บาลีวันละคำ

บริษัทไม่บริสุทธิ์ (บาลีวันละคำ 4,003)

บริษัทไม่บริสุทธิ์

ไม่ต้องบอกคำอ่านก็คงอ่านถูกโดยทั่วกัน 

บริษัทไม่บริสุทธิ์” แปลมาจากคำบาลีว่า “อปริสุทฺธา  ปริสา” อ่านว่า อะ-ปะ-ริ-สุด-ทา ปะ-ริ-สา

(๑) “บริษัท

บาลีเป็น “ปริสา” อ่านว่า ปะ-ริ-สา รากศัพท์มาจาก –

(1) ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + สิทฺ (ธาตุ = ปล่อย) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์, ลบ อิ และ ที่ สิทฺ (สิทฺ > )

: ปริ + สิทฺ = ปริสิทฺ + = ปริสิท > ปริส + อา = ปริสา แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ที่มาโดยรอบ”

(2) ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + สิ (ธาตุ = คบหา) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์, ลบ อิ ที่ สิ (สิ > )

: ปริ + สิ = ปริสิ > ปริส + = ปริส + อา = ปริสา แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่พบปะกันโดยรอบ

ปริสา” ในบาลีใช้ในความหมายว่า คนที่แวดล้อมอยู่, กลุ่มหรือหมู่ชน, ประชาชน, ชุมนุม, กลุ่มชน, พวกพ้อง, คณะหรือหมู่เหล่า, สมัชชา, สมาคม, ฝูงชน (surrounding people, group, collection, company, assembly, association, multitude)

บาลี “ปริสา” สันสกฤตเป็น “ปริษทฺ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปริษทฺ : (คำนาม) ‘บริษัท,’ สภา, ที่ประชุม ( = บันดาผู้ที่มาประชุม); an assembly, an audience or congregation, meeting.”

ปริสา > ปริษทฺ ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “บริษัท” (บอ-ริ-สัด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บริษัท : (คำนาม) หมู่, คณะ, เช่น พุทธบริษัท, ที่ประชุม เช่น จะพูดอย่างไรต้องดูบริษัทเสียก่อน; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) รูปแบบการดำเนินกิจการธุรกิจเพื่อหากำไร ที่จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคล โดยแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน มีผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ บริษัทมี ๒ ประเภท คือ บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด. (ส. ปริษทฺ; ป. ปริสา).”

(๒) “บริสุทธิ์

หลักภาษาที่ควรทราบ :

ในภาษาบาลี “ปริสุทฺธิ” (ปะ-ริ-สุด-ทิ) เป็นคำนาม แปลว่า “ความบริสุทธิ์” ใช้ในภาษาไทยว่า “บริสุทธิ์

ปริสุทฺธ” (ปะ-ริ-สุด-ทะ) เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า “ผู้บริสุทธิ์” ถ้าเขียนในภาษาไทยก็จะเป็น “บริสุทธ” ( ไม่มีสระ อิ) แต่เราไม่ได้เอารูปคำนี้มาใช้ เมื่อหมายถึงบุคคล เราใช้ว่า “ผู้บริสุทธิ์” ไม่ใช้ว่า “ผู้บริสุท

(1) “ปริสุทฺธิ” (ปะ-ริ-สุด-ทิ) ประกอบด้วย ปริ + สุทฺธิ

ปริ” (ปะ-ริ) เป็นคำอุปสรรค แปลว่า รอบ, เวียนรอบ, ทั่วไป, เต็มไปหมด, รวมหมด

สุทฺธิ” (สุด-ทิ) รากศัพท์มาจาก สุธฺ (ธาตุ = สะอาด) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น ทฺธิ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ

: สุธฺ > สุ + ติ > ทฺธิ = สุทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “ความสะอาด” 

ปริ + สุทฺธิ = ปริสุทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะเป็นเหตุหมดจดรอบด้านจากมลทินมีราคะเป็นต้นแห่งสัตว์โลก” หมายถึง ความบริสุทธิ์, การทำให้บริสุทธิ์, ความแท้จริง, คุณลักษณะที่เชื่อได้แน่นอน (purity, purification, genuineness, sterling quality)

(2) “ปริสุทฺธ” (ปะ-ริ-สุด-ทะ) ประกอบด้วย ปริ + สุทฺธ

ปริ” (เหมือนคำต้น) 

สุทฺธ” (สุด-ทะ) รากศัพท์มาจาก สุธฺ (ธาตุ = สะอาด) + ปัจจัย, แปลง เป็น ทฺธ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ, อีกนัยหนึ่งว่า แปลง กับ ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺธ 

: สุธฺ > สุ + > ทฺธ = สุทฺธ 

: สุธฺ + = สุธต (> + = ทฺธ) > สุทฺธ 

ปริ + สุทฺธ = ปริสุทฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้หมดจดรอบด้านจากมลทินมีราคะเป็นต้น” หมายถึง ผู้สะอาดรอบตัว, ผู้บริสุทธิ์, ผู้สมบูรณ์พร้อม (clean, clear, pure, perfect)

(ไม่, ไม่ใช่) + ปริสุทฺธ แปลง เป็น

: + ปริสุทฺธ = นปริสุทฺธ > อปริสุทฺธ (อะ-ปะ-ริ-สุด-ทะ) แปลว่า “ผู้ไม่บริสุทธิ์” “ผู้ไม่สะอาด

อปริสุทฺธ” ใช้เป็นคำขยาย (วิเสสนะ) ของ “ปริสา” ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์ จึงเปลี่ยนรูปเป็น “อปริสุทฺธา

อปริสุทฺธา  ปริสา = บริษัทไม่บริสุทธิ์ 

ข้อสังเกต :

คำว่า “บริสุทธิ์” ในคำว่า “บริษัทไม่บริสุทธิ์” นี้ ภาษาไทยสะกดเป็น “-สุทธิ์” ตรงกับบาลีว่า “สุทฺธิ” ซึ่งเป็นคำนาม แต่ข้อเท็จจริง คำว่า “บริสุทธิ์” ในที่นี้เป็นคุณศัพท์ ตรงกับบาลีว่า “สุทฺธ” (- ไม่ใช่ –ธิ) ถ้าเขียนให้ตรงตามบาลีต้องสะกดเป็น “บริษัทไม่บริสุทธ” 

แต่ในภาษาไทยนิยมเขียนอย่างไรก็เขียนไปตามนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เพียงแต่รับรู้ไว้ว่าหลักในภาษาบาลีเป็นอย่างไร เท่านี้พอ

อภิปรายขยายความ :

คำว่า “บริษัทไม่บริสุทธิ์” มีที่มาจากพระวินัยปิฎก ขอยกเรื่องมาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อเป็นความรู้ โดยพยายามคงสำนวนบาลีไว้ ขอให้มีอุตสาหะในการอ่านเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับสำนวนภาษา

…………..

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ปราสาทของมิคารมารดาในบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี วันนั้นเป็นวันอุโบสถ 15 ค่ำ 

พระผู้มีพระภาคเจ้ามีภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับนั่งอยู่ เมื่อล่วงเข้าราตรีปฐมยามผ่านไปแล้ว จึงท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะ ห่มผ้าเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ล่วงเข้าราตรีปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิดพระพุทธเจ้าข้า

เมื่อพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนิ่งเสีย

เมื่อมัชฌิมยามผ่านไป ท่านพระอานนท์ก็กราบทูลเป็นครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงนิ่งเสีย

เมื่อปัจฉิมยามผ่านไป ท่านพระอานนท์กราบทูลเป็นครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ บริษัทไม่บริสุทธิ์

ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บริษัทไม่บริสุทธิ์ ทรงหมายถึงบุคคลไรหนอ

ครั้นแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะมนสิการกำหนดจิตภิกษุสงฆ์ทั้งหมดด้วยจิต ได้เห็นบุคคลผู้ทุศีล เลวทราม มีความพระพฤติไม่สะอาดน่ารังเกียจ ปิดบังการกระทำ ไม่ใช่สมณะปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่พรหมจารีปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน โชกชุ่มด้วยกิเลส สกปรกเหมือนขยะนั้น นั่งอยู่ ณ ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ จึงเข้าไปหาบุคคลนั้นบอกว่า ลุกขึ้นเถิดท่าน พระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีสังวาสกับภิกษุทั้งหลาย 

ท่านพระมหาโมคคัลลานะบอกอย่างนี้ถึง 3 ครั้ง บุคคลนั้นก็ยังนิ่งเฉย ท่านจึงจับที่แขนลากออกไปนอกซุ้มประตู ใส่กลอน แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า บุคคลนั้นข้าพระองค์ให้ออกไปแล้ว บริษัทบริสุทธิ์แล้ว ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีเลยโมคคัลลานะ เธอถึงกับต้องจับแขนโมฆบุรุษนั้นจึงยอมออกไปได้.

ที่มา: ปาติโมกขฐปนขันธกะ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค 2 

พระไตรปิฎกเล่ม 7 ข้อ 447-448

…………..

คำศัพท์ที่หมายถึงผู้ทำให้บริษัทไม่บริสุทธิ์ –

(1) ทุสฺสีโล = ผู้ทุศีล

(2) ปาปธมฺโม = เลวทราม

(3) อสุจิสงฺกสฺสรสมาจาโร = มีความพระพฤติไม่สะอาดน่ารังเกียจ

(4) ปฏิจฺฉนฺนกมฺมนฺโต = ปิดบังการกระทำ

(5) อสฺสมโณ  สมณปฏิญฺโญ = ไม่ใช่สมณะปฏิญาณว่าเป็นสมณะ

(6) อพฺรหฺมจารี  พฺรหฺมจาริปฏิญฺโญ = มิใช่พรหมจารีปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี

(7) อนฺโตปูติ = เน่าภายใน

(8 ) อวสฺสุโต = โชกชุ่มด้วยกิเลส

(9) กสมฺพุกชาโต = สกปรกเหมือนขยะ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่มีผู้มีฤทธิ์เหมือนพระมหาโมคคัลลานะ

: สังคมที่มีคนขยะจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร

#บาลีวันละคำ (4,003)

29-5-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *