เทวตานุสติ – 1 ในอนุสติ 10 (บาลีวันละคำ 4,040)
เทวตานุสติ – 1 ในอนุสติ 10
ระลึกเนืองๆ ถึงคุณธรรมอันทำให้เป็นเทวดา
อ่านว่า เท-วะ-ตา-นุด-สะ-ติ
ประกอบด้วย เทวตา + อนุสติ
(๑) “เทวตา” (เท-วะ-ตา)
รากศัพท์มาจาก เทว (เทพ, เทวดา) + ตา ปัจจัย : เทว + ตา = เทวตา แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นเทวดา” (condition or state of a deva) หมายถึง เทพเจ้า; เทพยดา, พระเจ้า, นางฟ้า (divinity; divine being, deity, fairy)
บาลี “เทวตา” สันสกฤตก็เป็น “เทวตา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“เทวตา : (คำนาม) ‘เทวดา, เทพตา,’ อมานุษ, ผู้เปนทิพย์, อมร; a god, a deity or divine being, a divinity.”
บาลี “เทวตา” ในภาษาไทยใช้เป็น “เทวดา” (บาลี –ตา ต เต่า ไทย –ดา ด เด็ก)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เทวดา : (คำนาม) ชาวสวรรค์มีกายทิพย์ ตาทิพย์ หูทิพย์ และกินอาหารทิพย์ เป็นโอปปาติกะ. (ป., ส. เทวตา).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “เทวดา” บอกไว้ดังนี้ –
“เทวดา : หมู่เทพ, ชาวสวรรค์ เป็นคำรวมเรียกชาวสวรรค์ทั้งเพศชายและเพศหญิง.”
(๒) “อนุสติ”
บาลีเป็น “อนุสฺสติ” (โปรดสังเกต ส 2 ตัว) อ่านว่า อะ-นุด-สะ-ติ ประกอบด้วย อนุ + สติ
(ก) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –
(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)
(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)
ความหมายของ “อนุ” ที่เข้าใจกันหมู่นักเรียนบาลี คือ น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ
(ข) “สติ” รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > ส)
: สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ระลึกได้” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้” (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท”
“สติ” หมายถึง ความระลึกได้, การจำได้, สติ; ความตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติถึงตนเอง (memory, recognition, consciousness, intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness)
อนุ + สติ ซ้อน สฺ : อนุ + สฺ + สติ = อนุสฺสติ แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกถึงเนืองๆ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุสฺสติ” ว่า remembrance, recollection, thinking of, mindfulness (อนุสติ, ความระลึก, ความทรงจำ, ความคิด, ความตั้งใจ) (โปรดสังเกตคำแปลภาษาอังกฤษระหว่าง “สติ” กับ “อนุสฺสติ” บางคำตรงกัน)
เทวตา + อนุสฺสติ = เทวตานุสฺสติ (เท-วะ-ตา-นุด-สะ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกเนืองๆ ถึงคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดา” (recollection of deities; contemplation on the virtues which make people become gods)
“เทวตานุสฺสติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เทวตานุสติ” (อนุสฺสติ ในบาลีตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง เป็น อนุสติ)
“เทวตานุสติ” เป็น 1 ในอนุสติ 10 คือ –
1. พุทธานุสติ = ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า
2. ธัมมานุสติ = ระลึกถึงคุณพระธรรม
3. สังฆานุสติ = ระลึกถึงคุณพระสงฆ์
4. สีลานุสติ = ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา
5. จาคานุสติ = ระลึกถึงความเผื่อแผ่เสียสละที่มีในตน
6. เทวตานุสติ = ระลึกถึงคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดา
7. มรณสติ = ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา
8. กายคตาสติ = “สติอันไปในกาย” คือมีสติรู้เท่าทันสภาวะกายของตนมิให้หลงใหลมัวเมา
9. อานาปานสติ = สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
10. อุปสมานุสติ = ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือพระนิพพาน
คำว่า “เทวตานุสติ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “เทวตานุสติ” บอกไว้ดังนี้ –
…………..
เทวตานุสติ : ระลึกถึงเทวดา คือระลึกถึงคุณธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดาตามที่มีอยู่ในตน (ข้อ ๖ ในอนุสติ ๑๐).
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [335] อนุสติ 10 แสดงความหมายของ “เทวตานุสติ” ไว้ดังนี้ –
…………..
6. เทวตานุสติ (ระลึกถึงเทวดา คือ น้อมจิตระลึกถึงเทวดาทั้งหลายที่ตนเคยรู้ และพิจารณาเห็นคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดานั้นๆ ตามที่มีอยู่ในตน — Devatānussati: recollection of deities; contemplation on the virtues which make people become gods as can be found in oneself)
…………..
ขยายความ :
คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายความไว้ว่า –
…………..
เทวตานุสฺสตึ ภาเวตุกาเมน ปน อริยมคฺควเสน สมุทาคเตหิ สทฺธาทีหิ คุเณหิ สมนฺนาคเตน ภวิตพฺพํ
ผู้ปรารถนาจะเจริญเทวตานุสติต้องเป็นผู้ประกอบด้วยคุณทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้น อันเกิดขึ้นมาอย่างดีด้วยอำนาจอริยมรรค
…………..
ขอนำสำนวนแปลเรื่องวิธีเจริญเทวตานุสติ ของท่าน นาวาอากาศเอก เมฆ อำไพจริต ผู้สอบเปรียญธรรม 9 ประโยคด้วยวิธีสอบข้อเขียนได้เป็นคนแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ มาเสนอไว้ในที่นี้ เพื่อให้ได้ลองลิ้มอรรถรสของภาษาโดยทั่วกัน ดังนี้ –
…………..
พระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญเทวตานุสติ … พึงไปในที่ลับคน เร้นอยู่ในเสนาสนะอันสมควร แล้วตั้งเทวดาไว้ในฐานะแห่งพยาน ระลึกถึงคุณมีศรัทธาเป็นต้นของตนอย่างนี้ว่า
เทวดาเหล่าจาตุมหาราชิกามีอยู่
เทวดาเหล่าดาวดึงส์ เหล่ายามา เหล่าดุสิต เหล่านิมมานรดี เหล่าปรนิมมิตวสวัตตี ก็มีอยู่
เทวดาจำพวกรูปพรหมมีอยู่
เทวดาที่ชั้นสูงกว่าจำพวกรูปพรหมนั้นก็มีอยู่
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาอย่างใด จุติจากภพนี้แล้วไปเกิดในภพนั้นๆ ศรัทธาอย่างนั้นแม้ของเราก็มีอยู่
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลอย่างใด สุตะอย่างใด จาคะอย่างใด ปัญญาอย่างใด จุติจากภพนี้แล้วไปเกิดในภพนั้นๆ ศีลอย่างนั้น สุตะอย่างนั้น จาคะอย่างนั้น ปัญญาอย่างนั้น แม้ของเราก็มีอยู่ ดังนี้
เมื่อพระโยคาวจรนั้นระลึกถึงคุณของเทวดาทั้งหลายในเบื้องแรกแล้ว ระลึกถึงคุณมีศรัทธาเป็นต้นที่ตนมีอยู่ในเบื้องปลายนั่นแล ในสมัยนั้นจิตของเธอไม่เป็นจิตที่ราคะกลุ้มรุม ไม่เป็นจิตที่โทสะกลุ้มรุม ไม่เป็นจิตที่โมหะกลุ้มรุมเลยทีเดียว
ในสมัยนั้นจิตของเธอย่อมดำเนินไปตรงแน่วปรารภเทวดาแล องค์ฌานทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นในขณะเดียวกันแก่เธอผู้ข่มนิวรณ์ได้แล้ว …
ที่มา:
วิสุทธิมรรค ภาค 1 ตอนอธิบายเทวตานุสติ หน้า 287-289
วิสุทธิมรรคแปล ภาค 1 ตอน 2 หน้า 316-317
…………..
เป็นอันว่า เจริญเทวตานุสติอย่างถูกวิธี ย่อมสามารถบรรลุธรรมได้ถึงระดับฌานทีเดียว
อนึ่ง พึงเข้าใจให้ถูกต้องว่า “เทวตานุสติ” การระลึกถึงเทวดา หมายถึงระลึกถึงคุณธรรมที่เมื่อบุคคลประพฤติปฏิบัติแล้วเป็นเหตุให้ไปเกิดเป็นเทวดา
ไม่ได้หมายถึงระลึกถึงเทวดาหรือเทพในศาสนาต่างๆ แล้วทำพิธีเซ่นสรวงบูชาเพื่อให้เทพเหล่านั้นมาช่วยอำนวยพรให้ประสบความสุขความเจริญ ดังที่บางท่านเข้าใจและประพฤติกันอยู่ แล้วอ้างว่า นี่แหละคือเทวตานุสติที่พระพุทธเจ้าสอน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ดอกไม้ที่ได้มาเพราะเอื้อมมือไปเด็ด
: น่าภูมิใจกว่าเพชรที่ได้มาเพราะเทวดาบันดาล
#บาลีวันละคำ (4,040)
5-7-66
…………………………….
…………………………….