บาลีวันละคำ

มรณสติ – 1 ในอนุสติ 10 (บาลีวันละคำ 4,041)

มรณสติ – 1 ในอนุสติ 10

ระลึกถึงความตาย

อ่านว่า มะ-ระ-นะ-สะ-ติ

ประกอบด้วย มรณ + สติ

(๑) “มรณ” 

บาลีอ่านว่า มะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: มรฺ + ยุ > อน = มรน > มรณ แปลตามศัพท์ว่า “ความตาย” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มรณ” ว่า death, as ending this [visible] existence, physical death; dying (ความตาย, ในฐานสิ้นชีวิต [ที่เห็นได้] นี้, ความตายทางกาย; การถึงแก่กรรม)

มรณ” ในภาษาไทยใช้เป็น “มรณ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “มรณ์” และ “มรณะ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

มรณ-, มรณ์, มรณะ : (คำนาม) ความตาย, การตาย. (ป., ส.). (คำกริยา) ตาย.”

(๒) “สติ

อ่านว่า สะ-ติ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > )

: สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ระลึกได้” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้” (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท” 

สติ” หมายถึง ความระลึกได้, การจำได้, สติ; ความตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติถึงตนเอง (memory, recognition, consciousness, intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness) 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

สติ : ความระลึกได้, นึกได้, ความไม่เผลอ, การคุมใจไว้กับกิจ หรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง, จำการที่ทำและคำที่พูดแล้ว แม้นานได้ (ข้อ ๑ ในธรรมมีอุปการะมาก ๒, ข้อ ๑ ในโพชฌงค์ ๗, ข้อ ๓ ในอินทรีย์ ๕, ข้อ ๓ ในพละ ๕, ข้อ ๖ ในสัทธรรม ๗, ข้อ ๙ ในนาถกรณธรรม ๑๐).”

บาลี “สติ” สันสกฤตเป็น “สฺมฤติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สฺมฤติ : (คำนาม) ‘สมฤดี,’ ความระลึก, ความจำ; กฎหมาย; หนังสือกฎหมาย; ธรรมศาสตร์; ความปรารถนา, ความใคร่; มติ, ความเข้าใจ; recollection; memory; law; a law book; code of laws; wish, desire; understanding.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สติ” ตามบาลี “สมฤดี” (สม-รึ-ดี) และ “สมฤๅดี” (สม-รือ-ดี) ตามสันสกฤต บอกไว้ดังนี้ – 

(1) สติ : (คำนาม) ความรู้สึก, ความรู้สึกตัว, เช่น ได้สติ ฟื้นคืนสติ สิ้นสติ, ความรู้สึกผิดชอบ เช่น มีสติ ไร้สติ, ความระลึกได้ เช่น ตั้งสติ กำหนดสติ. (ป.; ส. สฺมฺฤติ).

(2) สมฤดี, สมฤๅดี : (คำนาม) ความรู้สึกตัว, ใช้เป็น สมปฤดี สมปฤๅดี หรือ สมประดี ก็มี. (ส. สฺมฤติ; ป. สติ).

มรณ + สติ ซ้อน สฺ (มรณ + สฺ + สติ)

: มรณ + สฺ + สติ = มรณสฺสติ (มะ-ระ-นัด-สะ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกถึงความตาย” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มรณสติ” ว่า the thought [or mindfulness] of death, meditation on death (การระลึกถึง [หรือการมีสติถึง] ความตาย, มรณสติ)

…………..

อนึ่ง พึงทราบว่า คำว่า “มรณสฺสติ” นี้ ท่านใช้เป็น “มรณานุสฺสติ” ด้วย 

มรณานุสฺสติ” ประกอบด้วย มรณ + อนุสติ

(๑) “มรณ” ดูข้างต้น

(๒) “อนุสติ” บาลีเป็น “อนุสฺสติ” (โปรดสังเกต 2 ตัว) อ่านว่า อะ-นุด-สะ-ติ ประกอบด้วย อนุ + สติ

(ก) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –

(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)

(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)

ความหมายของ “อนุ” ที่เข้าใจกันหมู่นักเรียนบาลี คือ น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ

(ข) “สติ” รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > )

: สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ระลึกได้” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้” (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท” 

อนุ + สติ ซ้อน สฺ : อนุ + สฺ + สติ = อนุสฺสติ แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกถึงเนืองๆ” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุสฺสติ” ว่า remembrance, recollection, thinking of, mindfulness (อนุสติ, ความระลึก, ความทรงจำ, ความคิด, ความตั้งใจ) (โปรดสังเกตคำแปลภาษาอังกฤษระหว่าง “สติ” กับ “อนุสฺสติ” บางคำตรงกัน)

มรณ + อนุสฺสติ = มรณานุสฺสติ (มะ-ระ-นา-นุด-สะ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกเนืองๆ ถึงความตาย” 

สรุปว่า คำนี้ใช้เป็น “มรณสฺสติ” ก็มี ใช้เป็น “มรณานุสฺสติ” ก็มี กล่าวตามสำนวนบาลีว่า “ต่างกันโดยพยัญชนะ เหมือนกันโดยอรรถ” คือ ใช้คำต่างกัน แต่ความหมายเหมือนกัน

ในที่นี้ใช้เป็น “มรณสฺสติ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มรณสฺสติ” ว่า the thought [or mindfulness] of death, meditation on death (การระลึกถึง [หรือการมีสติถึง] ความตาย, มรณัสสติ)

มรณสฺสติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “มรณสติ” 

มรณสติ” เป็น 1 ในอนุสติ 10 คือ –

1. พุทธานุสติ = ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า

2. ธัมมานุสติ = ระลึกถึงคุณพระธรรม

3. สังฆานุสติ = ระลึกถึงคุณพระสงฆ์

4. สีลานุสติ = ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา

5. จาคานุสติ = ระลึกถึงความเผื่อแผ่เสียสละที่มีในตน

6. เทวตานุสติ = ระลึกถึงคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดา

7. มรณสติ = ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา

8. กายคตาสติ =  “สติอันไปในกาย” คือมีสติรู้เท่าทันสภาวะกายของตนมิให้หลงใหลมัวเมา

9. อานาปานสติ = สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

10. อุปสมานุสติ = ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือพระนิพพาน

คำว่า “มรณสติ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “มรณสติ” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

มรณสติ : ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาให้ใจสงบจากอกุศลธรรม เกิดความไม่ประมาทและไม่หวาดกลัว คิดเร่งขวนขวายบำเพ็ญกิจและทำความดี (ข้อ ๗ ในอนุสติ ๑๐)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [335] อนุสติ 10 แสดงความหมายของ “มรณสติ” ไว้ดังนี้ –

…………..

7. มรณสติ (ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาที่จะให้เกิดความไม่ประมาท — Maraṇassati: mindfulness of death; contemplation on death)

…………..

ขยายความ :

วิธีเจริญมรณสติ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคท่านแสดงไว้หลายนัย ขอนำมาเสนอในที่นี้ 2 นัย ดังนี้ –

(๑) พิจารณาความตายว่าเป็นสิ่งที่ “ไม่มีนิมิต” คือรู้ล่วงหน้าไม่ได้ใน 5 เรื่อง คือ

ชีวิตํ  พฺยาธิ  กาโล  จ

เทหนิกฺเขปนํ  คติ

ปญฺเจเต  ชีวโลกสฺมึ

อนิมิตฺตา  น  นายเร.

(1) ตายเมื่ออายุเท่าไร

(2) ตายด้วยสาเหตุอะไร

(3) ตายเวลาไหน

(4) ตายที่ไหน

(5) ตายแล้วไปไหน

5 เรื่องนี้บอกล่วงหน้าไม่ได้ รู้ไม่ได้ (บอกได้แต่ว่าตายแน่)

ที่มา: อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส วิสุทธิมรรค ภาค 2 หน้า 10

…………..

(๒) พิจารณาชีวิตกับความตายโดยอุปมา 7 ข้อ

(1) อุสฺสาวพินฺทูปมํ = ชีวิตเหมือนหยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า พอต้องแสงอาทิตย์ก็พลันเหือดไป

(2) อุทกพุพฺพุลูปมํ = ชีวิตเหมือนฟองน้ำ ประเดี๋ยวก็แตก

(3) อุทเก  ทณฺฑราชูปมํ = ชีวิตเหมือนรอยไม้ขีดน้ำ ประเดี๋ยวก็หาย

(4) นทีปพฺพเตยฺยูปมํ = ชีวิตเหมือนธารน้ำหลั่งลงมาจากภูเขา มีแต่ไหลไปท่าเดียว 

(5) ชิวฺหคฺเค  เขฬปิณฺฑูปมํ = ชีวิตเหมือนน้ำลายที่ปลายลิ้น ถุยออกไปได้ทันที

(5) ทิวสสนฺตตฺเต  อโยกฏาเห  มํสเปสูปมํ = ชีวิตเหมือนชิ้นเนื้อทอดในกระทะเหล็กร้อนจัด ก็ไหม้โดยเร็ว

(7) คาวีวชฺฌูปมํ = ชีวิตเหมือนโคที่เขาจะฆ่า เขาจูงเดินไปก็ใกล้คนฆ่าและใกล้ที่ฆ่าเข้าไปทุกที

ที่มา: สัตตกนิบาต อุงคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 71

…………..

แถม :

ศึกษา “มรณสติ” เพิ่มเติมจาก อนุสสติกัมมัฏฺฐานนิทเทส วิสุทธิมรรค ภาค 2 หน้า 1-14

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เตรียมตัวตายตั้งแต่ยังหนุ่มสาว คือคนฉลาด

: แน่ใจหรือว่าท่านมีโอกาสไปเตรียมเอาเมื่อแก่?

#บาลีวันละคำ (4,041)

6-7-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *