บาลีวันละคำ

ธัมมานุสติ – 1 ในอนุสติ 10 (บาลีวันละคำ 4,036)

ธัมมานุสติ – 1 ในอนุสติ 10

ระลึกเนืองๆ ถึงคุณพระธรรม

อ่านว่า ทำ-มา-นุด-สะ-ติ

ประกอบด้วยคำว่า ธัมม + อนุสติ

(๑) “ธัมม” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ สรุปความหมายในแง่หนึ่งไว้ว่า “ธมฺม” หมายถึง –

(1) doctrine (คำสอน) 

(2) right or righteousness (สิทธิหรือความถูกต้อง) 

(3) condition (เงื่อนไข) 

(4) phenomenon (ปรากฏการณ์) 

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำว่า “ธมฺม” (Dhamma) เป็นอังกฤษไว้ดังนี้ –

1. the Dharma; the Dhamma; the Doctrine; the Teachings (of the Buddha). 

2. the Law; nature. 

3. the Truth; Ultimate Reality. 

4. the Supramundane, especially nibbāna. 

5. quality; righteousness; virtue; morality; good conduct; right behaviour. 

6. tradition; practice; principle; norm; rule; duty. 

7. justice; impartiality. 

8. thing; phenomenon. 

9. a cognizable object; mind-object; idea. 

10. mental state; mental factor; mental activities. 

11. condition; cause; causal antecedent.

สรุปความหมายของ “ธมฺม” ได้ดังต่อไปนี้ –

สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ คงเขียนตามรูปบาลีเป็น “ธัมม” ความหมายเน้นหนักตามข้อ (2) และ (3)

(๒) “อนุสติ

บาลีเป็น “อนุสฺสติ” (โปรดสังเกต 2 ตัว) อ่านว่า อะ-นุด-สะ-ติ ประกอบด้วย อนุ + สติ

(ก) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –

(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)

(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)

ความหมายของ “อนุ” ที่เข้าใจกันหมู่นักเรียนบาลี คือ น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ

(ข) “สติ” รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > )

: สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ระลึกได้” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้” (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท” 

สติ” หมายถึง ความระลึกได้, การจำได้, สติ; ความตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติถึงตนเอง (memory, recognition, consciousness, intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness)

อนุ + สติ ซ้อน สฺ : อนุ + สฺ + สติ = อนุสฺสติ แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกถึงเนืองๆ” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุสฺสติ” ว่า remembrance, recollection, thinking of, mindfulness (อนุสติ, ความระลึก, ความทรงจำ, ความคิด, ความตั้งใจ) (โปรดสังเกตคำแปลภาษาอังกฤษระหว่าง “สติ” กับ “อนุสฺสติ” บางคำตรงกัน)

ธมฺม + อนุสฺสติ = ธมฺมานุสฺสติ (ทำ-มา-นุด-สะ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกเนืองๆ ถึงคุณของพระธรรม” (recollection of the Dhamma; contemplation on the virtues of the Doctrine)

ธมฺมานุสฺสติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ธัมมานุสติ” (อนุสฺสติ ในบาลีตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง เป็น อนุสติ)

ธัมมานุสติ” เป็น 1 ในอนุสติ 10 คือ –

1. พุทธานุสติ = ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า

2. ธัมมานุสติ = ระลึกถึงคุณพระธรรม

3. สังฆานุสติ = ระลึกถึงคุณพระสงฆ์

4. สีลานุสติ = ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา

5. จาคานุสติ = ระลึกถึงความเผื่อแผ่เสียสละที่มีในตน

6. เทวตานุสติ = ระลึกถึงคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดา

7. มรณสติ = ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา

8. กายคตาสติ =  “สติอันไปในกาย” คือมีสติรู้เท่าทันสภาวะกายของตนมิให้หลงใหลมัวเมา

9. อานาปานสติ = สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

10. อุปสมานุสติ = ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือพระนิพพาน

คำว่า “ธัมมานุสติ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ธัมมานุสติ” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

ธัมมานุสติ : ระลึกถึงคุณของพระธรรม (ข้อ ๒ ในอนุสติ ๑๐) เขียนอย่างรูปเดิมในภาษาบาลีเป็น ธัมมานุสสติ

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [335] อนุสติ 10 แสดงความหมายของ “ธัมมานุสติ” ไว้ดังนี้ –

…………..

2. ธัมมานุสติ (ระลึกถึงพระธรรม คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระธรรม — Dhammānussati: recollection of the Dhamma; contemplation on the virtues of the Doctrine)

…………..

ขยายความ :

คุณของพระธรรมตามคำบาลีแสดงพระธรรมคุณ ว่าดังนี้ –

…………..

สฺวากฺขาโต  ภควตา  ธมฺโม  

สนฺทิฏฺฐิโก  อกาลิโก  เอหิปสฺสิโก  

โอปนยิโก  ปจฺจตฺตํ  เวทิตพฺโพ  วิญฺญูหีติ.

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค 

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111

…………..

แปลเป็นไทยโดยประสงค์ ดังนี้ –

สฺวากฺขาโต  ภควตา  ธมฺโม = พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว คือ ตรัสไว้เป็นความจริง ไม่วิปริต งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด

สนฺทิฏฺฐิโก = ผู้ได้บรรลุเห็นเองรู้เอง ประจักษ์แจ้งกับตนเอง

อกาลิโก = ไม่ประกอบด้วยกาล, ให้ผลไม่จำกัดกาล คือไม่ขึ้นกับกาลเวลา

เอหิปสฺสิโก = ควรเรียกให้มาดู คือเชิญชวนให้มาชม

โอปนยิโก = ควรน้อมเข้ามาไว้ในใจ หรือน้อมใจเข้าไปให้ถึง 

ปจฺจตฺตํ  เวทิตพฺโพ  วิญฺญูหิ = อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ผู้อื่นไม่พลอยตามรู้ตามเห็นด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยาดี แค่รู้สรรพคุณ โรคไม่หาย

ต้องกินต้องใช้ โรคจึงหาย

: พระธรรมเป็นของดี แค่จำได้อธิบายได้ ทุกข์ไม่หาย

ต้องปฏิบัติตาม ทุกข์จึงหาย

#บาลีวันละคำ (4,036)

1-7-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *