อินทรียสังวร (บาลีวันละคำ 4,028)
อินทรียสังวร
ศัพท์วิชาการที่ควรรู้
อ่านว่า อิน-ซี-สัง-วอน
ประกอบด้วยคำว่า อินทรีย + สังวร
(๑) “อินทรีย”
เขียนแบบบาลีเป็น “อินฺทฺริย” (มีจุดใต้ นฺ และ ทฺ) อ่านว่า อิน-เทฺรียะ รากศัพท์มาจาก อินฺท + ร อาคม + อิย ปัจจัย
(ก) “อินฺท” รากศัพท์มาจาก อิทิ (ธาตุ = เป็นใหญ่ยิ่ง) ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุ แปลงนิคหิตเป็น นฺ (อิทิ > อึทิ > อินฺทิ) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (อิทิ > อิท)
: อิทิ > อึทิ (อิง-ทิ) > อินฺทิ > อินฺท + อ = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กระทำความเป็นใหญ่ยิ่ง” หมายถึง พระอินทร์, ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นหัวหน้า, พระราชา, ผู้ปกครอง
(ข) : อินฺท + ร = อินฺทร + อิย = อินฺทริย > อินฺทฺริย (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “เป็นของพระอินทร์” (belonging to Indra) (2) “เป็นของผู้ปกครอง” (belonging to the ruler)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไขความคำว่า “อินฺทฺริย” (ตามความเข้าใจของฝรั่ง) ไว้ดังนี้ –
(1) faculty, function (สมรรถพล = กำลังแห่งความสามารถ, การทำงาน)
(2) kind, characteristic, determinating principle, sign, mark (ชนิด, ลักษณะ, หลักที่เป็นตัวกำหนด, เครื่องแสดง, เครื่องหมาย)
(3) principle, controlling force (หลักการ, กำลังที่ควบคุม)
(4) category (ประเภท)
บาลี “อินฺทฺริย” ภาษาไทยใช้ว่า “อินทรีย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) ร่างกายและจิตใจ เช่น สํารวมอินทรีย์
(2) สติปัญญา เช่น อินทรีย์แก่กล้า
(3) สิ่งมีชีวิต
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายทางธรรมของ “อินทรีย์”ไว้ว่า –
…………..
อินทรีย์ : ความเป็นใหญ่, สภาพที่เป็นใหญ่ในกิจของตน, ธรรมที่เป็นเจ้าการในการทำหน้าที่อย่างหนึ่งๆ เช่น ตาเป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าการในการเห็น หูเป็นใหญ่ในการได้ยิน วิริยะเป็นเจ้าการในการครอบงำเสียซึ่งความเกียจคร้าน เป็นต้น
…………..
(๒) “สังวร”
เขียนแบบบาลีเป็น “สํวร” อ่านว่า สัง-วะ-ระ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน, ดี) + วรฺ (ธาตุ = ระวัง) + อ (อะ) ปัจจัย
: สํ + วรฺ = สํวรฺ + อ = สํวร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความระวังพร้อม” หมายถึง ความระวัง, การรั้งไว้ (restraint)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความคำว่า “สํวร” ไว้ว่า The fivefold saŋvara: sīla-, sati-, ñāṇa-, khanti-, viriya-, i. e. by virtue, mindfulness, insight, patience, effort (สังวร 5 อย่าง: สีล-, สติ-, ญาณ-, ขนฺติ-, วิริย-, คือ ศีลสังวร, สติสังวร, ญาณสังวร, ขันติสังวร, วิริยสังวร)
บาลี “สํวร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังวร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สังวร : (คำนาม) ความระวัง, ความเหนี่ยวรั้ง, ความป้องกัน. (คำกริยา) สํารวม, เหนี่ยวรั้ง, เช่น สังวรศีล สังวรธรรม, ถ้าใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส หมายความว่า ความสำรวม, ความระวัง, เช่น อินทรียสังวร จักษุสังวร ญาณสังวร ศีลสังวร, (ภาษาปาก) ให้ระวังจงดี (ผู้ใหญ่สั่งสอนเตือนสติผู้น้อย) เช่น เรื่องนี้พึงสังวรไว้ อย่าให้ผิดอีกเป็นครั้งที่ ๒. (ป., ส. สํวร).”
ขยายความแทรก :
ในคัมภีร์ท่านจำแนก “สังวร” ไว้ 5 อย่าง ขอนำข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [243] สังวร 5 ซึ่งสรุปความไว้มาแสดงดังนี้ –
…………..
สังวร 5 อย่าง คือ
1. ปาฏิโมกขสังวร สำรวมในปาฏิโมกข์ คือ รักษาสิกขาบทเคร่งครัดตามที่ทรงบัญญัติไว้ในพระปาฏิโมกข์ (Pāṭimokkha-saṃvara: restraint by the monastic code of discipline)
2. สติสังวร สำรวมด้วยสติ คือ สำรวมอินทรีย์มีจักษุเป็นต้น ระวังรักษามิให้บาปอกุศลธรรมเข้าครอบงำ เมื่อเห็นรูป เป็นต้น (Sati-saṃvara: restraint by mindfulness) = อินทรียสังวร
3. ญาณสังวร สำรวมด้วยญาณ คือ ตัดกระแสกิเลสมีตัณหาเป็นต้นเสียได้ ด้วยใช้ปัญญาพิจารณา มิให้เข้ามาครอบงำจิต ตลอดถึงรู้จักพิจารณาเสพปัจจัยสี่ (Ñāṇa-saṃvara: restraint by knowledge) = ปัจจัยปัจจเวกขณ์
4. ขันติสังวร สำรวมด้วยขันติ คือ อดทนต่อหนาว ร้อน หิว กระหาย ถ้อยคำแรงร้าย และทุกขเวทนาต่างๆ ได้ ไม่แสดงความวิการ (Khanti-saṃvara: restraint by patience)
5. วิริยสังวร สำรวมด้วยความเพียร คือ พยายามขับไล่ บรรเทา กำจัดอกุศลวิตกที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไปเป็นต้น ตลอดจนละมิจฉาชีพ เพียรแสวงหาปัจจัยสี่เลี้ยงชีวิตด้วยสัมมาชีพ ที่เรียกว่า อาชีวปาริสุทธิ (Viriya-saṃvara: restraint by energy) = อาชีวปาริสุทธิ.
…………..
“สังวร” เป็นคุณธรรมช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด
อินฺทฺริย + สํวร = อินฺทฺริยสํวร (อิน-เทฺรียะ-สัง-วะ-ระ) แปลว่า “ความสำรวมอินทรีย์”
“อินฺทฺริยสํวร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อินทรียสังวร” (อิน-ซี-สัง-วอน)
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “อินทรียสังวร” ไว้ดังนี้ –
…………..
อินทรียสังวร : สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ, การรับรู้อารมณ์ทางอินทรีย์ทั้ง ๖ โดยมีสติมิให้กิเลสครอบงำใจ แต่ให้รู้ตามเป็นจริงและเกิดกุศลธรรม (ข้อ ๑ ในอปัณณกปฏิปทา ๓, ข้อ ๒ ในปาริสุทธิศีล ๔, ข้อ ๒ ในองค์แห่งภิกษุใหม่ ๕), ที่เป็นข้อ ๒ ในปาริสุทธิศีล ๔ นั้น เรียกเต็มว่า อินทรียสังวรศีล แปลว่า ศีลคือความสำรวมอินทรีย์.
…………..
“อินทรียสังวร” เป็นข้อหนึ่งในหลักธรรมที่เรียกว่า “อปัณณกปฏิปทา”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [128] แสดง “อปัณณกปฏิปทา” ไว้ดังนี้ –
…………..
อปัณณกปฏิปทา 3 (ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด, ปฏิปทาที่เป็นส่วนแก่นสารเนื้อแท้ ซึ่งจะนำผู้ปฏิบัติให้ถึงความเจริญงอกงามในธรรม เป็นผู้ดำเนินอยู่ในแนวทางแห่งความปลอดพ้นจากทุกข์อย่างแน่นอนไม่ผิดพลาด — Apaṇṇaka-paṭipadā: sure course; sure practice; unimpeachable path)
1. อินทรียสังวร (การสำรวมอินทรีย์ คือระวังไม่ให้บาปอกุศลธรรมครอบงำใจ เมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง 6 — Indriya-saṃvara: control of the senses)
2. โภชเนมัตตัญญุตา (ความรู้จักประมาณในการบริโภค คือรู้จักพิจารณารับประทานอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายใช้ทำกิจให้ชีวิตผาสุก มิใช่เพื่อสนุกสนานมัวเมา — Bhojane-mattaññutā: moderation in eating)
3. ชาคริยานุโยค (การหมั่นประกอบความตื่น ไม่เห็นแก่นอน คือขยันหมั่นเพียร ตื่นตัวอยู่เป็นนิตย์ ชำระจิตมิให้มีนิวรณ์ พร้อมเสมอทุกเวลาที่จะปฏิบัติกิจให้ก้าวหน้าต่อไป — Jāgariyānuyoga: practice of wakefulness)
…………..
โดยสรุป “อินทรียสังวร” ก็คือ การควบคุมใจตัวเอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าใจตัวเองก็ยังไว้ใจไม่ได้
: ก็อย่าพึงไว้ใจใครง่ายๆ
#บาลีวันละคำ (4,028)
23-6-66
…………………………….
…………………………….