บาลีวันละคำ

เกียรติบัตร (บาลีวันละคำ 4,017)

เกียรติบัตร

มี “บัตร” ไม่ต้องมี “ใบ”

อ่านว่า เกียด-ติ-บัด

ประกอบด้วยคำว่า เกียรติ + บัตร

(๑) “เกียรติ” 

บาลีเป็น “กิตฺติ” อ่านว่า กิด-ติ รากศัพท์มาจาก กิตฺตฺ (ธาตุ = กล่าวถึง, พูดด้วยดี) + อิ ปัจจัย

: กิตฺต + อิ = กิตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความดีอันเขากล่าวถึง” หมายถึง คําเล่าลือ, คําสรรเสริญ, ชื่อเสียง, ความรุ่งโรจน์, เกียรติยศ (fame, renown, glory, honour)

บาลี “กิตฺติ” สันสกฤตเป็น “กีรฺติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “กีรฺตฺติ” และ “กีรฺติ” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

กีรฺตฺติ, กีรฺติ : (คำนาม) เกียรติ, ความบันลือ, ศรี (ยศสฺหรือสง่า), อนุเคราะห์, อนุกูลย์; ธันยวาท; ศัพท์, เสียง; อาภา, โศภา; โคลน, สิ่งโสโครก; ความซ่านทั่ว; มูรติทิพยศักดิ์ของพระกฤษณ; fame, renown, glory; favour; approbation; sound; light, lustre; mud, dirt; diffusion, expansion; one of the Mātrikās or personified divine energies of Krishṇa.”

บาลี “กิตฺติ” สันสกฤต “กีรฺติ” ภาษาไทยแผลงเป็น “เกียรติ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เกียรติ, เกียรติ-, เกียรติ์ : (คำนาม) ชื่อเสียง, ความยกย่องนับถือ, ความมีหน้ามีตา. (ส. กีรฺติ; ป. กิตฺติ ว่า คำเล่าลือ, คำสรรเสริญ).”

(๒) “บัตร” 

บาลีเป็น “ปตฺต” อ่านว่า ปัด-ตะ รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย

: ปตฺ + = ปตฺต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน” 

ปตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ปีกนก, ขนนก (the wing of a bird, a feather)

(2) ใบไม้ (a leaf)

(3) แผ่นโลหะบางๆ เล็กๆ ที่พิณ (a small thin strip of metal at the lute)

บาลี “ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปตฺร : (คำนาม) ‘บัตร์’ ใบ, แผ่น; ยานทั่วไป; หางนก; ภู่ศร, ภู่หรือขนนกอันท่านติดไว้ที่ลูกศรหรือลูกดอก; ใบนารล, ‘นารลบัตร์’ ก็เรียก; ใบหนังสือ; ทองใบ; ฯลฯ ; ธาตุทั่วไปอันแผ่แล้วเปนแผ่นบาง; จดหมาย; ลายลักษณ์อักษรทั่วไป; a leaf; a vehicle in general; the wing of a bird; the feather of an arrow; the leaf of the Laurus cassia; the leaf of a book, goldleaf &c.; any thin sheet or plate of metal; a letter; any written document.”

เดิมเราขีดเขียนอักษรลงบนใบไม้เพื่อใช้ส่งสารติดต่อถึงกัน ต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นแผ่นกระดาษ จึงเรียกกระดาษหรือสิ่งที่เป็นแผ่นใช้เขียนลายลักษณ์อักษรว่า ปตฺต > ปตฺร ใช้ในภาษาไทยว่า บัตร

คำว่า “บัตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

บัตร : (คำนาม) แผ่นเอกสารแสดงสิทธิของผู้ใช้เป็นต้น มักทำด้วยกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น บัตรประจำตัว บัตรเลือกตั้ง บัตรสมนาคุณ; ภาชนะทำด้วยกาบกล้วย เป็นรูปกระบะสำหรับวางเครื่องเซ่นสังเวย; ใบไม้, กลีบดอกไม้ เช่น ปทุมบัตร; ขนปีก, ปีก เช่น หากันกระสันโบย บัตรเรียกมารังเรียง (สมุทรโฆษ). (ส. ปตฺร; ป. ปตฺต).”

เกียรติ + บัตร = เกียรติบัตร อ่านว่า เกียด-ติ-บัด

เกียรติบัตร” ถ้าแปลงกลับเป็นบาลีก็จะได้รูปคำเป็น “กิตฺติปตฺต” อ่านว่า กิด-ติ-ปัด-ตะ แปลว่า “ใบยกย่อง” หรือ “ใบแสดงเกียรติ

คำว่า “เกียรติบัตร” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

ขยายความ :

คลังความรู้ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา มีคำว่า “วุฒิบัตรเกียรติบัตร” อธิบายไว้ดังนี้ – 

…………..

                          วุฒิบัตรเกียรติบัตร

          วุฒิบัตร (อ่านว่า วุด-ทิ-บัด) กับ เกียรติบัตร (อ่านว่า เกียด-ติ-บัด) ใช้แตกต่างกัน

          วุฒิบัตร มาจากคำว่า วุฒิ (อ่านว่า วุด-ทิ) กับคำว่า บัตร  คำว่า วุฒิ แปลว่า ภูมิรู้ ความเจริญ ความงอกงาม ความเป็นผู้ใหญ่.

          วุฒิบัตร หมายถึง เอกสารแสดงความสำเร็จหรือรับรองว่าได้ผ่านการฝึก การอบรม หรือการให้การศึกษาพิเศษ ในระยะเวลาสั้น ๆ.

          ส่วน เกียรติบัตร มาจากคำว่า เกียรติ (อ่านว่า เกียด) กับคำว่า บัตร.  เกียรติ แปลว่า ชื่อเสียง ความยกย่องนับถือ ความมีหน้ามีตา. เกียรติบัตร จึงหมายถึง เอกสารแสดงความยกย่องนับถือ ใช้ในโอกาสต่าง ๆ เช่น เกียรติบัตรนักเรียนเรียนดี.   เกียรติบัตรผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต.

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.

…………..

แถม :

บัตร” แปลว่า “ใบ” อยู่แล้ว เมื่อพูดว่า “เกียรติบัตร” จึงไม่ต้องมีคำว่า “ใบ” นำหน้าอีก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จงมีกำลังใจที่จะทำความดีเสมอไป

: แต่อย่ารอกำลังใจจากเกียรติบัตร

#บาลีวันละคำ (4,017)

12-6-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *