บาลีวันละคำ

วิถีชีวิต (บาลีวันละคำ 1,852)

วิถีชีวิต

ควรจะมีแบบที่ศรีวิไล ไม่ใช่ของใครของมัน

อ่านว่า วิ-ถี-ชี-วิด

แยกศัพท์เป็น วิถี + ชีวิต

(๑) “วิถี

บาลีเป็น “วีถิ” (โปรดสังเกต ไทยกับบาลีสลับสระกัน ไทย-วิถี บาลี-วีถิ) รากศัพท์มาจาก วี (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ถิ ปัจจัย

: วี + ถิ = วีถิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ดำเนินไป” หมายถึง ถนน, หนทาง, วิถี, ทางเดิน, รอยทาง (street, way, road, path, track)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิถี : (คำนาม) สาย, แนว, ถนน, ทาง, มักใช้ประกอบกับคำอื่น เช่น วิถีทาง วิถีชีวิต บาทวิถี. (ป., ส. วีถิ).”

(๒) “ชีวิต

บาลีอ่านว่า ชี-วิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ชีวฺ (ธาตุ = เป็นอยู่) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมหน้าปัจจัยท้ายธาตุ (ชีวฺ + อิ + )

: ชีวฺ + อิ + = ชีวิต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้เป็นอยู่ได้

ชีวิต” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ชีวิต (ของแต่ละคน), เวลาที่ชีวิตดำรงอยู่, ช่วงของชีวิต, การเป็นอยู่; การดำรงชีพ ([individual] life, lifetime, span of life; living, livelihood)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ชีวิต : (คำนาม) ความเป็นอยู่, ตรงข้ามกับ ความตาย. (ป., ส.).”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็น –

ชีวิต : (คำนาม) ความเป็น, ตรงข้ามกับ ความตาย. (ป., ส.).”

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ แก้เพียงคำเดียว คือคำว่า “ความเป็นอยู่” แก้เป็น “ความเป็น”

พจนานุกรม.42: ชีวิต = ความเป็นอยู่

พจนานุกรม.54: ชีวิต = ความเป็น

นั่นคือ พจนานุกรมฯ เห็นว่า “ความเป็นอยู่” กับ “ความเป็น” มีความหมายต่างกัน

น่าขบคิดว่า “ชีวิต” หมายถึง “ความเป็นอยู่” หรือหมายถึง “ความเป็น” หรือหมายถึงทั้งสองอย่าง

คำว่า “ชีวิต” คำแปลเป็นอังกฤษที่รู้จักกันดีที่สุดคือ life

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำว่า life ไว้ดังนี้ –

1. ชีวิต, วิถีแห่งชีวิต

2. การดำเนินชีวิต, สิ่งมีชีวิต, สัตว์, ผู้คน

3. ความกระปรี้กระเปร่า, ความแข็งแรง, ความกระตือรือร้น, จิตใจ

4. ตัวจริง, คนจริง ๆ

5. เรื่องราวแห่งชีวิต, ประวัติ

6. (จำคุก, เงินปี) ตลอดชีพ, ชั่วชีวิต

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล life เป็นบาลีดังนี้ –

(1) jīva ชีว (ชี-วะ) = สิ่งมีชีวิต

(2) jīvita ชีวิต (ชี-วิ-ตะ) = สิ่งที่ยังเป็นอยู่ (คือยังไม่ตาย), ความเป็นอยู่

(3) jīvanacarita ชีวนจริต (ชี-วะ-นะ-จะ-ริ-ตะ) = ความเป็นไปของสิ่งมีชีวิต

(4) jīvana ชีวน (ชี-วะ-นะ) = การดำรงชีพ, การหาเลี้ยงชีพ

วิถี + ชีวิต = วิถีชีวิต เอาคำบาลีมาประสมกันแบบคำไทย แปลจากหน้าไปหลัง

วิถีชีวิต” แปลตามศัพท์ว่า เส้นทางแห่งชีวิต, แบบของการดำเนินชีวิต, วิธีดำเนินชีวิตหรือวิธีดำรงชีวิต

…………..

อภิปราย :

ในภาษาอังกฤษมีคำที่รู้จักกันดีคำหนึ่ง คือ way of life

เข้าใจว่าคำว่า “วิถีชีวิต” น่าจะถอดเป็นคำไทยออกมาจาก way of life นี่เอง

วิถี = way

ชีวิต = life

way of life มีความหมายว่า ใครเห็นว่าอะไรดีสำหรับตน ก็นั่นแหละคือ “วิถีชีวิต” หรือ way of life ของเขา คือเขาก็จะดำเนินชีวิตไปตามแบบที่เขาเห็นว่าดี

โดยนัยนี้ “วิถีชีวิต” ของแต่ละคนก็ย่อมจะแตกต่างกันออกไป

คำถามคือ “อะไร” ที่แต่ละคนเห็นว่าดีนั้นเอาอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน

ในแง่นี้อาจพิจารณาโดยเทียบกับพุทธภาษิตในคัมภีร์พระธรรมบท ที่ว่า –

สารญฺจ สารโต ญตฺวา

อสารญฺจ อสารโต

เต สารํ อธิคจฺฉนฺติ

สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา.

ถอดความว่า –

สิ่งที่เป็นสาระ ก็รู้ว่าเป็นสาระ

สิ่งที่ไม่เป็นสาระ ก็รู้ว่าไม่เป็นสาระ

ใครที่คิดถูกต้องเช่นนี้

เขาย่อมประสบสิ่งที่เป็นสาระ

ก็คงต้องถามอีกว่า เป็นสาระ ไม่เป็นสาระ เอาอะไรเป็นเกณฑ์?

ตอบด้วยพุทธพจน์ว่า “สมาหิโต  ยถาภูตํ  ปชานาติ = ผู้มีจิตสงบนิ่งจะรู้ตามความเป็นจริง

ถอดความว่า –

ถ้ายังโลดแล่นไม่รู้จบ ก็คือยังไม่พบสาระของชีวิต

ถ้ารู้จักทำชีวิตให้สงบ ก็จะพบว่าอะไรเป็นสาระของชีวิต

หรือจะกล่าวเป็นคำสรุปก็ว่า – แค่สงบ ก็พบ way of life

น่าสังเกตว่า “สมาหิต” (สะ-มา-หิ-ตะ) แปลว่า “ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว” ก็คือผู้สงบ ความหมายตรงกับคำว่า “สมณะ” ซึ่งก็แปลว่า “ผู้สงบ” ดังนั้น วิถีชีวิตของสมณะ จึงคือ way of life ของผู้ที่พบสาระของชีวิตแล้ว

วิถีชีวิตของสมณะคืออะไร ก็ต้องยึดเอาพระธรรมวินัยเป็นคำตอบ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่รักษาวิถีชีวิตของสมณะ

: แม้จะครองเพศพระก็รักษาพระศาสนาไว้ไม่ได้

5-7-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย