ไชโย (บาลีวันละคำ 4,005)
ไชโย
ไชโยโห่หิ้วกันมาตั้งแต่สมัยไหน
อ่านแบบไทยๆ ว่า ไช-โย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่คำว่า “ไชโย” บอกไว้ว่า –
“ไชโย : (คำอุทาน) คําที่เปล่งออกมาแสดงความดีใจหรืออํานวยพรเป็นต้น.”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “ไชโย” มาจากภาษาอะไร
ถ้าลากเข้าบาลี และเทียบกับคำอื่น “ไช-” ก็มาจาก “เชยฺ-”
คำเทียบ เช่น “ไวยาวัจมัย” คำบาลีว่า “เวยฺยาวจฺจมย”
“ไชโย” ก็ควรมาจากคำบาลีว่า “เชยฺโย”
อธิบายตามที่ตาเห็นว่า คำบาลี “เชยฺโย” รูปคำเดิมเป็น “เชยฺย” อ่านว่า เชย-ยะ (เชย- ไม่ใช่ออกเสียงเหมือนคำไทยว่า ชมเชย แต่ออกเสียงเหมือนมีไม้ใต่คู้กำกับอยู่ด้วย = เช็ย) เป็นคำกริยา รากศัพท์มาจาก ชิ (ธาตุ = ชนะ) + เอยฺย วิภัตติอาขยาต (ประธานในประโยคเป็นผู้ที่ถูกพูดถึง เทียบคำอังกฤษคือ he she it), แปลง อิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย แล้วลบ ย (ชิ > เช > ชย > ช) หรือจะว่าลบ อิ ก็ได้ (ชิ > ช)
: ชิ > เช > ชย > ช + เอยฺย = เชยฺย แปลว่า “(เขา) พึงชนะ”
ปกติกริยาคำนี้จะมี วิ (คำอุปสรรค) นำหน้า เป็น “วิเชยฺย”
ที่อธิบายนี้เป็นการบอกรากศัพท์คำว่า “เชยฺย” ที่สมมุติว่าเปลี่ยนรูปเป็น “เชยฺโย” แล้วกลายมาเป็นคำไทยว่า “ไชโย”
แต่พึงทราบว่า คำกริยา “เชยฺย” ในบาลี คงรูปเป็น “เชยฺย” เสมอ ไม่มีการแจกวิภัตตินามเป็น “เชยฺโย” เพราะฉะนั้น คำไทย “ไชโย” จึงไม่สามารถจะมาจาก “เชยฺย” ได้
ถ้าเช่นนั้น “ไชโย” อาจจะมาจากคำอะไรได้อีก
ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่า “ไชโย” มาจากคำว่า “ชโย” ในบาลี
“ชโย” รูปคำเดิมเป็น “ชย” อ่านว่า ชะ-ยะ รากศัพท์มาจาก ชิ (ธาตุ = ชนะ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ ชิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (ชิ > เช > ชย)
: ชิ + ณ = ชิณ > ชิ > เช > ชย แปลตามศัพท์ว่า “การชนะ” หมายถึง การปราบ, การพิชิต, ชัยชนะ (vanquishing, overcoming, victory)
“ชย” ในภาษาไทยใช้เป็น “ชัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชัย, ชัย– : (คำนาม) การชนะ, ความชนะ. (ป., ส.).”
“ชย” ในบาลีเป็นปุงลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “ชโย”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชโย : (คำนาม) ความชนะ. (คําเดียวกับ ชัย). (คำอุทาน) คําที่เปล่งเสียงอวยชัยให้พรหรือแสดงความดีใจเมื่อได้รับชัยชนะเป็นต้น.”
“ชโย” นั่นเองออกเสียงเพี้ยนเป็น ไช-โย แล้วเลยเขียนเป็น “ไชโย” มีความหมายดังที่ยกพจนานุกรมฯ มาให้ดูข้างต้น
อภิปรายขยายความ :
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เห็นท่านผู้รู้บอกว่า “คำว่า ‘ไชโย’ เพิ่งมีขึ้นในรัชกาลที่หก รัชกาลก่อนหน้านั้นหามีไม่” ดังนี้ ก็เกิดความอยากรู้ว่า ในภาษาไทย คำว่า ‘ไชโย’ มีปรากฏอยู่ในที่ไหนบ้างหรือไม่
ที่นึกขึ้นได้ทันทีก็คือ “อำเภอไชโย”
ข้อมูลจากอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน บอกไว้ว่า คำว่า “ไชโย” ในภูมิศาสตร์ไทย เป็นชื่ออำเภอ ชื่อตำบล และชื่อคลอง มีรายละเอียดดังนี้ –
…………..
๑ อำเภอไชโย
อำเภอไชโย ขึ้น จ.อ่างทอง ตั้งเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑
อ.ไชโย มี ๙ ตำบล คือ ๑. จระเข้ร้อง ๒. ชะไว ๓. ชัยฤทธิ์ ๔. ไชยภูมิ ๕. ไชโย ๖. ตรีณรงค์ ๗. เทวราช ๘. ราชสถิตย์ ๙. หลักฟ้า
อ.ไชโย มีวัดสำคัญชื่อ วัดไชโยวรวิหาร ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง ๑๖.๑๐ ม. เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๔
๒ ตำบลไชโย
ตำบลไชโย ขึ้น อ.ไชโย จ.อ่างทอง
๓ คลองไชโย
คลองไชโย เชื่อมระหว่างแม่น้ำน้อยกับแม่น้ำเจ้าพระยา แยกจากแม่น้ำน้อยที่บ้านบางระกำ ต.บางระกำ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ไหลไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่บ้านไชโย ต.ไชโย อ.ไชโย ยาว ๓ กม.
…………..
ตามข้อมูลจากอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย อำเภอไชโยตั้งเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2441 อันเป็นสมัยรัชกาลที่ห้า และถ้าหากว่าเมื่อตั้งเป็นอำเภอก็ชื่อ “อำเภอไชโย” มาตั้งแต่แรก ก็แปลว่าคำว่า “ไชโย” มีมาแล้วตั้งแต่รัชกาลที่ห้า
นอกจากนั้น ข้อมูลจากอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทยยังบอกว่า –
“อ.ไชโย มีวัดสำคัญชื่อ วัดไชโยวรวิหาร ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง ๑๖.๑๐ ม. เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๔”
ก็แปลว่า “วัดไชโย” มีมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สี่ แต่สมัยนั้นจะชื่อวัดอะไรไม่ได้บอกไว้ แต่คำที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดเกษไชโย” ก็มีคำว่า “ไชโย” อยู่ด้วย น่าเชื่อว่าคำว่า “ไชโย” มีมาแล้วตั้งแต่รัชกาลที่สี่และอาจจะก่อนหน้านั้นขึ้นไปอีกด้วย
ผู้เขียนบาลีวันละคำปรารถนาจะเข้าใจว่า ที่ผู้รู้ท่านว่า “คำว่า ‘ไชโย’ เพิ่งมีขึ้นในรัชกาลที่หก” นั้น น่าจะหมายถึงคำว่า “ไชโย” ที่เราเอามาใช้เป็น “คําที่เปล่งเสียงอวยชัยให้พรหรือแสดงความดีใจเมื่อได้รับชัยชนะเป็นต้น”
ขยายความว่า คำว่า “ไชโย” มีมานานแล้วก็จริง แต่ใช้ในความหมายตามปกติของรูปคำในบาลี ส่วนคำว่า “ไชโย”ที่เราเอามาใช้เป็น “คําที่เปล่งเสียงอวยชัยให้พรหรือแสดงความดีใจเมื่อได้รับชัยชนะเป็นต้น” นั้น เพิ่งใช้กันในรัชกาลที่หก ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยใช้ในความหมายเช่นนี้
ควรมิควรแล้วแต่จะพิจารณากันเทอญ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนเขลา มุ่งแต่เอาชนะคน
: บัณฑิต มุ่งชนะจิตของตน
#บาลีวันละคำ (4,005)
31-5-66
…………………………….
…………………………….