บาลีวันละคำ

ภัทรกัป (บาลีวันละคำ 4,184)

ภัทรกัป

กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 5 พระองค์

…………..

กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติแยกย่อยเป็น 5 ประเภท ได้แก่ –

(1) สารกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติพระองค์เดียว

(2) มัณฑกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 2 พระองค์

(3) วรกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 3 พระองค์

(4) สารมัณฑกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 4 พระองค์

(5) ภัทรกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 5 พระองค์

…………..

ภัทรกัป” อ่านว่า พัด-ทฺระ-กับ ประกอบด้วยคำว่า ภัทร + กัป

(๑) “ภัทร” 

บาลีเป็น “ภทฺท” อ่านว่า พัด-ทะ รากศัพท์มาจาก ภทฺทฺ (ธาตุ = ดี, เจริญ) + (อะ) ปัจจัย 

: ภทฺทฺ + = ภทฺท แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ดี” 

ภทฺท” (คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) ฤกษ์ดี, โชคดี, สูง, สง่า, เลอเลิศ, มีนิมิตดี, ที่เคารพ [ในการร้องเรียกคนที่เคารพ], ดีงาม, มีความสุข, เคราะห์ดี (auspicious, lucky, high, lofty, august, of good omen, reverend [in address to people of esteem], good, happy, fortunate)

(2) สิ่งที่นำโชคมาให้, ความเจริญ, สวัสดิการ, สถานะที่ดี; กรรมดี (something bringing luck, a good state, welfare; a good deed) 

(3) ศรชนิดหนึ่ง (a kind of arrow) 

(4) โคตัวผู้ (bull) 

บาลี “ภทฺท” สันสกฤตเป็น “ภทฺร” (บาลีเป็น “ภทฺร” ก็มี) 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ – 

(สะกดตามต้นฉบับ) 

ภทฺร : (คำวิเศษณ์) ‘ภัทร,’ เปนสุข; มีลาภ; ดียิ่ง; ทรงคุณธรรม; happy, lucky; best; virtuous; – (คำนาม) ความสุข; ลาภ; หญ้าหรือแฝกหอม; ทองครรม; เหล็กกล้า; นามพระศิวะ; นกกิ้งเขน; พระเมรุบรรพต; แม่น้ำคงคาเมืองสวรรค์; happiness; fortune; fragrant glass; gold; steel; a name of Siva; a wagtail; Mount Meru; the Ganges of heaven.”

ในภาษาไทยใช้เป็น “ภัทร-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “ภัทระ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ภัทร-, ภัทระ : (คำวิเศษณ์) ดี, เจริญ, ประเสริฐ, งาม, น่ารัก, เป็นมงคล. (ส. ภทฺร; ป. ภทฺท, ภทฺร).”

(๒) “กัป

อ่านว่า กับ บาลีเป็น “กปฺป” อ่านว่า กับ-ปะ รากศัพท์มาจาก กปฺป (ธาตุ = กำหนด) + (อะ) ปัจจัย

: กปฺป + = กปฺป แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขากำหนดขึ้น

กปฺป” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) เหมาะสม, สมควร, ถูกต้อง, เหมาะเจาะ (fitting, suitable, proper)

(2) บังเหียน, เครื่องประกอบ, จุดสีดำเล็กๆ, ทำเลศนัย (harness, trapping, a small black dot, a making-up of a trick)

(3) คำสั่ง, คำสั่งสอน, กฎ, ข้อปฏิบัติ, มรรยาท (ordinance, precept, rule; practice, manner)

(4) เวลาที่แน่นอน, เวลาที่กำหนดไว้, อายุของโลก (a fixed time, an age of the world)

บาลี “กปฺป” ในที่นี้ภาษาไทยใช้เป็น “กัป” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กัป : (คำนาม) อายุของโลกตั้งแต่เมื่อพระพรหมสร้างเสร็จจนถึงเวลาที่ไฟประลัยกัลป์มาล้างโลก, บางทีใช้เข้าคู่กับคํา กัลป์ เช่น ชั่วกัปชั่วกัลป์ นานนับกัปกัลป์พุทธันดร. (ป. กปฺป; ส. กลฺป). (ดู กัลป-, กัลป์).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายเรื่อง “กัป” ไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้ –

…………..

กัป, กัลป์ : กาลกำหนด, กำหนดอายุของโลก, ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน ที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาล ประลัยครั้งหนึ่ง (ศาสนาฮินดูว่าเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม) ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่า เปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูง ด้านละ ๑ โยชน์ ทุก ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น; กำหนดอายุของมนุษย์หรือสัตว์จำพวกนั้นๆ ในยุคนั้นๆ เรียกเต็มว่า ‘อายุกัป’ เช่นว่า อายุกัปของคนยุคนี้ ประมาณ ๑๐๐ ปี

…………..

ภทฺท + กปฺป = ภทฺทกปฺป (พัด-ทะ-กับ-ปะ) 

ภทฺร + กปฺป = ภทฺรกปฺป (พัด-ทฺระ-กับ-ปะ) 

ใช้ในภาษาไทยเป็น “ภัทรกัป” (พัด-ทฺระ-กับ) แปลว่า “กัปอันเจริญ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ภัทรกัป” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า – 

ภัทรกัป : (คำนาม) กัปอันเจริญ คือ กัปปัจจุบัน มีพระพุทธเจ้าถึง ๕ พระองค์. (ป. ภทฺรกปฺป, ภทฺทกปฺป).”

ข้อสังเกต :

คำที่เป็นชื่อกัปในชุดนี้มี 5 คำ คือ (1) สารกัป (2) มัณฑกัป (3) วรกัป (4) สารมัณฑกัป (5) ภัทรกัป (ดูความหมายข้างต้น) 

แต่พจนานุกรมฯ เก็บไว้เฉพาะ “ภัทรกัป” คำเดียว ไม่เก็บคำอื่น จะว่าไม่เห็นคำอื่นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นคำในชุดเดียวกัน อยู่ด้วยกัน เห็นคำว่า “ภัทรกัป” ก็จะต้องเห็นคำอื่น ๆ ด้วย

พจนานุกรมฯ มีเหตุผลอย่างไรจึงเก็บเฉพาะ “ภัทรกัป” คำเดียว เป็นเรื่องน่าสนใจ ผู้รักจะรู้เรื่องนี้พึงตรวจสอบศึกษาต่อไปเทอญ

ขยายความ :

เหตุที่เรียก “ภัทรกัป” มีอธิบายว่า เมื่อโลกผ่านช่วงเวลา “สุญกัป” (สุน-ยะ-กับ) คือไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ย่างเข้าสู่ “อสุญกัป” (อะ-สุน-ยะ-กับ) มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ เริ่มด้วยมีมาตรัสรู้พระองค์เดียว เรียกว่า “สารกัป” ตรัสรู้ 2 พระองค์ เรียกว่า “มัณฑกัป” ตรัสรู้ 3 พระองค์ เรียกว่า “วรกัป” และตรัสรู้ 4 พระองค์ เรียกว่า “สารมัณฑกัป” 

ครั้นแล้วก็มาถึงช่วงเวลาที่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ถึง 5 พระองค์ มากกว่าทุกกัปที่มาผ่านมา จึงเรียกกัปนี้ว่า “ภัทรกัป” แปลว่า “กัปอันเจริญ” หมายความว่าเจริญกว่ากัปอื่น ๆ ทั้งหมด คือมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้มากที่สุด

นับพระทีปังกรเป็นองค์ที่ 1 มี “ภัทรกัป” 1 ครั้ง คือกัปที่กำลังเป็นไปอยู่ในปัจจุบันนี้ พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ในภัทรกัปมีดังนี้ –

(1) พระกกุสันธะ (องค์ที่ 22)

(2) พระโกนาคมนะ (พระโกนาคมน์) (องค์ที่ 23)

(3) พระกัสสปะ (องค์ที่ 24)

(4) พระโคตมะ (พระโคดม) (องค์ที่ 25)

(5) พระเมตเตยยะ (พระเมตไตรย คือที่เรามักเรียกกันว่า พระศรีอารย์ หรือพระศรีอริยเมตไตรย) (องค์ที่ 26)

…………..

เกิดเป็นมนุษย์ : เป็นบุญ

เพราะที่ไปเกิดเป็นสัตว์อื่น ๆ มากนักหนา

พบพระพุทธศาสนา : เป็นโชคดี

เพราะมีมนุษย์มากนักหนาเกิดอยู่ในถิ่นที่ไม่มีพระพุทธศาสนา

มีศรัทธาเลื่อมใส : เป็นบุญลาภอันประเสริฐ

เพราะแม้ได้พบพระพุทธศาสนา แต่ไม่นับถือไม่เลื่อมใสก็มากนักหนา

ปฏิบัติธรรมได้ด้วยดี : เป็นมหากุศล

เพราะแม้มีศรัทธา แต่ก็มีมากนักหนาที่ปฏิบัติธรรมไม่ได้ เพราะสุขภาพร่างกายไม่อำนวยบ้าง ไม่เข้าใจคำสอนบ้าง ปฏิบัติผิดไปจากคำสอนบ้าง

ดูก่อนภราดา!

: เกิดเป็นมนุษย์

: พบพระพุทธศาสนา

: มีศรัทธาเลื่อมใส

: ปฏิบัติธรรมได้ด้วยดี

บุญกุศลของท่านมาได้ถึงขั้นไหน?

#บาลีวันละคำ (4,184)

26-11-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *