บาลีวันละคำ

มหาสมาคม (บาลีวันละคำ 567)

มหาสมาคม

อ่านว่า มะ-หา-สะ-มา-คม

ประกอบด้วย มหา + สมาคม

มหา” (คำเดิม “มหนฺต”) แปลว่า มาก, ใหญ่, ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต, สำคัญ, เป็นที่นับถือ

สมาคม” บาลีอ่านว่า สะ-มา-คะ-มะ รากศัพท์มาจาก สํ > สม (= พร้อมกัน, รวมกัน) + อา (= ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + คม (ธาตุ = ไป, ถึง)

: สํ > สม + อา + คม = สมาคม แปลตามศัพท์ว่า “มาพร้อมกัน” “มารวมกัน

(คม” แปลว่า “ไป” + อา (คำอุปสรรค “กลับความ”) จาก “ไป” กลายเป็น “มา”)

ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า สมาคม

มหา + สมาคม = มหาสมาคม แปลตามศัพท์ว่า “มาพร้อมกันอย่างมากมาย” “มารวมกันเป็นจำนวนมาก” = การมาชุมนุมกันอย่างยิ่งใหญ่ หรือพูดทับศัพท์ว่า มหาสมาคม

ในโอกาสพิเศษ เช่นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จออกมหาสมาคม อันประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการทหาร-พลเรือน ผู้มีตำแหน่งเฝ้าฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล

มหาสมาคม = การมาชุมนุมกันอย่างยิ่งใหญ่ มักเกิดขึ้นโดย 2 ลักษณะ คือ

1 คนหมู่มากชุมนุมกันปรารภถึงประโยชน์ของคนหมู่มากด้วยกัน เช่นมีความสนใจร่วมกัน หรือเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ร่วมกัน

2 คนหมู่มากชุมนุมกันปรารภถึงบุคลคนเดียว และบุคคลคนเดียวนั้นจะต้องเป็นผู้เกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับประโยชน์ของคนหมู่มาก

บุคคลคนเดียวผู้เกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับประโยชน์ของคนหมู่มากก็มี ๒ ประเภท คือ –

1 ผู้เกิดมาสร้างประโยชน์ให้แก่คนหมู่มากโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน

คนหมู่มากชุมนุมกันด้วยความชื่นชม ให้กำลังใจ เพราะความรัก

2 ผู้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และทำร้ายหรือทำลายประโยชน์ของคนหมู่มาก

คนหมู่มากชุมนุมกันด้วยความชิงชัง สาปแช่ง ขับไล่ เพราะความรังเกียจ

: คนเกิดมาสร้างประโยชน์ให้แก่คนหมู่มากโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน

: คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและทำลายประโยชน์ของคนหมู่มาก

จะเลือกข้างก็ได้ จะเป็นเองก็ดี

ตัวอย่างมีให้ดู

4-12-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย