5-66
…………………………….
…………………………….