ทิฏฐิวิบัติ (บาลีวันละคำ 4,024)
ทิฏฐิวิบัติ
ความวิบัติที่มองไม่เห็น
อ่านว่า ทิด-ถิ-วิ-บัด
ประกอบด้วยคำว่า ทิฏฐิ + วิบัติ
(๑) “ทิฏฐิ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ทิฏฺฐิ” โปรดสังเกต “ทิฏฺฐิ” บาลีมีจุดใต้ ฏ ปฏัก รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ติ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ, แปลง ติ เป็น ฏฺฐิ
: ทิสฺ + ติ = ทิสฺติ > ทิติ > ทิฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า “ความเห็น” หมายถึง ความคิดเห็น, ความเชื่อ, หลักลัทธิ, ทฤษฎี, การเก็ง, ทฤษฎีที่ผิด, ความเห็นที่ปราศจากเหตุผลหรือมูลฐาน (view, belief, dogma, theory, speculation, false theory, groundless or unfounded opinion)
ในภาษาธรรม ถ้าพูดเฉพาะ “ทิฏฺฐิ” จะหมายถึง ความเห็นผิด
ถ้าต้องการชี้เฉพาะ จะมีคำบ่งชี้นำหน้า คือ “มิจฺฉาทิฏฺฐิ” = ความเห็นผิด “สมฺมาทิฏฺฐิ” = ความเห็นถูก
บาลี “ทิฏฺฐิ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกเขียนเป็น “ทิฐิ” แต่คงอ่านว่า ทิด-ถิ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทิฐิ : (คำนาม) ความเห็น เช่น สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิด; ความอวดดื้อถือดี เช่น เขามีทิฐิมาก. (ป. ทิฏฺฐิ; ส. ทฺฤษฺฏิ).”
คำนี้เมื่อใช้ในภาษาธรรม มีผู้นิยมสะกดตามรูปคำเดิม ไม่ตัดตัวสะกด คือเขียนเป็น “ทิฏฐิ” (ไม่มีจุดใต้ ฏ ปฏัก)
ในที่นี้สะกดเป็น “ทิฏฐิ” ตามภาษาธรรม
(๒) “วิบัติ”
บาลีเป็น “วิปตฺติ” อ่านว่า วิ-ปัด-ติ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, ต่างๆ กัน) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, ลบ ท ที่สุดธาตุ (ปทฺ > ป), ซ้อน ต ระหว่างธาตุกับปัจจัย (ปท > ป + ตฺ + ติ)
: วิ + ปทฺ = วิปทฺ + ตฺ + ติ = วิปทตฺติ > วิปตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ถึงความแปลกไป” (คือเคยอยู่ในสภาพปกติกลายเป็นแปลกไปจากปกติ) หมายถึง สถานะที่ผิด, การแสดงออกที่ผิด, ความไม่สำเร็จ, ความวิบัติ, ความเคราะห์ร้าย (wrong state, false manifestation, failure, misfortune)
“วิปตฺติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิบัติ” และแผลง ว เป็น พ เป็น “พิบัติ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิบัติ : (คำนาม) พิบัติ, ความฉิบหาย, ความหายนะ, ความเป็นอัปมงคล, เช่น ทรัพย์สมบัติวิบัติ; ความเคลื่อนคลาด, ความผิด, เช่น อักขรวิบัติ. (คำกริยา) ฉิบหาย เช่น ขอจงวิบัติทันตาเห็น. (ป., ส. วิปตฺติ).”
ทิฏฺฐิ + วิปตฺติ = ทิฏฺฐิวิปตฺติ (ทิด-ถิ-วิ-ปัด-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “ความผิดเพี้ยนแห่งความคิดเห็น”
“ทิฏฺฐิวิปตฺติ” ในที่นี้สะกดแบบภาษาไทยที่ใช้ในภาษาธรรมเป็น “ทิฏฐิวิบัติ” (ไม่ตัด ฎ ปฏัก)
คำว่า “ทิฏฐิวิบัติ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ทิฏฐิวิบัติ” ไว้ดังนี้ –
…………..
ทิฏฐิวิบัติ : วิบัติแห่งทิฏฐิ, ความผิดพลาดแห่งความคิดเห็น, ความเห็นคลาดเคลื่อนผิดธรรมวินัย ทำให้ประพฤติตนนอกแบบแผน ทำความผิดอยู่เสมอ (ข้อ ๓ ในวิบัติ ๔)
…………..
“ทิฏฐิวิบัติ” มีความหมายคล้ายกับ “มิจฉาทิฏฐิ” พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “มิจฉาทิฏฐิ” ไว้ดังนี้ –
…………..
มิจฉาทิฏฐิ : เห็นผิด, ความเห็นที่ผิดจากคลองธรรม เช่นเห็นว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี มารดาบิดาไม่มี เป็นต้น และความเห็นที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ (พจนานุกรมเขียน มิจฉาทิฐิ); (ข้อ ๑ ในมิจฉัตตะ ๑๐)
…………..
แถม :
ขอยกพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [175] ซึ่งมี “ทิฏฐิวิบัติ” รวมอยู่ด้วย มาเสนอไว้ในที่นี้ เพื่อให้เข้าใจกว้างขวางยิ่งขึ้น ดังนี้ –
…………..
วิบัติ 4 (ความผิดพลาด, ความเคลื่อนคลาด, ความเสียหาย, ความบกพร่อง, ความใช้การไม่ได้ — Vipatti: failure; falling away)
1. ศีลวิบัติ (วิบัติแห่งศีล, เสียศีล, สำหรับพระภิกษุ คือ ต้องอาบัติปาราชิก หรือ สังฆาทิเสส — Sīla-vipatti: falling away from moral habit; failure in morality)
2. อาจารวิบัติ (วิบัติแห่งอาจาระ, เสียความประพฤติ จรรยามรรยาทไม่ดี, สำหรับพระภิกษุ คือ ต้องลหุกาบัติ แต่ถุลลัจจัย ถึง ทุพภาสิต — Ācāra-vipatti: falling away from good behaviour; failure in conduct)
3. ทิฏฐิวิบัติ (วิบัติแห่งทิฏฐิ, ความเห็นคลาดเคลื่อน ผิดธรรมผิดวินัย — Diṭṭhi-vipatti: falling away from right view; failure in views)
4. อาชีววิบัติ (วิบัติแห่งอาชีวะ, ประกอบมิจฉาชีพ หาเลี้ยงชีพในทางที่ผิด — Ājīva-vipatti: falling away from right mode of livelihood; failure in livelihood)
…………..
ดูก่อนภราดา!
พระพุทธศาสนา:-
: ไม่ได้ยกยอคนที่เห็นตาม
: ไม่ได้เหยียดหยามคนที่เห็นต่าง
: แต่ให้ดูเยี่ยงอย่างคนที่เห็นตรง
#บาลีวันละคำ (4,024)
19-6-66
…………………………….
…………………………….