บาลีวันละคำ

ฉันทลักษณ์ (บาลีวันละคำ 2,320)

ฉันทลักษณ์

ไม่เหลือแอกไว้ให้ปลดอีกแล้ว

อ่านว่า ฉัน-ทะ-ลัก

ประกอบด้วยคำว่า ฉันท + ลักษณ์

(๑) “ฉันท

บาลีเป็น “ฉนฺท” (ฉัน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ฉนฺทฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + ปัจจัย

: ฉนฺทฺ + = ฉนฺท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความปรารถนา

(2) ฉทฺ (ธาตุ = ปิด, บัง, ระวัง) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น นฺ (ฉท > ฉํท > ฉนฺท)

: ฉทฺ + = ฉท > ฉํท > ฉนฺท (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “บทประพันธ์ที่ปกปิดโทษคือความไม่ไพเราะ

ฉนฺท” ในบาลีใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –

(1) สิ่งกระตุ้นใจ, แรงดลใจ, ความตื่นเต้น; ความตั้งใจ, การตกลงใจ, ความปรารถนา; ความอยาก, ความประสงค์, ความพอใจ (impulse, excitement; intention, resolution, will; desire for, wish for, delight in)

(2) ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้นๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย (consent, declaration of consent to an official act by an absentee) ความหมายนี้คือที่เราพูดว่า “มอบฉันทะ

(3) ฉันทลักษณ์, กฎเกณฑ์ว่าด้วยการแต่งฉันท์, ตำราฉันท์; บทร้อยกรอง (metre, metrics, prosody; poetry) ความหมายนี้คือที่ภาษาไทยพูดว่า “กาพย์กลอนโคลงฉันท์” บาลีไม่ได้เรียกแยกชนิดเหมือนไทย คงเรียกรวมทุกอย่างว่า “ฉนฺทฉันท์” แต่มีชื่อเฉพาะสำหรับฉันท์แต่ละชนิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “คาถา

(๒) “ลักษณ์

บาลีเป็น “ลกฺขณ” (ลัก-ขะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, แปลง เป็น

: ลกฺขฺ + ยุ > อน = ลกฺขน > ลกฺขณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาวะอันธรรมดากำหนดไว้อย่างนั้นนั่นเอง” (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย

ลกฺขณ” หมายถึง สัญลักษณ์, เครื่องหมาย, เครื่องหมายที่เด่นหรือลักษณะที่สำคัญ, คุณภาพ (sign, characteristic, mark, a distinguishing mark or salient feature, property, quality)

ลกฺขณ” ใช้ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ลักษณ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ลักษณ-, ลักษณะ : (คำนาม) สมบัติเฉพาะตัว เช่น น้ำมีลักษณะเป็นของเหลว ลูกบิลเลียดมีลักษณะกลม ลูกเต๋ามีลักษณะเหลี่ยม คนไทยมีลักษณะอ่อนโยน; ประเภท เช่น ใน ๓ ลักษณะ. (ส.; ป. ลกฺขณ).”

ฉันท + ลักษณ์ = ฉันทลักษณ์ แปลตามความว่า “ข้อกำหนดของการแต่งบทร้อยกรอง

ขยายความ :

ตำราภาษาไทยสมัยเก่ากำหนดเนื้อหาที่จะต้องศึกษาไว้ 4 ส่วน เรียกชื่อคล้องจองกัน คือ อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ และ ฉันทลักษณ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) อักขรวิธี : (คำนาม) วิธีเขียนและอ่านหนังสือให้ถูกต้อง, ชื่อตำราไวยากรณ์ตอนที่ว่าด้วยตัวอักษร การอ่าน การเขียน และการใช้ตัวอักษร. (ป.).

(2) วจีวิภาค : (คำนาม)  ชื่อตำราไวยากรณ์ตอนที่ว่าด้วยคำและหน้าที่ของคำ.

(3) วากยสัมพันธ์ : (คำนาม) ชื่อตําราไวยากรณ์ตอนที่แยกความออกเป็นประโยค ๆ และบอกความเกี่ยวข้องของคําในประโยค.

(4) ฉันทลักษณ์ : (คำนาม) ลักษณะแบบแผนคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง, ชื่อตำราไวยากรณ์ตอนที่ว่าด้วยลักษณะของคำประพันธ์.

ข้อควรรู้คือ “ฉันทลักษณ์” ในภาษาบาลีกำหนดด้วยคำหนักคำเบาที่เรียกว่า “ครุ-ลหุ” แต่ “ฉันทลักษณ์” ในภาษาไทยกำหนดด้วยเสียงสูง-ต่ำ และคำที่ “สัมผัส” กัน มีเฉพาะบทร้อยกรองประเภท “ฉันท์” ซึ่งเอารูปแบบมาจากบาลีสันสกฤตเท่านั้นที่เพิ่มข้อกำหนดว่าด้วยครุ-ลหุเข้าไปอีกส่วนหนึ่ง

ทุกวันนี้เด็กไทยไม่ได้ศึกษาภาษาไทยตามตำราภาษาไทยสมัยเก่าอีกแล้ว ผลก็คือเด็กรุ่นใหม่แต่งบทร้อยกรองไม่เป็นไปตามฉันทลักษณ์เพราะไม่ได้เรียนมา

ผลที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งก็คือ เกิดมีแนวคิดที่จะแต่งบทร้อยกรองโดยไม่ต้องมีฉันทลักษณ์ มีผู้เรียกแนวคิดชนิดนี้ว่า “ปลดแอกฉันทลักษณ์”

แนวคิดปลดแอกฉันทลักษณ์ซึ่งก็คือไม่ต้องเคารพกฎกติกาของบทร้อยกรองนี้เป็นที่นิยมชมชอบของคนรุ่นใหม่อยู่พักหนึ่ง ทุกวันนี้ก็ยังมีร่องรอยเหลืออยู่ดังจะสังเกตได้ว่า ในบทร้อยกรองของคนรุ่นใหม่ เสียงสูง-ต่ำ และคำสัมผัสจะไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนใดๆ ทั้งสิ้น

ซึ่งก็คือมีไม่มี “ฉันทลักษณ์” หลงเหลืออยู่อีกแล้วนั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ฉันทลักษณ์เป็นความงามของภาษา

: เคารพกฎกติกาเป็นความงามของสังคม

#บาลีวันละคำ (2,320)

19-10-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *