กายคตาสติ – 1 ในอนุสติ 10 (บาลีวันละคำ 4,042)
กายคตาสติ – 1 ในอนุสติ 10
สติอันไปในกาย
อ่านว่า กา-ยะ-คะ-ตา-สะ-ติ
ประกอบด้วย กายคตา + สติ
(๑) “กายคตา”
อ่านว่า กา-ยะ-คะ-ตา รูปคำเดิมเป็น “กายคต” (กา-ยะ-คะ-ตะ) แยกศัพท์เป็น กาย + คต
(ก) “กาย” บาลีอ่านว่า กา-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) กุ (สิ่งที่น่ารังเกียจ, สิ่งที่น่าเกลียด) + อาย (ที่มา, ที่เกิดขึ้น), “ลบสระหน้า” คือ อุ ที่ กุ (กุ > ก)
: กุ > ก + อาย = กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เกิดขึ้นของสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งหลาย”
(2) ก (อวัยวะ) + อายฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป), + อ (อะ) ปัจจัย
: ก + อายฺ = กายฺ + อ = กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่เป็นไปแห่งอวัยวะทั้งหลาย”
(3) กาย (ร่างกาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: กาย + ณ = กายณ > กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เกิดขึ้นแห่งส่วนย่อยทั้งหลายเหมือนร่างกาย” (คือร่างกายเป็นที่รวมแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ฉันใด “สิ่งนั้น” ก็เป็นที่รวมอยู่แห่งส่วนย่อยทั้งหลายฉันนั้น)
“กาย” (ปุงลิงค์) หมายถึง ร่างกาย; กลุ่ม, กอง, จำนวนที่รวมกัน, การรวมเข้าด้วยกัน, ที่ชุมนุม (body; group, heap, collection, aggregate, assembly)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาย, กาย– : (คำนาม) ตัว เช่น ไม่มีผ้าพันกาย, มักใช้เข้าคู่กับคำ ร่าง เป็น ร่างกาย, ใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส หมายความว่า หมู่, พวก, เช่น พลกาย = หมู่ทหาร. (ป., ส.).”
(ข) “คต” บาลีอ่านว่า คะ-ตะ รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ต ปัจจัย, ลบที่ สุดธาตุ (คมฺ > ค)
: คมฺ + ต = คมต > คต แปลตามศัพท์ว่า “ไปแล้ว” “ถึงแล้ว”
“คต” ในบาลีใช้เป็นกริยา (กิริยากิตก์) และใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง –
(1) ไปแล้ว, ถึงแล้ว, ตรงไป (gone away, arrived at, directed to)
(2) เกี่ยวข้องกับ, หมายถึง, เกี่ยวเนื่องกับ (connected with, referring to, concerning, relating to)
กาย + คต = กายคต (กา-ยะ-คะ-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “ไปแล้วในกาย” หมายถึง “ที่เนื่องด้วยกาย” (“relating to the body”)
(๒) “สติ”
อ่านว่า สะ-ติ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > ส)
: สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ระลึกได้” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้” (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท”
“สติ” หมายถึง ความระลึกได้, การจำได้, สติ; ความตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติถึงตนเอง (memory, recognition, consciousness, intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –
“สติ : ความระลึกได้, นึกได้, ความไม่เผลอ, การคุมใจไว้กับกิจ หรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง, จำการที่ทำและคำที่พูดแล้ว แม้นานได้ (ข้อ ๑ ในธรรมมีอุปการะมาก ๒, ข้อ ๑ ในโพชฌงค์ ๗, ข้อ ๓ ในอินทรีย์ ๕, ข้อ ๓ ในพละ ๕, ข้อ ๖ ในสัทธรรม ๗, ข้อ ๙ ในนาถกรณธรรม ๑๐).”
บาลี “สติ” สันสกฤตเป็น “สฺมฤติ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สฺมฤติ : (คำนาม) ‘สมฤดี,’ ความระลึก, ความจำ; กฎหมาย; หนังสือกฎหมาย; ธรรมศาสตร์; ความปรารถนา, ความใคร่; มติ, ความเข้าใจ; recollection; memory; law; a law book; code of laws; wish, desire; understanding.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สติ” ตามบาลี “สมฤดี” (สม-รึ-ดี) และ “สมฤๅดี” (สม-รือ-ดี) ตามสันสกฤต บอกไว้ดังนี้ –
(1) สติ : (คำนาม) ความรู้สึก, ความรู้สึกตัว, เช่น ได้สติ ฟื้นคืนสติ สิ้นสติ, ความรู้สึกผิดชอบ เช่น มีสติ ไร้สติ, ความระลึกได้ เช่น ตั้งสติ กำหนดสติ. (ป.; ส. สฺมฺฤติ).
(2) สมฤดี, สมฤๅดี : (คำนาม) ความรู้สึกตัว, ใช้เป็น สมปฤดี สมปฤๅดี หรือ สมประดี ก็มี. (ส. สฺมฤติ; ป. สติ).
การประสมคำ :
ในที่นี้ “กายคต” เป็นคุณศัพท์ (วิเสสนะ) ขยาย “สติ” ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์ จึงต้อง + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “กายคตา”
: กายคตา + สติ = กายคตาสติ (กา-ยะ-คะ-ตา-สะ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “สติอันไปในกาย” หรือ “การระลึกถึงร่างกาย” (mindfulness occupied with the body; contemplation on the 32 impure parts of the body)
“กายคตาสติ” ใช้ในภาษาไทยตรงตามรูปบาลีเป็น “กายคตาสติ”
“กายคตาสติ” เป็น 1 ในอนุสติ 10 คือ –
1. พุทธานุสติ = ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า
2. ธัมมานุสติ = ระลึกถึงคุณพระธรรม
3. สังฆานุสติ = ระลึกถึงคุณพระสงฆ์
4. สีลานุสติ = ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา
5. จาคานุสติ = ระลึกถึงความเผื่อแผ่เสียสละที่มีในตน
6. เทวตานุสติ = ระลึกถึงคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดา
7. มรณสติ = ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา
8. กายคตาสติ = “สติอันไปในกาย” คือมีสติรู้เท่าทันสภาวะกายของตนมิให้หลงใหลมัวเมา
9. อานาปานสติ = สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
10. อุปสมานุสติ = ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือพระนิพพาน
คำว่า “กายคตาสติ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “กายคตาสติ” บอกไว้ดังนี้ –
…………..
กายคตาสติ, กายสติ : สติที่เป็นไปในกาย, สติอันพิจารณากายให้เห็นตามสภาพที่มีส่วนประกอบ ซึ่งล้วนเป็นของไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ ทำให้เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงใหลมัวเมา.
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [335] อนุสติ 10 แสดงความหมายของ “กายคตาสติ” ไว้ดังนี้ –
…………..
8. กายคตาสติ (สติอันไปในกาย คือ กำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆ อันไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ เป็นทางรู้เท่าทันสภาวะของกายนี้ มิให้หลงใหลมัวเมา — Kāyagatā-sati: mindfulness occupied with the body; contemplation on the 32 impure parts of the body)
…………..
ขยายความ :
“กายคตาสติ” คือใช้สติกำหนดพิจารณาร่างกายของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างกายของตนเอง อันมีส่วนประกอบ 32 ส่วน
วิธีเจริญกายคตาสติมีคำบรรยายเริ่มต้นที่น่าศึกษาดังนี้ –
…………..
อะยะเมวะ กาโย = กายคือประชุมส่วนเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดนี้นั้นแล
อุทธัง ปาทะตะลา = เบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นมา
อะโธ เกสะมัตถะกา = เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงไป
ตะจะปะริยันโต = มีหนังหุ้มอยู่ที่สุดรอบ
ปูโร นานัปปะการัสสะ อะสุจิโน = เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ
อิตถิ อิมัสมิง กาเย = มีอยู่ในกายนี้
…………..
ต่อจากนั้นจึงเริ่มพิจารณาส่วนประกอบ 32 ส่วน ที่เรียกเป็นคำศัพท์ว่า “ทฺวตฺตึสาการ” (ทวัด-ติง-สา-กา-ระ) ใช้ในภาษาไทยว่า “ทวัตดึงสาการ” แปลว่า “อาการ 32” หมายถึงส่วนประกอบ 32 ชนิด ในร่างกายมนุษย์ มีรายการดังนี้ –
(1) เกสา (เกสา) ผม
(2) โลมา (โลมา) ขน
(3) นขา (นะขา) เล็บ
(4) ทนฺตา (ทันตา) ฟัน
(5) ตโจ (ตะโจ) หนัง
(6) มํสํ (มังสัง) เนื้อ
(7) นฺหารู (นะหารู) เอ็น
(8 ) อฏฺฐิ (อัฏฐิ) กระดูก
(9) อฏฺฐิมิญฺชํ (อัฏฐิมิญชัง) เยื่อในกระดูก
(10) วกฺกํ (วักกัง) ม้าม
(11) หทยํ (หะทะยัง) หัวใจ
(12) ยกนํ (ยะกะนัง) ตับ
(13) กิโลมกํ (กิโลมะกัง) พังผืด
(14) ปิหกํ (ปิหะกัง) ไต
(15) ปปฺผาสํ (ปัปผาสัง) ปอด
(16) อนฺตํ (อันตัง) ไส้ใหญ่
(17) อนฺตคุณํ (อันตะคุณัง) ไส้น้อย
(18) อุทริยํ (อุทะริยัง) อาหารใหม่
(19) กรีสํ (กะรีสัง) อาหารเก่า (อุจจาระ)
(20) ปิตฺตํ (ปิตตัง) น้ำดี
(21) เสมฺหํ (เสมหัง) เสลด
(22) ปุพฺโพ (ปุพโพ) น้ำเหลือง
(23) โลหิตํ (โลหิตัง) เลือด
(24) เสโท (เสโท) เหงื่อ
(25) เมโท (เมโท) ไขมัน
(26) อสฺสุ (อัสสุ) น้ำตา
(27) วสา (วะสา) มันเหลว (เช่นที่ทำให้หน้าเป็นมัน)
(28) เขโฬ (เขโฬ) น้ำลาย
(29) สึฆานิกา (สิงฆานิกา) น้ำมูก
(30) ลสิกา (ละสิกา) ไขข้อ
(31) มุตฺตํ (มุตตัง) มูตร (น้ำปัสสาวะ)
(32) มตฺถเก มตฺถลุงฺคํ (มัตถะเก มัตถะลุงคัง) มันสมอง
…………..
ผู้เจริญกายคตาสติถูกทางถูกวิธี ท่านว่าย่อมได้รับอานิสงส์ 5 ประการ คือ –
(1) อรติรติสโห โหติ
ข่มความยินดียินร้ายได้
(2) ภยเภรวสโห โหติ
ข่มความกลัวภัยได้
(3) ขโม โหติ สีตสฺส อุณฺหสฺส
ทนหนาวทนร้อนได้ดี
(4) ปาณหรานํ อธิวาสกชาติโก โหติ
เจ็บปวดปางตายก็ทนได้
(5) จตุนฺนํ ฌานานํ ลาภี โหติ ฉ อภิญฺญา ปฏิวิชฺฌติ
ได้ฌานทั้งสี่อภิญญาทั้งหก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เอาสติไว้กับตัวไม่ต้องกลัวตาย
: กลัวแต่วายชีวิตยังไม่คิดจะทำ
#บาลีวันละคำ (4,042)
7-7-66
…………………………….
…………………………….