ทักษิณาวรรต – อุตราวรรต (บาลีวันละคำ 1,952)
ทักษิณาวรรต – อุตราวรรต
เวียนขวา – เวียนซ้าย
อ่านว่า ทัก-สิ-นา-วัด / อุด-ตะ-รา-วัด
“ทักษิณาวรรต” บาลีเป็น “ทกฺขิณาวฏฺฏ” (ทัก-ขิ-นา-วัด-ตะ) แยกศัพท์เป็น ทกฺขิณ + อาวฏฺฏ
“อุตราวรรต” บาลีเป็น “อุตฺตราวฏฺฏ” (อุด-ตะ-รา-วัด-ตะ) แยกศัพท์เป็น อุตฺตร + อาวฏฺฏ
เป็นอันว่ามีศัพท์อยู่ 3 คำ คือ “ทกฺขิณ” “อุตฺตร” และ “อาวฏฺฏ”
(๑) “ทกฺขิณ” (ทัก-ขิ-นะ) รากศัพท์มาจาก ทกฺขฺ (ธาตุ = เจริญ, รุ่งเรือง; ว่องไว, ฉลาด, ขยัน) + อิณ ปัจจัย
: ทกฺขฺ + อิณ = ทกฺขิณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเจริญ” “สิ่งอันว่องไว”
“ทกฺขิณ” (คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ขวา, มีการเจือปนด้วยความมีฤกษ์ดี, มีโชคดี และความเด่น (right, with a tinge of the auspicious, lucky & prominent)
(2) มีความสันทัด, ได้รับการฝึกฝนดี (skilled, well-trained)
(3) ทิศที่อยู่ด้านขวามือเมื่อหันหน้าไปทางที่ดวงอาทิตย์ขึ้น คือทางทิศใต้ (southern)
“ทกฺขิณ” ภาษาไทยนิยมใช้เป็น “ทักษิณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทักษิณ : (คำนาม) ทิศใต้ ใช้ว่า ทิศทักษิณ. (คำวิเศษณ์) ใต้; ข้างขวา เช่น ฝ่ายทักษิณ. (ส.; ป. ทกฺขิณ).”
เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์มักถนัดมือขวา และในการหาทิศตามธรรมชาติเราใช้วิธีหันหน้าไปทางดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้น ด้านหน้าเป็นทิศตะวันออก ด้านมือขวาเป็นทิศใต้ คำว่า “ทกฺขิณ” ซึ่งแต่เดิมหมายถึงมือข้างที่ถนัด จึงหมายถึง “ทิศใต้” ไปโดยปริยาย
(๒) “อุตฺตร” (อุด-ตะ-ระ) รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ตรฺ (ธาตุ = ข้าม) + อ ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + ตฺ + ตรฺ)
: อุ + ตฺ + ตรฺ = อุตฺตรฺ + อ = อุตฺตร แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันเป็นที่ข้ามขึ้น”
“อุตฺตร” (คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) สูงกว่า, ดีกว่า, ยอดกว่า, เหนือกว่า (higher, high, superior, upper)
(2) ทางทิศเหนือ (northern)
(3) ภายหลัง, หลังจาก, รองลงมา (subsequent, following, second)
(4) เกินกว่า, เหนือไปกว่า (over, beyond)
“อุตฺตร” ภาษาไทยนิยมใช้เป็น “อุดร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุดร : (คำนาม) ทิศเหนือ ใช้ว่า ทิศอุดร; ข้างซ้าย. (ป., ส. อุตฺตร).”
(๓) “อาวฏฺฏ” (อา-วัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + วฏฺฏฺ (ธาตุ = หมุน, เวียน) + อ ปัจจัย
: อา + วฏฺฏ = อาวฏฺฏฺ + อ = อาวฏฺฏ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่หมุนวน”
“อาวฏฺฏ” (ปุงลิงค์; คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) หมุนกลับ, วกเวียน, คดเคี้ยว (turning round, winding, twisting)
(2) หมุน, นำกลับมา, เปลี่ยนแปลง, ล่อลวง (turned, brought round, changed, enticed)
(3) อากาศวนหรือน้ำวน, ความวนเวียน (an eddy, whirlpool, vortex)
(4) วงกลม, เส้นรอบวง (circumference)
“อาวฏฺฏ” ในภาษาไทย ถ้าเขียนตามหลักนิยมก็ควรเป็น “อาวัฏ” แต่คำนี้ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ มีแต่คำว่า “วัฏ” และ “วัฏฏะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วัฏ-, วัฏฏะ : (คำแบบ) (คำนาม) วงกลม; การหมุน, การเวียนไป, รอบแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย. (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) กลม, เป็นวง. (ป.; ส. วฺฤตฺต).”
การประสมคำ และการสะกดในภาษาไทย :
ทกฺขิณ + อาวฏฺฏ = ทกฺขิณาวฏฺฏ แปลว่า “วนไปทางขวา”
อุตฺตร + อาวฏฺฏ = อุตฺตราวฏฺฏ แปลว่า “วนไปทางซ้าย”
“ทกฺขิณาวฏฺฏ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทักขิณาวัฏ” (ทัก-ขิ-นา-วัด) และใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทักษิณาวรรต”
“อุตฺตราวฏฺฏ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุตราวัฏ” (อุด-ตะ-รา-วัด) และใช้อิงสันสกฤตเป็น “อุตราวรรต”
ขอนำความหมายคำว่า “ทักษิณาวรรต” และ “อุตราวรรต” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มาเสนอไว้ดังนี้ –
(1) ทักษิณาวรรต : (คำนาม) การเวียนขวา. (คำวิเศษณ์) เวียนไปทางขวา คือเวียนเลี้ยวทางขวาอย่างเข็มนาฬิกา, ทักขิณาวัฏ ก็ว่า, ตรงข้ามกับ อุตราวรรต หรือ อุตราวัฏ. (ส. ทกฺษิณาวรฺต; ป. ทกฺขิณาวฏฺฏ).
(2) อุตราวรรต : (คำนาม) การเวียนซ้าย. (คำวิเศษณ์) เวียนไปทางซ้าย คือเวียนเลี้ยวทางซ้ายอย่างทวนเข็มนาฬิกา, อุตราวัฏ ก็ว่า, ตรงข้ามกับ ทักษิณาวรรต หรือ ทักขิณาวัฏ. (ส. อุตฺตราวรฺต; ป. อุตฺตราวฏฺฏ).
ทำความเข้าใจแบบง่ายๆ :
ทักษิณาวรรต = เวียนขวา คือเดินรอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยให้สิ่งนั้นอยู่ด้านขวาของผู้เดิน หรือเดินหันด้านขวาเข้าหาสิ่งนั้น
อุตราวรรต = เวียนซ้าย คือเดินรอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยให้สิ่งนั้นอยู่ด้านซ้ายของผู้เดิน หรือเดินหันด้านซ้ายเข้าหาสิ่งนั้น
ความเป็นมา :
การเดินทักษิณาวรรต หรือเดินเวียนขวาที่เรารู้จักกันดีคือเดินเวียนเทียน มีมูลมาจากวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีป กล่าวคือ ชาวชมพูทวีปเมื่อเข้าไปหาบุคคลหรือสถานที่สำคัญ ครั้นเสร็จกิจแล้วเมื่อกลับจะทำกิริยาอำลาด้วยการเดินเวียนขวารอบบุคคลนั้นหรือสิ่งสำคัญนั้น 3 รอบแล้วจึงไป การทำกิริยาเช่นว่านี้เรียกว่า “ทำประทักษิณ” (คำบาลีว่า ติกขตฺตุํ ปทกฺขิณํ กตฺวา …ทำประทักษิณสามรอบ … ปทกฺขิณ ก็มาจาก ทกฺขิณ หรือ ทักษิณ ที่แปลว่า ด้านขวา นั่นเอง)
เรารับพระพุทธศาสนามาจากชมพูทวีป จึงรับเอาวัฒนธรรมนี้มาด้วย
กรณีที่ทำประทักษิณในเวลากลางคืน จึงจุดเทียนถือไปด้วยเพื่อให้มีแสงสว่าง เป็นที่มาของคำว่า “เวียนเทียน” หรือที่คำเก่าเรียกว่า “เดินเทียน”
นอกจากนั้นเรายังพัฒนาการทำประทักษิณจากทำเมื่อกลับเป็นทำเมื่อจะเข้าไปหาอีกด้วย เช่นประเพณีแห่นาคเวียนโบสถ์เป็นต้น
“เวียนขวา” ตรงกันข้ามกับ “เวียนซ้าย” เมื่อ “เวียนขวา” เป็นการแสดงความเคารพ เป็นกิริยาบุญหรือเป็นกิจอันเป็นมงคล จึงเกิดหลักนิยมแบ่ง “เวียนซ้าย” เป็นกิจอันตรงกันข้าม เป็นกิริยาที่ใช้ในงานอวมงคล คืองานศพ โดยเฉพาะในเวลาที่เชิญศพขึ้นสู่เชิงตะกอนหรือขึ้นสู่เมรุ จะเชิญศพเวียนซ้ายก่อน
มีคำพูดที่รู้กันง่ายๆ ว่า “เวียนขวาเวียนโบสถ์ เวียนซ้ายเวียนเมรุ”
คนไทยรุ่นใหม่ นอกจากจะไม่เข้าใจว่าอย่างไรเรียกว่าเวียนขวา อย่างไรเรียกว่าเวียนซ้ายแล้ว ยังไม่เข้าใจอีกด้วยว่า เวียนขวา-เวียนซ้ายใช้ในกิจต่างกันอย่างไร จึงมีบางคน-หลายคนตั้งใจจะทำสิ่งที่เรียกว่า “ประทักษิณ” หรือเวียนเทียนรอบพระสถูปเจดีย์ แต่พากันเดิน “เวียนซ้าย” อย่างหน้าตาเฉยเพราะไม่เข้าใจดังว่านั้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
๏ ทักษิณาวรรตเวียนขวา…..เวียนพระปฏิมา
เวียนโบสถ์วิหารเจดีย์
๏ อุตราวรรตเวียนซ้ายเวียนเมรุเผาผี…..ส่งสรรพกลี
พาศพเคารพลาตาย
๏ รู้บทรู้แบบแยบคาย…..อย่าเวียนตามสบาย
จงเวียนตามแบบแยบยล
๏ สอนลูกสอนหลานทุกคน…..และสอนใจตน
สืบต่อวัฒนธรรมนำไทย๚ะ๛
#บาลีวันละคำ (1,952)
13-10-60