สังข์ (บาลีวันละคำ 4,031)
สังข์
คำสั้น แต่ความหมายยาว
อ่านว่า สัง
“สังข์” เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺข” อ่านว่า สัง-ขะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สํ (คำอุปสรรค แทนศัพท์ “สุฏฺฐุ” = ด้วยดี) + ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + กฺวิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ), ลบ นฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ
: สํ + ขนฺ = สํขนฺ + กฺวิ = สํขนฺกฺวิ > สงฺขนฺกฺวิ > สงฺขน > สงฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ขุดดินด้วยดี”
(2) สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ข ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต แล้วแปลงนิคหิตเป็น งฺ (สมฺ > สํ > สงฺ)
: สมฺ + ข = สมฺข > สํข > สงฺข แปลตามศัพท์ว่า “พืชที่สงบ”
“สงฺข” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) หอยสังข์; หอยมุก, หอยซึ่งใช้เป็นแตรเป่าได้ (a shell, conch; mother-of-pearl; a chank, commonly used as a trumpet) ตามรากศัพท์ในข้อ (1)
(2) สาหร่าย, แหน (a water plant) ตามรากศัพท์ในข้อ (2)
บาลี “สงฺข” สันสกฤตเป็น “ศงฺข”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศงฺข : (คำนาม) ‘ศังข์,’ หอยศังข์; ทรัพย์อันหนึ่งของท้าวกุเวร; ยุทธเภรี; แก้มช้าง; กวี; the conch shell; one of Kuvera’s treasures; a military drum; an elephant’s cheek; a poet.
บาลี “สงฺข” ในภาษาไทยใช้เป็น “สังข-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “สังข์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สังข-, สังข์ : (คำนาม) ชื่อหอยทะเลกาบเดี่ยวหลายชนิด เช่น สังข์รดน้ำหรือสังข์อินเดีย (Turbinella pyrumLamarck) ในวงศ์ Turbinellidae เปลือกสีขาว รูปทรงงดงาม ใช้สำหรับหลั่งน้ำพระพุทธมนต์หรือน้ำเทพมนตร์, สังข์แตร [Chalonia tritonis (Linn.)] ในวงศ์ Cymatiidae เปลือกมีสีและลวดลายสวยงาม ใช้เป่าในงานพิธีของชาวเกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้, ลักษณนามว่า ขอน เช่น สังข์ ๒ ขอน. (ป.; ส. ศงฺข).”
ขยายความ :
“สังข์” ในภาษาไทย เรารู้จักกันในความหมายเดียว คือ หอยสังข์ เช่นสังข์ที่พราหมณ์ใช้เป่าในพิธี หรือสังข์ที่ใช้สำหรับหลั่งน้ำพระพุทธมนต์หรือน้ำเทพมนตร์
แต่ในภาษาบาลี “สงฺข” ยังหมายถึง สาหร่ายหรือแหน อีกด้วย “สงฺข” ที่หมายถึงสาหร่ายหรือแหน ในบาลีมักมาคู่กับ “เสวาล” เป็น “สงฺขเสวาล” นักเรียนบาลีแปลกันว่า “สาหร่ายและจอกแหน”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เสวาล” ว่า the plant Blyxa octandra moss
พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ ซึ่งใช้พจนานุกรมบาลี-อังกฤษเป็นต้นฉบับ แปล “เสวาล” (the plant Blyxa octandra moss) เป็นไทยว่า สาหร่าย
ส่วน “สงฺข” ที่แปลตามศัพท์ว่า “พืชที่สงบ” (ดูข้อ (2) ข้างต้น) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า a water plant พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ แปลเป็นไทยว่า พืชน้ำ
นี่เป็นลีลาของบาลีซึ่งเป็นหน้าที่ของนักเรียนบาลีที่จะต้องทำความเข้าใจ เพื่อที่ว่าเมื่อไปเจอข้อความจริงๆ ในพระไตรปิฎกจะได้เข้าใจได้ว่าข้อความตอนนั้นกำลังพูดถึงเรื่องอะไร
คำว่า “สงฺข” ที่หมายถึง หอยสังข์ มีคำในพระไตรปิฎกที่ควรระลึกศึกษาอยู่ตอนหนึ่ง คือ –
…………..
นยิทํ สุกรํ อคารํ อชฺฌาวสตา เอกนฺตปริปุณฺณํ เอกนฺตปริสุทฺธํ สํขลิขิตํ พฺรหฺมจริยํ จริตุํ
การอยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียวให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวเหมือนสังข์ที่ขัดแล้ว ทำได้ไม่ง่ายนัก
ที่มา: สามัญญผลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 102
…………..
หมายความว่า การครองเพศบรรพชิตในพระพุทธศาสนาและปฏิบัติขัดเกลาตนเองจนบริสุทธิ์สะอาดถึงที่สุดนั้น ท่านเปรียบเหมือน “สํขลิขิต” = สังข์ที่ขัดแล้ว (the moral life, like a polished shell)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: จงประพฤติพรหมจรรย์ให้เหมือนสังข์ขัด
: อย่าประพฤติพรหมจรรย์ตามใจถนัด
…………………………….
ภาพประกอบ: จาก google
…………………………….
#บาลีวันละคำ (4,031)
26-6-66
…………………………….
…………………………….