บาลีวันละคำ

จาคานุสติ – 1 ในอนุสติ 10 (บาลีวันละคำ 4,039)

จาคานุสติ – 1 ในอนุสติ 10

ระลึกเนืองๆ ถึงความเผื่อแผ่เสียสละ

อ่านว่า จา-คา-นุด-สะ-ติ

ประกอบด้วย จาค + อนุสติ

(๑) “จาค” 

อ่านว่า จา-คะ รากศัพท์มาจาก จชฺ (ธาตุ = สละ, ละ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (จชฺ > จาช), แปลง ที่สุดธาตเป็น (จชฺ > จค)

: จชฺ + = จชณ > จช > จาช > จาค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การสละ

จาค” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การทิ้ง, การสละ, การยอมให้ (abandoning, giving up, renunciation)

(2) ความมีใจกว้าง, ความเผื่อแผ่อารี, ความมีใจใหญ่ใจโต (liberality, generosity, munificence); 

(3) เผื่อแผ่อารี, มีใจคอกว้างขวาง (generous, munificent)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

จาคะ : (คำนาม) การสละ, การให้ปัน. (ป.; ส. ตฺยาค).”

จาค” ในบาลี เป็น “ตฺยาค” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ตฺยาค : (คำนาม) ‘ตยาค,’ ทาน, การให้หรือบริจาค; การสละ, การทิ้ง, การเริดร้าง, การจากไป, การพลัดพราก, ฯลฯ; gift, donation or giving; abandoning, leaving, deserting, parting from, separation, &c.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “จาค” ไว้ว่า –

จาค : การสละ, การเสียสละ, การทำให้หมดไปจากตน, การให้หรือยอมให้หรือปล่อยสละละวาง ที่จะทำให้หมดความยึดติดถือมั่นตัวตน หรือลดสลายความมีใจคับแคบหวงแหน, การเปิดใจกว้างมีน้ำใจ, การสละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ, การสละกิเลส (ข้อ ๔ ในฆราวาสธรรม ๔, ข้อ ๓ ในอธิษฐานธรรม ๔, ข้อ ๖ ในอริยทรัพย์ ๗)

……………

(๒) “อนุสติ

บาลีเป็น “อนุสฺสติ” (โปรดสังเกต 2 ตัว) อ่านว่า อะ-นุด-สะ-ติ ประกอบด้วย อนุ + สติ

(ก) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –

(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)

(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)

ความหมายของ “อนุ” ที่เข้าใจกันหมู่นักเรียนบาลี คือ น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ

(ข) “สติ” รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > )

: สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ระลึกได้” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้” (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท” 

สติ” หมายถึง ความระลึกได้, การจำได้, สติ; ความตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติถึงตนเอง (memory, recognition, consciousness, intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness)

อนุ + สติ ซ้อน สฺ : อนุ + สฺ + สติ = อนุสฺสติ แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกถึงเนืองๆ” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุสฺสติ” ว่า remembrance, recollection, thinking of, mindfulness (อนุสติ, ความระลึก, ความทรงจำ, ความคิด, ความตั้งใจ) (โปรดสังเกตคำแปลภาษาอังกฤษระหว่าง “สติ” กับ “อนุสฺสติ” บางคำตรงกัน)

จาค + อนุสฺสติ = จาคานุสฺสติ (จา-คา-นุด-สะ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกเนืองๆ ถึงความเผื่อแผ่เสียสละ” (recollection of liberality; contemplation on one’s own liberality)

จาคานุสฺสติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “จาคานุสติ” (อนุสฺสติ ในบาลีตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง เป็น อนุสติ)

จาคานุสติ” เป็น 1 ในอนุสติ 10 คือ –

1. พุทธานุสติ = ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า

2. ธัมมานุสติ = ระลึกถึงคุณพระธรรม

3. สังฆานุสติ = ระลึกถึงคุณพระสงฆ์

4. สีลานุสติ = ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา

5. จาคานุสติ = ระลึกถึงความเผื่อแผ่เสียสละที่มีในตน

6. เทวตานุสติ = ระลึกถึงคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดา

7. มรณสติ = ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา

8. กายคตาสติ =  “สติอันไปในกาย” คือมีสติรู้เท่าทันสภาวะกายของตนมิให้หลงใหลมัวเมา

9. อานาปานสติ = สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

10. อุปสมานุสติ = ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือพระนิพพาน

คำว่า “จาคานุสติ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “จาคานุสติ” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

จาคานุสติ : ระลึกถึงการบริจาค คือระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นจาคธรรมที่มีในตน.

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [335] อนุสติ 10 แสดงความหมายของ “จาคานุสติ” ไว้ดังนี้ –

…………..

5. จาคานุสติ (ระลึกถึงการบริจาค คือ น้อมจิตระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นคุณธรรมคือความเผื่อแผ่เสียสละนี้ที่มีในตน — Cāgānussati: recollection of liberality; contemplation on one’s own liberality)

…………..

ขยายความ :

วิธีเจริญจาคานุสติ กล่าวคือหมั่นระลึกถึงความเผื่อแผ่เสียสละที่ตนได้ทำลงไปนั้น ถ้าไม่เคยเผื่อแผ่เสียสละมาก่อนก็เจริญอนุสติข้อนี้ไม่ได้ ดังนั้น เบื้องต้นต้องได้ประพฤติการอันเป็นความเผื่อแผ่เสียสละมาแล้ว ครั้นแล้วจึงยกเอาความเผื่อแผ่เสียสละที่ได้ทำด้วยใจบริสุทธิ์นั้นขึ้นมาพิจารณา

แนวนึกคิดพิจารณานั้น ท่านแนะให้ระลึกดังนี้ –

…………..

ลาภา  วต  เม = เป็นลาภของเราหนอ 

(ตรงกับคำที่นิยมพูดกันว่า-เรานี่โชคดีจริงๆ)

สุลทฺธํ  วต  เม = เราได้ดีแล้วหนอ

คือโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา-ที่สอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน และเราก็ได้ลงมือประพฤติตามแล้ว

โยหํ  มจฺเฉรมลปริยุฏฺฐิตาย  ปชาย  

วิคตมลมจฺเฉเรน  เจตสา  วิหรามิ  

กล่าวคือ เมื่อคนทั่วไปถูกความตระหนี่กลุ้มรุมจิตใจเลอะเทอะอยู่ 

เรามามีใจสะอาดปราศจากความตระหนี่มาทำให้เลอะเทอะ

มุตฺตจาโค = มีการสละปล่อยเลย 

คือไม่เสียดาย อาลัย หรือหวังผลตอบแทน

ปยตปาณิ = มีมือสะอาด 

หมายความว่า กิริยาสามัญของการสละให้ก็คือใช้มือหยิบจับสิ่งของแล้วยกยื่นให้ ดังนั้น มือของผู้ให้จึงต้องสะอาดเสมอ คือพร้อมตลอดเวลาที่จะหยิบของให้ทาน

โวสฺสคฺครโต = ยินดีในการเสียสละ

คือพอใจที่จะให้โดยไม่เบื่อหน่าย มีแต่จะให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

ยาจโยโค = ควรแก่การขอ 

คือมีบุคลิกชวนให้คนอื่นกล้าที่จะเอ่ยปากขอ และเมื่อขอแล้วก็ไม่ผิดหวัง

ทานสํวิภาครโต = พอใจในการให้และการแบ่ง 

คือ ของที่เตรียมไว้สำหรับให้โดยเฉพาะ ก็พอใจยินดี ของที่ตั้งใจเก็บไว้กินไว้ใช้เอง แต่ตัดใจแบ่งให้คนอื่นบ้าง ก็พอใจยินดี

…………..

เมื่อได้เผื่อแผ่เสียสละอยู่เสมอแล้วระลึกขึ้นมา จิตใจก็ผ่องแผ้วเอิบอิ่ม เป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิและก้าวหน้าไปในการปฏิบัติธรรมสูงๆ ขึ้นไป

…………..

แถม :

ศึกษาเพิ่มเติมจาก ฉอนุสสตินิทเทส วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 285-287

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ให้ เบา

: เอา หนัก

#บาลีวันละคำ (4,039)

4-7-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *