บาลีวันละคำ

อานาปานสันติ (บาลีวันละคำ 4,034)

อานาปานสันติ

ไม่ใช่อุตริ

แต่เป็นแนวคิดสร้างสรรค์

อ่านว่า อา-นา-ปา-นะ-สัน-ติ

ประกอบด้วยคำว่า อานาปาน + สันติ

(๑) “อานาปาน” 

อ่านว่า อา-นา-ปา-นะ แยกศัพท์เป็น อาน + อปาน

(ก) “อาน” อ่านว่า อา-นะ รากศัพท์มาจาก อนฺ (ธาตุ = มีชีวิต) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(นฺ) เป็น อา (อนฺ > อาน)

: อนฺ + = อนฺณ > อน > อาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ลมเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายมีชีวิตอยู่” หมายถึง ลมหายใจออก, การหายใจออก (breathing out, exhalation)

(ข) “อปาน” อ่านว่า อะ-ปา-นะ รากศัพท์มาจาก อป (คำอุปสรรค = ปราศ, หลีก ในที่นี้ตัดมาจาก “อปคต” = ออกไป, นอกไปจาก) + อาน (ลมหายใจออก

: อป + อาน = อปาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ลมที่นอกจากลมหายใจออก” หมายถึง ลมหายใจเข้า, การหายใจเข้า (inhaled breath, inhalation)

อาน + อปาน = อานาปาน (อา-นา-ปา-นะ) แปลว่า การหายใจออกและการหายใจเข้า, การปล่อยลมหายใจออกและการสูดลมหายใจเข้า (exhaled & inhaled breath, respiration &

inspiration)

หมายเหตุ:

อาน” = ลมหายใจออก

อปาน” = ลมหายใจเข้า

เมื่อรวมกันเป็น “อานาปาน” จึงควรแปลว่า “ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า” หรือ “การหายใจออกและการหายใจเข้า”

แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อานาปาน” ว่า inhaled & exhaled breath, inspiration & respiration (การหายใจเข้าและหายใจออก, การสูดลมหายใจเข้าและการปล่อยลมหายใจออก) จึงเป็นคำแปลที่สลับคำ ไม่ตรงกับบาลี

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อานาปาน-, อานาปานะ : (คำนาม) ลมหายใจเข้าออก ในคําว่า อานาปานัสสติ. (ป., ส.).”

(๒) “สันติ” 

บาลีเขียน “สนฺติ” อ่านว่า สัน-ติ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ติ ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ (สมฺ > สน

: สมฺ + ติ = สมฺติ > สนฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่กิเลสสงบ” หมายถึง ความราบรื่น, ความสงบ (tranquillity, peace)

บาลี “สนฺติ” สันสกฤตเป็น “ศานฺติ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ศานฺติ : (คำนาม) ความสงบ; บรมสุข; tranquillity; felicity.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สันติ : (คำนาม) ความสงบ เช่น อยู่ร่วมกันโดยสันติ. (ป.; ส. ศานฺติ).”

ในทางธรรม “สันติ” หมายถึง นิพพาน

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “สันติ” ไว้ว่า –

สันติ : ความสงบ, ความระงับดับหายหมดไปแห่งความพลุ่งพล่านเร่าร้อนกระวนกระวาย, ภาวะเรียบรื่นไร้ความสับสนวุ่นวาย, ความระงับดับไปแห่งกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดความเร่าร้อนว้าวุ่นขุ่นมัว, เป็นไวพจน์หนึ่งของ นิพพาน.”

อานาปาน + สันติ = อานาปานสันติ (อา-นา-ปา-นะ-สัน-ติ) แปลให้ภาษาคล้อยตามธรรมว่า “ความสงบอันเกิดจากลมหายใจเข้าออก” (-ลมหายใจออก-เข้า) คือ ฝึกกำหนดลมหายใจออก-หายใจเข้า ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ จนเกิดความสงบขึ้นภายในใจ

ขยายความ :

อานาปานสันติ” ไม่มีในคัมภีร์ เป็นคำที่มีผู้คิดขึ้นใหม่ เข้าใจว่าคิดล้อคำว่า “อาปานสติ” อันเป็นคำที่มีใช้ในคัมภีร์

อาปานสติ” ในบาลีสะกดเป็น “อาปานสฺสติ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อานาปานัสสติ” ตามบาลี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อานาปานัสสติ : (คำนาม) สติที่กําหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

(1) อานาปานสติ : การมีสติกำกับดูรู้ลมหายใจเข้าออก (ข้อ ๙ ใน อนุสติ ๑๐, ข้อ ๑๐ ใน สัญญา ๑๐), เป็นบรรพที่ ๑ ของกายานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วย แต่มีชื่อเรียกให้สั้นว่า อานาปานบรรพ.

(2) อานาปานัสสติ : การมีสติทันดูรู้ลมหายใจเข้าออก (หนังสือเก่ามักเขียนอย่างนี้).

ที่แปล “อานาปานสันติ” ว่า “ความสงบอันเกิดจากลมหายใจเข้าออก” นั้น เป็นการแปลให้คล้อยตามธรรม กล่าวคือ กำหนดลมหายใจเป็นเหตุ ความสงบเป็นผล

แต่ผู้คิดคำว่า “อานาปานสันติ” ไม่ได้แปลอย่างนี้ หากแต่แปลว่า “สันติภาพทุกลมหายใจ” มีภาษาอังกฤษกำกับไว้ว่า Peace is every breath. หมายความว่า สันติภาพมีอยู่ทุกลมหายใจ แต่ตัวสันติภาพนั้นมาจากไหน อะไรทำให้เกิดสันติภาพ ไม่ได้เอ่ยถึง 

คำว่า “ทุกลมหายใจ” หมายถึง ตลอดเวลา ไม่มีเวลาว่างเว้น ความหมายนี้ตรงกับคำบาลีว่า อภิกฺขณํ อภิณฺหํ ปุนปฺปุนํ สพฺพทา 

ถ้าใช้ว่า “อภิกขณสันติ” (อะ-พิก-ขะ-นะ-สัน-ติ) หรือ “อภิณหสันติ” (อะ-พิน-หะ-สัน-ติ) ก็จะมีความหมายตรงกับ “สันติภาพทุกลมหายใจ” 

แต่เนื่องจากผู้คิดคำนี้ตั้งหลักไว้ที่ “อาปานสติ” และมีคำว่า “สันติภาพทุกลมหายใจ” อยู่แล้วในใจ “สติ” กับ “สันติ” เสียงใกล้กัน ชวนให้โยงถึงกันได้ จึงเอาคำว่า “สันติ” ไปแทนที่ “สติ” ได้อย่างกลมกลืน แล้วให้ความหมายใหม่ว่า “สันติภาพทุกลมหายใจ”

ความจริง “อาปานสติ” แปลว่า “สติกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก” คือ “ลมหายใจ” เป็นสิ่งที่ถูก “สติ” กำหนดรู้ ทำนองเดียวกับคำอื่นๆในชุดเดียวกัน เช่น –

“พุทธานุสติ” แปลว่า “สติตามกำหนดรู้คุณของพระพุทธเจ้า” นั่นคือ “คุณของพระพุทธเจ้า” เป็นสิ่งที่ถูก “สติ” กำหนดรู้ 

“สีลานุสติ” แปลว่า “สติตามกำหนดรู้ศีล” นั่นคือ “ศีล” เป็นสิ่งที่ถูก “สติ” กำหนดรู้ 

“เทวตานุสติ” แปลว่า “สติตามกำหนดรู้คุณธรรมของเทวดา” นั่นคือ “คุณธรรมของเทวดา” เป็นสิ่งที่ถูก “สติ” กำหนดรู้ 

ดังนั้น “อาปานสติ” จึงแปลว่า “สติกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก” คือ “ลมหายใจ” เป็นสิ่งที่ถูก “สติ” กำหนดรู้ ไม่ใช่แปลว่า “มีสติทุกลมหายใจ”

จะเห็นได้ว่า คุณของพระพุทธเจ้า ศีล คุณธรรมของเทวดา ลมหายใจ เป็นต้น เป็นอุปกรณ์ให้เกิด “สติ”

จึงไม่เหมือน “อานาปานสันติ” ที่ต้องการให้หมายถึง “สันติภาพทุกลมหายใจ” ซึ่งตามความหมายนี้ “ลมหายใจ” ไม่ได้เป็นเหตุหรือเป็นอุปกรณ์ให้เกิด “สันติ” เหมือน “อาปานสติ

สิ่งที่ควรระวังก็คือ “อานาปานสันติ” กับ “อาปานสติ” 2 คำนี้จะพูดหรือเขียนคำไหนก็ต้องให้ตรงกับความหมายที่ต้องการ

ต้องการจะหมายถึง “สติกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก” แต่ไปพูดหรือเขียนเป็น “อานาปานสันติ” ก็คลาดเคลื่อน

ต้องการจะหมายถึง “สันติภาพทุกลมหายใจ” แต่ไปพูดหรือเขียนเป็น “อานาปานสติ” ก็คลาดเคลื่อน

ดีไม่ดี อาจจะมีผู้ออกมาอธิบายว่า “อานาปานสันติ” กับ “อาปานสติ” มีความหมายเหมือนกัน ใช้คำไหนก็ได้ 

ถ้าเป็นแบบนี้ บาลีก็เป็นบาเลอะ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ใช้คำให้ถูก เป็นเรื่องสำคัญ

: ใช้คนให้ถูก ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ

#บาลีวันละคำ (4,034)

29-6-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *