บาลีวันละคำ

ธารพระกร (บาลีวันละคำ 2,505)

ธารพระกร

อ่านว่า ทาน-พฺระ-กอน

ประกอบด้วยคำว่า ธาร + พระกร

(๑) “ธาร

บาลีอ่านว่า ทา-ระ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (ธรฺ > ธารฺ)

: ธรฺ + = ธรณ > ธร = ธาร (ปุงลิงค์; คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “การทรงไว้” “ผู้ทรงไว้” หมายถึง ทรงไว้, แบกไว้, ถือ, มี (bearing, holding, having)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธาร ๑ : (คำนาม) การทรงไว้, การรับไว้, การหนุน, มักใช้เป็นบทหลังสมาส เช่น จุฑาธาร. (ป., ส.).”

(๒) “พระกร

(ก) “พระ

มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง เป็น ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)

ในที่นี้ใช้ตามนัยที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ตอนหนึ่งว่า “… ของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ …”

(ข) “กร

บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย

: กรฺ + = กร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน” (2) “ผู้ทำ” (“the maker”)

กร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผลิต, ก่อ, ประกอบ, สร้าง, กระทำ (producing, causing, forming, making, doing)

(2) มือ (the hand)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) กร ๑ : (คำนาม) ผู้ทํา, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น กรรมกร เกษตรกร. (ป.).

(2) กร ๒ : (คำนาม) มือ (มักใช้ในบทประพันธ์); แขน เช่น เจ้างามกรอ่อนดังงวงเอราวัณ. (กลบท). (ป., ส.).

ในที่นี้ “กร” หมายถึง มือ

กร” เมื่อเป็นราชาศัพท์ ใช้คำว่า “พระ” นำหน้าเป็น “พระกร

ธาร + พระกร = ธารพระกร เป็นคำประสมแบบไทย แปลตามรูปศัพท์ว่า “เครื่องค้ำจุนมือของเจ้านาย” หรือ “สิ่งที่ทรงไว้ด้วยมือของเจ้านาย” (คือเป็นของที่เจ้านายถือติดมือ) ใช้เป็นราชาศัพท์ หมายถึง ไม้เท้า

อภิปราย :

มีคำไทยคำหนึ่งคือ “ทาน” หมายถึง ยันหรือรับไว้ คำว่า “ธารพระกร” ถ้าสะกดเป็น “ทานพระกร” อ่านเหมือนกันว่า ทาน-พฺระ-กอน ก็สามารถที่จะแปลได้ว่า “สิ่งที่ยันหรือรับมือเจ้านายไว้” ได้ความตรงกัน คือหมายถึง ไม้เท้า

พอดีพอร้ายคำนี้เดิมอาจจะเป็น “ทานพระกร” นี่แหละ ภายหลังจึงถูก “จับบวช” เป็น “ธารพระกร

…………..

หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 113 อธิบายเรื่อง “ธารพระกร” มีข้อความดังนี้

…………..

ธารพระกร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้าง ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ปิดทอง หัวและส้นเป็นเหล็กคร่ำลายทอง ที่สุดส้นเป็นส้อมสามง่าม เรียกว่า ธารพระกรชัยพฤกษ์ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างธารพระกรขึ้นใหม่ทำด้วยทองคำ ภายในมีพระแสงเสน่า (สะ-เหน่า) ยอดมีรูปเทวดา เรียกว่า ธารพระกรเทวรูป มีลักษณะเป็นพระแสงดาบมากกว่าเป็นธารพระกร ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธารพระกรชัยพฤกษ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสืบมาจนถึงรัชกาลที่ ๙

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม้เท้าเป็นเครื่องค้ำจุนมือ ฉันใด

: พระธรรมก็เป็นเครื่องค้ำจุนใจ ฉันนั้น

#บาลีวันละคำ (2,505)

22-4-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย