บาลีวันละคำ

นิกม์ ที่เป็นชื่อคน (บาลีวันละคำ 4,025)

นิกม์ ที่เป็นชื่อคน

น่าจะมาจากคำอะไรในบาลี

มีคำถามว่า คำว่า “นิกม์” ที่เป็นชื่อคน สะกดอย่างนี้ น่าจะมาจากคำอะไรในบาลี

มีผู้สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากคำว่า “นิกามวรฺษินฺ” ในสันสกฤต แปลว่า “ฝนคือความปรารถนา” เปรียบฝนเหมือนความปรารถนา หรือจะว่าเปรียบความปรารถนาเหมือนฝนก็ได้ คือ ฝนตกลงมาทำให้ชุ่มชื่นเหมือนทำอะไรๆ ได้สมความปรารถนา หรือทำสิ่งใดได้สมความปรารถนาเหมือนฝนตกลงมาทำให้ชุ่มชื่น 

ตัดมาเฉพาะคำว่า “นิกาม” แล้วแปลงรูปเป็น “นิกม” แล้วสะกดตามใจประสงค์เป็น “นิกม์

ที่สันนิษฐานเช่นนี้ผู้สันนิษฐานยกคำว่า “นิกามวรฺษินฺ” ที่เขียนเป็นอักษรโรมันมาประกอบด้วย คืออักษรโรมันเขียนเป็น nikāma varṣin 

คำว่า nikāma ผู้สันนิษฐานถอดเป็นอักษรไทยว่า “นิคม” จึงสันนิษฐานได้ว่า “นิกม์” คือ “นิกม” และ “นิกม” ก็คือ “นิคม” (nikāma) คำนี้เอง

ที่ว่ามานี้เป็นความเข้าใจของผู้เขียนบาลีวันละคำที่อ่านความคิดของผู้สันนิษฐานออกมาอย่างนั้น ถ้าเข้าใจผิด ก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ขอชี้แจงหลักการเขียนคำบาลีสันสกฤตเป็นอักษรโรมัน เฉพาะที่ปรากฏในคำนี้ ดังนี้ –

k = ก ไก่ ไม่ใช่ ค ควาย 

ถ้า ค ควาย จะใช้อักษร g

ā มีขีดบน บังคับให้เป็น อา ไม่ใช่ อะ

ดังนั้น nikāma จึงถอดเป็นอักษรไทยว่า “นิกาม” ไม่ใช่ “นิคม

ถ้าเป็น “นิคม” อักษรโรมันจะเป็น nigama

นิกาม” (nikāma) ภาษาบาลีอ่านว่า นิ-กา-มะ หมายถึง ความปรารถนา, ความใคร่, ความอยาก (desire, pleasure, longing)

นิกม์” มาจาก “นิกาม” ว่าโดยรูปคำก็ออกจะห่างกันมาก ไม่น่าจะเป็นไปได้

ถ้าให้ผู้เขียนบาลีวันละคำสันนิษฐาน ก็ปรารถนาจะสันนิษฐานว่า “นิกม์” น่าจะมาจาก “นิกฺกม” ในบาลี

นิกฺกม” บาลีอ่านว่า นิก-กะ-มะ รากศัพท์มาจาก นี (คำอุปสรรค = ไม่มี, ออก) (รัสสะ อี เป็น อิ) + กมฺ (ธาตุ = ก้าวไป) + ปัจจัย, ลบ , ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นี + กฺ + กมฺ)

: นี > นิ + กฺ + กมฺ = นิกฺกมฺ + = นิกฺกมณ > นิกฺกม แปลตามศัพท์ว่า “การก้าวออกไป” 

นิกฺกม” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นคำนาม (ปุงลิงค์) หมายถึง ความพยายาม, พลัง, ความทนทาน (exertion, strength, endurance)

(2) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง แข็งแรง, อดทน, พากเพียร (strong, enduring, exerting oneself)

นิกฺกม” ใช้ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกเป็น “นิกม” ถ้าอ่านตามปกติในภาษาไทยก็อ่านว่า นิ-กม แต่ในที่นี้ประสงค์จะให้อ่านว่า “นิก” ตามความต้องการของเจ้าของชื่อหรือผู้ตั้ง จึงใส่ไม้ทัณฑฆาตที่ สะกดเป็น “นิกม์” อ่านว่า นิก ตามประสงค์

หมายเหตุ :

โปรดทราบว่า ชื่อคนเป็นวิสามานยนาม ซึ่งไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “อสาธารณนาม” คำอังกฤษว่า proper name

วิสามานยนาม / อสาธารณนาม / proper name นี้ ได้รับสิทธิพิเศษ คือ จะสะกดอย่างไร จะออกเสียงอย่างไร และจะให้มีความหมายอย่างไร ต้องเป็นไปตามที่เจ้าของชื่อหรือผู้ตั้งเป็นผู้กำหนด 

ดังนั้น ที่แสดงมาข้างต้นนั้นจึงอาจผิดทั้งหมด

จึงพึงสดับไว้พอเป็นเครื่องประดับความรู้เท่านั้น

ปัจจุบันนี้น่าจะเพิ่มสิทธิพิเศษขึ้นอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ ชื่อนั้นคำนั้นจะมาจากภาษาอะไร มาจากคำว่าอะไร หรือมาจากพยัญชนะตัวไหนในภาษาอะไร ก็ต้องเป็นไปตามที่เจ้าของชื่อหรือผู้ตั้งจะเป็นผู้กำหนดอีกด้วย จะเอาหลักภาษาหรือหลักไวยากรณ์ใดๆ มาตัดสินผิดถูกหาได้ไม่ 

เพราะฉะนั้น เราจึงมักได้เห็นคนชื่อแปลกๆ เขียนแปลกๆ ออกเสียงแปลกๆ และมีความหมายแปลกๆ เหนือความคาดคิด

มีชื่อจำนวนมากที่บอกชื่อให้คนอื่นเขียน คนเขียนสะกดไม่ถูก 

สะกดได้ก็อ่านไม่ถูก 

อ่านได้ก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร

และที่เหนือความคาดคิดอย่างยิ่งก็คือ บางชื่อเจ้าของชื่อเองแท้ๆ ก็ยังไม่รู้ว่าชื่อของตัวแปลว่าอะไร

เผลอๆ อ่านชื่อตัวเองไม่ถูกอีกต่างหาก!

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แบ่งถ้อยคำให้รู้ว่านามหรือกิริยา ใช้ในการเรียนบาลี

: แบ่งการกระทำให้รู้ว่าชั่วหรือดี ใช้ในชีวิตจริง

#บาลีวันละคำ (4,025)

20-6-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *