เอกเทศ (บาลีวันละคำ 4,029)
เอกเทศ
หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง
อ่านว่า เอก-กะ-เทด
ประกอบด้วยคำว่า เอก + เทศ
(๑) “เอก”
บาลีอ่านว่า เอ-กะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง ณฺวุ เป็น อก
: อิ > เอ + ณฺวุ = เอณฺวุ > เอก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ไปตามลำพัง” (คือไม่มีเพื่อนไปด้วย) (2) “ดำรงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวเพราะไร้ผู้เหมือนกัน”
“เอก” ในบาลีใช้ใน 2 สถานะ คือ :
(1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน”
(2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
“เอก” หมายถึง หนึ่ง, หนึ่งเดียว, ดีที่สุด
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เอก, เอก– : (คำวิเศษณ์) หนึ่ง (จำนวน); ชั้นที่ ๑ (ใช้เกี่ยวกับลำดับชั้น หรือขั้นของยศ ตำแหน่ง คุณภาพ หรือวิทยฐานะ สูงกว่า โท) เช่น ร้อยเอก ข้าราชการชั้นเอก ปริญญาเอก; เรียกเครื่องหมายวรรณยุกต์รูปดังนี้ ‘่’ ว่า ไม้เอก; ดีเลิศ เช่น กวีเอก, สำคัญ เช่น ตัวเอก; (คำโบราณ) (คำนาม) เรียกลูกหญิงคนที่ ๗ ว่า ลูกเอก, คู่กับลูกชายคนที่ ๗ ว่า ลูกเจ็ด. (คำที่ใช้ในกฎหมาย). (ป., ส.).”
(๒) “เทศ”
บาลีเป็น “เทส” อ่านว่า เท-สะ รากศัพท์มาจาก ทิส (ธาตุ = แสดง, ชี้แจง, ประกาศ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส)
: ทิสฺ + ณ = ทิสณ > ทิส > เทส แปลตามศัพท์ว่า “ที่แสดงให้รู้” “ที่ประกาศให้ปรากฏ” หมายถึง จุด, หัวข้อ, ส่วน, สถานที่, ภาค, ถิ่น, ประเทศ (point, part, place, region, spot, country)
“เทส” ในภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “เทศ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เทศ, เทศ-, เทศะ : (คำวิเศษณ์) ต่างประเทศ เช่น เครื่องเทศ ม้าเทศ. (คำนาม) ถิ่นที่, ท้องถิ่น, มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส.”
เอก + เทส = เอกเทส (เอ-กะ-เท-สะ) แปลว่า “ส่วนหนึ่ง” (ส่วนที่แยกออกมาจากส่วนอื่นๆ)
บาลี “เอกเทส” สันสกฤตเป็น “เอกเทศ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“เอกเทศ : (คำนาม) ส่วน, ภาค; a part, a portion or division.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เอกเทศ : (คำนาม) ส่วนหนึ่งต่างหาก, เฉพาะตัว, เฉพาะบุคคล, เช่น เขาแยกตัวไปทำงานเป็นเอกเทศ.”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าสังคมมีแต่คนทุเรศ
: แยกตัวเป็นเอกเทศก็ไม่เลว
#บาลีวันละคำ (4,029)
24-6-66
…………………………….
…………………………….