บาลีวันละคำ

วิสาข และคำที่แตกออกไป (บาลีวันละคำ 4,008)

วิสาข และคำที่แตกออกไป

ทบทวนความรู้เป็นพุทธบูชา

คนไทยคุ้นกับคำว่า “วิสาขบูชา” แต่อาจจะไม่เคยรู้ถึงรากศัพท์ รวมทั้งไม่เคยรู้ถึงคำอื่นๆ ที่แตกออกไปจาก “วิสาข” หรือ “วิสาขบูชา

บาลีวันละคำวันนี้ขอเป็นสื่อนำความรู้มาบอกกล่าวสู่กันฟัง

คำที่เป็นหลักคือ “วิสาข” อ่านว่า วิ-สา-ขะ ศัพท์เดิมเป็น “วิสาขา” (วิ-สา-ขา) แต่ที่เป็น “วิสาข” ก็มี รากศัพท์มาจาก –

(1) วิส (อ่านว่า วิ-สะ ตัดมาจาก “วิสทิส” = แตกต่างกัน) + ขณฺ (ธาตุ = ทำลาย) + ปัจจัย, ทีฆะ อะ ที่ (วิ)- เป็น อา (วิส > วิสา), ลบ ณฺ ที่สุดธาตุและ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วิส + ขณฺ = วิสขณ + = วิสขณณ > วิสขณ > วิสข > วิสาข + อา = วิสาขา แปลตามศัพท์ว่า “กลุ่มดาวที่จำแนกผลให้แตกต่างกัน

(2) วิ (ตัดมาจาก “วิวิธ” = หลากหลาย) + สขา (เพื่อน), ทีฆะ อะ ที่ –-(ขา) เป็น อา (สขา > สาขา)

: วิ + สขา = วิสขา > วิสาขา แปลตามศัพท์ว่า “กลุ่มดาวที่มีเพื่อนมาก” (คือมีหลายดวงรวมกันเป็นกลุ่ม)

วิสาขา” เป็นชื่อของดาวฤกษ์ (นกฺขตฺต – a lunar mansion) คือกลุ่มดาววิสาขา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “วิศาข” และ “ไวศาข” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ) 

(1) วิศาข : (คำวิเศษณ์) ไม่มีศาขา; branchless. 

(2) วิศาข : (คำนาม) การติเกย; ท่ายิง (ยืนเท้าห่างกันหนึ่งคืบ); ยาจก, ผู้ขอทาน; เดือย, ระนัยปั่นฝ้าย, เครื่องตีเกลียวป่าน; นักษัตรหมู่ที่สิบหก; Kartikeya; shooting-posture, an attitude in shooting (standing with the feet a span apart); a beggar; a spindle; the sixteenth lunar asterism.

(3) ไวศาข : (คำนาม) เดือนในซึ่งจันทร์แจ่มเต็มดวงใกล้หมู่ดาววิศาขา; the month in which the moon is full near the southern scale or the constellation Viśākhā

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำที่แตกออกไปจาก “วิสาข” หรือ “วิสาขา” หลายคำ ขอยกมาเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้ –

(1) วิศาข-, วิศาขะ, วิศาขา ๑ : (คำนาม) ชื่อเดือนที่ ๖ แห่งจันทรคติ ตกราวเดือนพฤษภาคม, ถ้าในปีอธิกมาสจะตกราวเดือนมิถุนายน. (ส.; ป. วิสาข, วิสาขา).

(2) วิสาข-, วิสาขะ ๒, วิสาขา : (คำนาม) ชื่อเดือนที่ ๖ แห่งจันทรคติ ตกราวเดือนพฤษภาคม, ถ้าในปีอธิกมาสจะตกราวเดือนมิถุนายน. (ป.).

(3) วิสาขบูชา : (คำนาม) การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งเป็นวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า, โบราณใช้ว่า วิศาขบูชา ก็มี. (ป.).

(4) ไพศาข-, ไพศาขะ : (คำนาม) เดือน ๖; ชื่อดาวฤกษ์ที่ ๑๖ ของดาวฤกษ์ ๒๗. (ป. วิสาข; ส. ไวศาข).

(5) ไพศาขบุรณมี : (คำนาม) วันเพ็ญเดือน ๖. (ส.; ป. วิสาขปุณฺณมี).

(6) ไพศาขมาส : (คำนาม) เดือนอันมีพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์วิศาขะ คือ เดือน ๖ ตกในราวเดือนพฤษภาคม. (ส.; ป. วิสาขมาส).

…………..

ในคัมภีร์บาลี ชื่อเดือนวิสาขะมีทั้ง “วิสาข” และ “เวสาข” 

วิสาข” เขียนเป็นอักษรโรมันว่า Visākha 

เวสาข” เขียนเป็นอักษรโรมันว่า Vesākha 

ส่วนคำที่นานาชาติหมายถึงวันวิสาขบูชาและอ้างว่าเป็นคำสากล เขียนเป็นอักษรฝรั่งสะกดอย่างไร เหมือนหรือต่างจากคำบาลี โปรดศึกษาหาความรู้กันต่อไปเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผ่านวิสาขบูชากันมาคนละหลายปี

: หลายคนยังคงทำความดีเพียงแค่เวียนเทียน

#บาลีวันละคำ (4,008)

3-6-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *