บาลีวันละคำ

ธรรมจารี (บาลีวันละคำ 4,021)

ธรรมจารี

หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง

อ่านว่า ทำ-มะ-จา-รี

ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + จารี

(๑) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ธรรม” ในที่นี้ความหมายเน้นหนักตามข้อ (1) ถึง (6)

(๒) “จารี” 

อ่านว่า จา-รี รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ดำเนินไป) + ณี ปัจจัย, ลบ (ณี > อี), ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อาด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (จร > จาร

: จรฺ + ณี > อี = จรี > จารี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปกติประพฤติ-” “ผู้มีปกติดำเนินไป” หมายถึง ดำเนินไป, มีความเป็นอยู่, มีประสบการณ์; ประพฤติ, กระทำ, ปฏิบัติ (walking, living, experiencing; behaving, acting, practising)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จารี : (คำนาม) ผู้ประพฤติ, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น ธรรมจารี สัมมาจารี. (ป.).”

ธมฺม + จารี = ธมฺมจารี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปกติประพฤติซึ่งธรรม” แปลตามความว่า “ผู้ประพฤติธรรม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมจารี” ว่า virtuous, dutiful (มีคุณธรรม, รู้จักหน้าที่)

บาลี “ธมฺมจารี” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ธรรมจารี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธรรมจารี : (คำนาม) ผู้ประพฤติธรรม. (ป. ธมฺมจารี; ส. ธรฺมจารินฺ).”

ขยายความ :

คำบาลี “ธมฺมจารี” ที่คุ้นหูกันมากที่สุด คือ “ธมฺมจารี สุขํ เสติ” หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม 1 แปลไว้ว่า “ผู้ประพฤติธรรม อยู่เป็นสุข

ข้อความเต็มๆ ของสุภาษิตบทนี้ในคัมภีร์ธรรมบทเป็นดังนี้ – 

…………..

อุตฺติฏฺเฐ นปฺปมชฺเชยฺย 

ธมฺมํ สุจริตํ จเร 

ธมฺมจารี สุขํ เสติ 

อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จ ฯ 

ลุกขึ้นเถิด อย่ามัวประมาทอยู่เลย 

จงประพฤติสุจริตธรรม 

เพราะผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข 

ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า 

Arise! Be not negligent! 

Lead a righteous life. 

For one who lives a righteous life 

Dwells in peace here and hereafter. 

ธมฺมญฺจเร สุจริตํ 

น ตํ ทุจฺจริตํ จเร

ธมฺมจารี สุขํ เสติ 

อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จ ฯ 

จงประพฤติสุจริตธรรม 

อย่าประพฤติทุจริต 

ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข 

ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า 

By Dharma should one lead one’s life 

And not embrace corrupted means. 

For one who lives a Dharma life 

Dwells in peace here and hereafter.

ที่มา: โลกวรรค ธัมมปทคาถา พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 23

คำแปลภาษาไทยและอังกฤษ: พุทธวจนะในธรรมบท โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ประพฤติธรรม ดี

: ประพฤติผิดธรรม ไม่ดี

#บาลีวันละคำ (4,021)

16-6-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *