โจรกรรม (บาลีวันละคำ 1,871)
โจรกรรม
กรรมของเจ้าทรัพย์
อ่านว่า โจ-ระ-กํา ก็ได้ โจน-ระ-กํา ก็ได้
(ตามพจนานุกรมฯ)
แยกศัพท์เป็น โจร + กรรม
(๑) “โจร”
บาลีอ่านว่า โจ-ระ รากศัพท์มาจาก จุรฺ (ธาตุ = ลัก, ขโมย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ จุ-(รฺ) เป็น โอ (จุรฺ > โจร)
: จุรฺ + ณ = จุรณ > จุร > โจร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ลักขโมย” หมายถึง ขโมย, โจร (a thief, a robber)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โจร ๑, โจร– : (คำนาม) ผู้ร้ายที่ลักขโมยหรือปล้นสะดมทรัพย์สินผู้อื่นเป็นต้น. (ป., ส.).”
(๒) “กรรม”
บาลีเขียน “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตและนิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
“กรรม” ในแง่ภาษา –
1- รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย)
2- ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ = ก- และ ร ที่ปัจจัย : รมฺม = -มฺม
3- กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
4- แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ” (the doing, deed, work)
“กรรม” ในแง่ความหมาย –
1- การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม
2- การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม
3- การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม
4- พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม
“กรรม” ในแง่ความเข้าใจ –
1- กฎแห่งกรรม คือ “ทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว ดุจปลูกพืชชนิดใด ต้องเกิดผลดอกใบของพืชชนิดนั้น”
2- กรรมมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นผล คือสภาพทั้งปวงที่เรากำลังเผชิญหรือประสบอยู่ และส่วนที่เป็นเหตุ คือสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ในบัดนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เป็นผลในลำดับต่อไป (ผู้ที่ไม่เข้าใจ เมื่อมอง “กรรม” มักเห็นแต่ส่วนที่เป็นผล แต่ไม่เห็นส่วนที่เป็นเหตุ)
3- กรรม เป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร กรรมก็เป็นจริงอย่างที่กรรมเป็น
โจร + กมฺม = โจรกมฺม > โจรกรรม แปลว่า “กรรมของผู้ขโมย” “การกระทำของผู้ขโมย”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โจรกรรม : (คำนาม) การลัก, การขโมย, การปล้น. (ส.; ป. โจรกมฺม).”
ข้อสังเกต: “โจรกรรม” เป็นคำนาม แต่ในภาษาไทยบางทีก็มีผู้ใช้เป็นคำกริยา เช่น คนร้ายโจรกรรมทรัพย์สินไปได้หลายรายการ
…………..
อภินันทนาการ :
ในพระบาลีมีพระพุทธพจน์ตรัสถึง “มหาโจร 5 จำพวก” ไว้น่าสนใจ ขอนำมาเสนอเป็นอภินันทนาการแด่ญาติมิตรเพื่อเจริญปัญญาแบบเต็มสำนวน ดังนี้
…………..
ปญฺจิเม ภิกฺขเว มหาโจรา สนฺโต สํวิชฺชมานา โลกสฺมึ.
กตเม ปญฺจ ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจร 5 จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
มหาโจร 5 จำพวกเป็นไฉน ?
(1) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจรบางคนในโลกนี้ ย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอเราจักเป็นผู้อันบุรุษร้อยหนึ่งหรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว ท่องเที่ยวไปในคาม นิคม และราชธานี เบียดเบียนเอง ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ตัดเอง ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเอง ให้ผู้อื่นเผาผลาญ สมัยต่อมา เขาเป็นผู้อันบุรุษร้อยหนึ่งหรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว เที่ยวไปในคามนิคมและราชธานี เบียดเบียนเอง ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ตัดเอง ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเอง ให้ผู้อื่นเผาผลาญ ฉันใด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอเราจึงจักเป็นผู้อันภิกษุร้อยหนึ่งหรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว เที่ยวจาริกไปในคาม นิคม และราชธานี อันคฤหัสถ์และบรรพชิต สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร สมัยต่อมา เธอเป็นผู้อันภิกษุร้อยหนึ่งหรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว เที่ยวจาริกไปในคาม นิคม และราชธานี อันคฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรงแล้ว ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลาย (มักใหญ่ใฝ่สูง)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ 1 มีปรากฏอยู่ในโลก
(2) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ย่อมยกตนขึ้น (ยกตนข่มท่าน)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ 2 มีปรากฏอยู่ในโลก
(3) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามกำจัดเพื่อนพรหมจารีผู้หมดจด ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์อยู่ด้วยธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์อันหามูลมิได้ (หาทางทำลายพระดีๆ)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ 3 มีปรากฏอยู่ในโลก
(4) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมสงเคราะห์ เกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยครุภัณฑ์ ครุบริขาร ของสงฆ์ คือ อาราม พื้นที่อาราม วิหาร พื้นที่วิหาร เตียง ตั่ง ฟูก หมอน หม้อโลหะ อ่างโลหะ กระถางโลหะ กระทะโลหะ มีด ขวาน ผึ่ง จอบ สว่าน เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้ามุงกระต่าย หญ้าปล้อง หญ้าสามัญ ดินเหนียว เครื่องไม้ เครื่องดิน (ใช้ของสงฆ์แสวงหาประโยชน์ส่วนตัว)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ 4 มีปรากฏอยู่ในโลก
(5) สเทวเก ภิกฺขเว โลเก สมารเก สพฺรหฺมเก สสฺสมณพฺราหฺมณิยา ปชาย สเทวมนุสฺสาย อยํ อคฺโค มหาโจโร โย อสนฺตํ อภูตํ อุตฺตริมนุสฺสธมฺมํ อุลฺลปติ ตํ กิสฺส เหตุ เถยฺยาย โว ภิกฺขเว รฏฺฐปิณฺโฑ ภุตฺโต.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตริมนุสธรรมอันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง (อวดคุณวิเศษต่างๆ)
นี้จัดเป็นยอดมหาโจรในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นฉันก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นด้วยอาการแห่งคนขโมย
ที่มา:
จตุตถปาราชิกสิกขาบท พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑
พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๒๓๐
ยกพระบาลีมาประกอบข้างต้นและตอนท้ายเล็กน้อยพอให้เห็นลีลาภาษา
คำแปลจากพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย ในที่นี้ปรับปรุงเล็กน้อย
…………..
ดูก่อนภราดา!
โจรกรรม : คือการปล้นคุณธรรมของตัวเอง
24-7-60