โอภาส (บาลีวันละคำ 4,016)
โอภาส
ความหมายมีมากกว่าที่คิด
อ่านว่า โอ-พาด
“โอภาส” บาลีอ่านว่า โอ-พา-สะ รากศัพท์มาจาก โอ (คำอุปสรรค = ลง) + ภาสฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (อะ) ปัจจัย
: โอ + ภาสฺ = โอภาสฺ + อ = โอภาส แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่รุ่งเรือง” หมายถึง ประกาย, แสงสว่าง, ความรุ่งโรจน์, ความโชติช่วง; ความปรากฏ (shine, splendour, light, lustre, effulgence; appearance)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โอภาส : (คำนาม) แสงสว่าง; ความสุกใส, ความเปล่งปลั่ง. (คำกริยา) ส่องแสง. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “โอภาส” อธิบายไว้ดังนี้ –
…………..
โอภาส :
1. แสงสว่าง, แสงสุกใส ผุดผ่อง (ข้อ ๑ ในวิปัสสนูปกิเลส ๑๐)
2. การพูดหรือแสดงออกที่เป็นเชิงเปิดช่องทางหรือให้โอกาส เช่นที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำโอภาส ณ ที่ต่างๆ หลายแห่ง ซึ่งถ้าพระอานนท์เข้าใจ ก็จะทูลขอให้ทรงดำรงพระชนม์อยู่ตลอด[อายุ]กัป
…………..
ขยายความ :
“โอภาส” เป็น 1 ในวิปัสสนูปกิเลส
วิปัสสนูปกิเลสคืออะไร?
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความ “วิปัสสนูปกิเลส” ไว้ดังนี้ –
…………..
วิปัสสนูปกิเลส : อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา, สภาวะที่ทำให้วิปัสสนามัวหมองข้องขัด, สภาพน่าชื่นชม ซึ่งเกิดแก่ผู้เจริญวิปัสสนาในขั้นที่เป็นวิปัสสนาอย่างอ่อน (ตรุณวิปัสสนา) แต่กลายเป็นโทษเครื่องเศร้าหมองแห่งวิปัสสนา โดยทำให้เข้าใจผิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้ว จึงชะงักหยุดเสีย ไม่ดำเนินก้าวหน้าต่อไปในวิปัสสนาญาณ
…………..
วิปัสสนูปกิเลส 10 คืออะไรบ้าง?
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [328] แสดงรายละเอียดไว้ดังนี้ –
…………..
วิปัสสนูปกิเลส 10 (อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา, ธรรมารมณ์ที่เกิดแก่ผู้ได้ตรุณวิปัสสนา หรือวิปัสสนาอ่อนๆ ทำให้เข้าใจผิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้ว เป็นเหตุขัดขวางให้ไม่ก้าวหน้าต่อไปในวิปัสสนาญาณ — Vipassanūpakilesa: imperfections or defilements of insight)
1. โอภาส (แสงสว่าง — Obhāsa: illumination; luminous aura)
2. ญาณ (ความหยั่งรู้ — Ñāṇa: knowledge)
3. ปีติ (ความอิ่มใจ — Pīti: rapture; unprecedented joy)
4. ปัสสัทธิ (ความสงบเย็น — Passaddhi: tranquillity)
5. สุข (ความสุขสบายใจ — Sukha: bliss; pleasure)
6. อธิโมกข์ (ความน้อมใจเชื่อ, ศรัทธาแก่กล้า, ความปลงใจ — Adhimokkha: fervour; assurance; resolution)
7. ปัคคาหะ (ความเพียรที่พอดี — Paggāha: exertion; well-exerted energy)
8. อุปัฏฐาน (สติแก่กล้า, สติชัด — Upaṭṭhāna: established mindfulness)
9. อุเบกขา (ความมีจิตเป็นกลาง — Upekkhā: equanimity)
10. นิกันติ (ความพอใจ, ติดใจ — Nikanti: delight)
…………..
พระพุทธเจ้าทรงกระทำ “โอภาส” ณ ที่ต่างๆ หลายแห่ง เพื่อเปิดโอกาสให้พระอานนท์ทูลขอให้ทรงดำรงพระชนม์อยู่ตลอดอายุกัป (คือ 100 ปี) สถานที่เหล่านั้นคือที่ไหนบ้าง?
สถานที่ซึ่งทรงกระทำ “โอภาส” ตามที่แสดงไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ปรากฏว่าอยู่เขตเมืองเวสาลีทั้งหมด มีดังนี้ –
(1) เมืองเวสาลี นครหลวงของแคว้นวัชชี
(2) อุเทนเจดีย์ อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเวสาลี
(3) โคตมกเจดีย์ อยู่ทางทิศใต้ของเมืองเวสาลี
(4) สัตตัมพเจดีย์ อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองเวสาลี
(5) พหุปุตตเจดีย์ อยู่ทางทิศเหนือของเมืองเวสาลี
(6) สารันททเจดีย์ อยู่ในเขตเมืองเวสาลี
(7) ปาวาลเจดีย์ อยู่ในเขตเมืองเวสาลี ทรงกระทำโอภาสเป็นครั้งสุดท้ายที่นี่
…………..
ดูก่อนภราดา!
: แสงสว่างช่วยส่องทางได้
: แต่ช่วยเดินทางให้ไม่ได้
#บาลีวันละคำ (4,016)
11-6-66
…………………………….
…………………………….