บาลีวันละคำ

ขบถ – กบฏ (บาลีวันละคำ 571)

ขบถ – กบฏ

ภาษาบาลีว่าอย่างไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า

– “ขบถ (ขะ-บด) : ประทุษร้ายต่อทางอาณาจักร, ทรยศ; การประทุษร้ายต่อทางอาณาจักร, ความทรยศ; ผู้ประทุษร้ายต่อทางอาณาจักร, ผู้ทรยศ, กบฏ ก็ว่า”

– “กบฏ (กะ-บด) : ประทุษร้ายต่อทางอาณาจักร, ทรยศ; การประทุษร้ายต่อทางอาณาจักร, ความทรยศ; ผู้ประทุษร้ายต่อทางอาณาจักร, ผู้ทรยศ, ขบถ ก็ว่า; (ความหมายตามกฎหมาย) ชื่อความผิดอาญาฐานกระทําความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร โดย (1) ใช้กําลังประทุษร้าย (2) หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย(3) เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (4) หรือล้มล้างอํานาจนิติบัญญัติ อํานาจบริหาร หรืออํานาจตุลาการ (5) หรือแบ่งแยกราชอาณาจักร (6) หรือยึดอํานาจปกครองในส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งราชอาณาจักร เรียกว่า ความผิดฐานเป็นกบฏ”

พจนานุกรมไทย-อังกฤษ ของ สอ เสถบุตร แปลคำว่า “ขบถ” เป็นภาษาอังกฤษว่า rebellion

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล rebel เป็นบาลีว่า

ทามริก (ทา-มะ-ริ-กะ) = ผู้ก่อการร้าย (นักเรียนบาลีแปลศัพท์นี้ว่า “โจรมีชื่อกระฉ่อน”)

กุมนฺตก (กุ-มัน-ตะ-กะ) = ผู้คิดร้าย

ราชทุพฺภี (รา-ชะ-ทุบ-พี) = ผู้ประทุษร้ายแผ่นดิน

คำว่า “ทามริก” และ “ราชทุพฺภี” มีใช้ในคัมภีร์ แต่ “กุมนฺตก” ยังไม่พบว่ามีใช้ในคัมภีร์

พจน.42 บอกไว้ว่า ภาษาสันสกฤตมีคำว่า “กปฏ” แปลว่า ความคด, ความโกง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า “กปฏ” (กะ-ปะ-ตะ) = มายา, ความโกง, การล่อลวงหรือตลบตะแลง

พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด ศัพท์วิเคราะห์ ของพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) มีคำว่า “กปฏ” (กะ-ปะ-ตะ) ประกอบศัพท์ขึ้นจาก กุ (= น่าเกลียด) + ปฏ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) แปลง กุ เป็น กา รัสสะ อา เป็น

: กุ > กา > + ปฏ = กปฏ แปลตามรากศัพท์ว่า “ภาวะที่เป็นไปด้วยอาการอันน่าเกลียด คือไม่ตรง” หมายถึง กบฏ, ขบถ, ความคดโกง.

(ดูเทียบเคียง “กบฏ – ขบถ” บาลีวันละคำ (354) 1-5-56)

สรุปว่า “กบฏ” น่าจะมาจากสันสกฤตว่า “กปฏ” ไทยเราเอามาเขียนอีกรูปหนึ่งว่า “ขบถ

โปรดสังเกต : ถุง สะกด, ปฏัก สะกด

ใครคือกบฏ :

– ภาวะที่เป็นไปด้วยอาการอันน่าเกลียด คือไม่ตรง หนึ่ง

– ความคดโกง หนึ่ง

– การล่อลวงหรือตลบตะแลง หนึ่ง

ผู้ใดมีลักษณะดังนี้ ผู้นั้นคือ กบฏ

8-12-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย