บาลีวันละคำ

ปฤษฎางค์ (บาลีวันละคำ 4,006)

ปฤษฎางค์

เหมือนคำที่แอบอยู่ข้างหลัง

อ่านว่า ปฺริด-สะ-ดาง

ปฤษฎางค์” เป็นรูปคำสันสกฤต เทียบคำบาลีเป็น “ปิฏฺฐงฺค” อ่านว่า ปิด-ถัง-คะ แยกศัพท์เป็น ปิฏฺฐ + องฺค

(๑) “ปิฏฺฐ

อ่านว่า ปิด-ถะ รากศัพท์มาจาก ปิฏฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, แปลง เป็น  

: ปิฏฺ + = ปิฏฺต > ปิฏฺฐ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะที่เบียดเบียน” (คือปวดเมื่อยร่ำไป) (2) “อวัยวะที่เบียดเบียนทุกข์ที่ไม่เท่ากัน” (คือปวดมากบ้างน้อยบ้าง นานบ้างไม่นานบ้าง)

อนึ่ง ศัพท์นี้ ลง ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น ฐิ ได้รูปเป็น “ปิฏฺฐิ” (อิตถีลิงค์) ก็มี 

ปิฏฺฐ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) หลัง (the back)

(2) ยอด, ข้างบน (top, upper side)

บาลี “ปิฏฺฐ” สันสกฤตเป็น “ปฤษฺฐ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฤษฺฐ : (คำนาม) หลัง, ปฤษฐดล, ปฤษฐภาคของสิ่งทั่วไป; the back, the rear, the hinder part of anything, the surface, the superficies.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ปฤษฎ์” (ปฺริด) “ปฤษฐ” (ปฺริด-สะ-ถะ) และ “ปิฐิ” (ปิด-ถิ) บอกไว้ดังนี้ – 

(1) ปฤษฎ์ : (คำนาม) หลัง, เบื้องหลัง. (ส. ปฺฤษฺฐ; ป. ปิฏฺฐ).

(2) ปฤษฐ : (คำนาม) หลัง, เบื้องหลัง; พื้นบน; ยอด. (ส.; ป. ปิฏฺฐ).

(3) ปิฐิ : (คำแบบ) (คำนาม) หลัง, เบื้องหลัง; พื้นบน; ยอด. (ป. ปิฏฺฐิ; ส. ปฤษฺฐ).

(๒) “องฺค

อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + (อะ) ปัจจัย

: องฺคฺ + = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย

องฺค” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)

(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)

(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)

ปิฏฺฐ + องฺค = ปิฏฺฐงฺค (ปิด-ถัง-คะ) แปลว่า “ส่วนข้างหลัง” “อวัยวะด้านหลัง

ปิฏฺฐงฺค” แปลงรูปอิงสันสกฤตเป็น “ปฤษฎางฺค” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปฤษฎางค์” อ่านว่า ปฺริด-สะ-ดาง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า – 

ปฤษฎางค์ : (คำนาม)  อวัยวะเบื้องหลัง, ส่วนหลัง, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระปฤษฎางค์, พระขนอง ก็ว่า.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ – 

ปฤษฎางค์ : (คำนาม)  ส่วนหลังของร่างกาย, เบื้องหลังร่างกาย, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระปฤษฎางค์.”

ข้อสังเกต :

พจนานุกรมฯ 2542 บอกว่า “ปฤษฎางค์” ราชาศัพท์ใช้ว่า พระปฤษฎางค์ และ พระขนอง

พจนานุกรมฯ 2554 บอกว่า “ปฤษฎางค์” “ราชาศัพท์ใช้ว่า พระปฤษฎางค์ ไม่มี พระขนอง ก็คือ ไม่ใช้ว่า พระขนอง อีกแล้วนั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่มีผู้ตาม

: จะมีผู้นำได้อย่างไร

#บาลีวันละคำ (4,006)

1-6-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *