บาลีวันละคำ

อานาปานสติ – 1 ในอนุสติ 10 (บาลีวันละคำ 4,043)

อานาปานสติ – 1 ในอนุสติ 10

สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

อ่านว่า อา-นา-ปา-นะ-สะ-ติ

ประกอบด้วย อานาปาน + สติ

(๑) “อานาปาน” 

อ่านว่า อา-นา-ปา-นะ แยกศัพท์เป็น อาน + อปาน

(ก) “อาน” อ่านว่า อา-นะ รากศัพท์มาจาก อนฺ (ธาตุ = มีชีวิต) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(นฺ) เป็น อา (อนฺ > อาน)

: อนฺ + = อนฺณ > อน > อาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ลมเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายมีชีวิตอยู่” หมายถึง ลมหายใจออก, การหายใจออก (breathing out, exhalation)

(ข) “อปาน” อ่านว่า อะ-ปา-นะ รากศัพท์มาจาก อป (คำอุปสรรค = ปราศ, หลีก ในที่นี้ตัดมาจาก “อปคต” = ออกไป, นอกไปจาก) + อาน (ลมหายใจออก

: อป + อาน = อปาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ลมที่นอกจากลมหายใจออก” หมายถึง ลมหายใจเข้า, การหายใจเข้า (inhaled breath, inhalation)

อาน + อปาน = อานาปาน (อา-นา-ปา-นะ) แปลว่า การหายใจออกและการหายใจเข้า, การปล่อยลมหายใจออกและการสูดลมหายใจเข้า (exhaled & inhaled breath, respiration & inspiration)

หมายเหตุ:

อาน” = ลมหายใจออก

อปาน” = ลมหายใจเข้า

เมื่อรวมกันเป็น “อานาปาน” จึงควรแปลว่า “ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า” หรือ “การหายใจออกและการหายใจเข้า”

แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อานาปาน” ว่า inhaled & exhaled breath, inspiration & respiration (การหายใจเข้าและหายใจออก, การสูดลมหายใจเข้าและการปล่อยลมหายใจออก) จึงเป็นคำแปลที่สลับคำ ไม่ตรงกับบาลี 

แต่คำว่า “หายใจเข้าออก” ก็เป็นที่พูดกันติดปาก (ไม่พูดว่า “หายใจออกเข้า”)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อานาปาน-, อานาปานะ : (คำนาม) ลมหายใจเข้าออก ในคําว่า อานาปานัสสติ. (ป., ส.).”

(๒) “สติ

อ่านว่า สะ-ติ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > )

: สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ระลึกได้” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้” (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท” 

สติ” หมายถึง ความระลึกได้, การจำได้, สติ; ความตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติถึงตนเอง (memory, recognition, consciousness, intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness) 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

สติ : ความระลึกได้, นึกได้, ความไม่เผลอ, การคุมใจไว้กับกิจ หรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง, จำการที่ทำและคำที่พูดแล้ว แม้นานได้ (ข้อ ๑ ในธรรมมีอุปการะมาก ๒, ข้อ ๑ ในโพชฌงค์ ๗, ข้อ ๓ ในอินทรีย์ ๕, ข้อ ๓ ในพละ ๕, ข้อ ๖ ในสัทธรรม ๗, ข้อ ๙ ในนาถกรณธรรม ๑๐).”

บาลี “สติ” สันสกฤตเป็น “สฺมฤติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สฺมฤติ : (คำนาม) ‘สมฤดี,’ ความระลึก, ความจำ; กฎหมาย; หนังสือกฎหมาย; ธรรมศาสตร์; ความปรารถนา, ความใคร่; มติ, ความเข้าใจ; recollection; memory; law; a law book; code of laws; wish, desire; understanding.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สติ” ตามบาลี “สมฤดี” (สม-รึ-ดี) และ “สมฤๅดี” (สม-รือ-ดี) ตามสันสกฤต บอกไว้ดังนี้ – 

(1) สติ : (คำนาม) ความรู้สึก, ความรู้สึกตัว, เช่น ได้สติ ฟื้นคืนสติ สิ้นสติ, ความรู้สึกผิดชอบ เช่น มีสติ ไร้สติ, ความระลึกได้ เช่น ตั้งสติ กำหนดสติ. (ป.; ส. สฺมฺฤติ).

(2) สมฤดี, สมฤๅดี : (คำนาม) ความรู้สึกตัว, ใช้เป็น สมปฤดี สมปฤๅดี หรือ สมประดี ก็มี. (ส. สฺมฤติ; ป. สติ).

อานาปาน + สติ ซ้อน สฺ (อานาปาน + สฺ + สติ)

: อานาปาน + สฺ + สติ = อานาปานสฺสติ (อา-นา-ปา-นัด-สะ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกถึงลมหายใจเข้าออก” (mindfulness on breathing)

บาลีเป็น “อาปานสฺสติ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “อานาปานัสสติ” ตามรูปบาลี บอกไว้ว่า – 

อานาปานัสสติ : (คำนาม) สติที่กําหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก.”

ข้อสังเกต :

บรรดาอนุสติทั้ง 10 ข้อ มี 2 ข้อเท่านั้นที่เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 คือ “สังฆานสติ” และ “อานาปานัสสติ” เฉพาะ “อานาปานัสสติ” เก็บไว้รูปเดียวคือ “อานาปานัสสติ” ไม่ได้เก็บเป็น “อานาปานสติ

ในที่นี้ใช้เป็น “อานาปานสติ” 

อานาปานสติ” เป็น 1 ในอนุสติ 10 คือ –

1. พุทธานุสติ = ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า

2. ธัมมานุสติ = ระลึกถึงคุณพระธรรม

3. สังฆานุสติ = ระลึกถึงคุณพระสงฆ์

4. สีลานุสติ = ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา

5. จาคานุสติ = ระลึกถึงความเผื่อแผ่เสียสละที่มีในตน

6. เทวตานุสติ = ระลึกถึงคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดา

7. มรณสติ = ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา

8. กายคตาสติ =  “สติอันไปในกาย” คือมีสติรู้เท่าทันสภาวะกายของตนมิให้หลงใหลมัวเมา

9. อานาปานสติ = สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

10. อุปสมานุสติ = ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือพระนิพพาน

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต มีทั้ง “อานาปานสติ” และ “อานาปานัสสติ” บอกไว้ดังนี้ –

(1) อานาปานสติ : การมีสติกำกับดูรู้ลมหายใจเข้าออก (ข้อ ๙ ใน อนุสติ ๑๐, ข้อ ๑๐ ใน สัญญา ๑๐), เป็นบรรพที่ ๑ ของกายานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วย แต่มีชื่อเรียกให้สั้นว่า อานาปานบรรพ.

(2) อานาปานัสสติ : การมีสติทันดูรู้ลมหายใจเข้าออก (หนังสือเก่ามักเขียนอย่างนี้).

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [335] อนุสติ 10 แสดงความหมายของ “อานาปานสติ” ไว้ดังนี้ –

…………..

9. อานาปานสติ (สติกำหนดลมหายใจเข้าออก — Ānāpānasati: mindfulness on breathing)

…………..

ขยายความ :

วิธีเจริญอานาปานสติ กล่าวตามรูปแบบที่พระพุทธองค์ตรัสไว้สำหรับผู้ปฏิบัติในระยะเริ่มฝึก เป็นดังนี้ –

…………..

อิธ  ภิกฺขเว  ภิกฺขุ  อรญฺญคโต  วา  รุกฺขมูลคโต  วา  สุญฺญาคารคโต  วา  นิสีทติ  ปลฺลงฺกํ  อาภุชิตฺวา  อุชุํ  กายํ  ปณิธาย  ปริมุขํ   สตึ  อุปฏฺฐเปตฺวา  ฯ  โส  สโตว  อสฺสสติ  สโต  ปสฺสสติ  ฯ  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่ในที่สงบสงัดก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

ที่มา: เวสาลีสูตร สังยุตนิกาย มหาวารวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 19 ข้อ 1354

…………..

สรุปหลักปฏิบัติตามพระพุทธดำรัสนี้ก็คือ “มีสติทุกลมหายใจ” กล่าวคือ –

หายใจออก ก็ใช้สติกำหนดลมหายใจออก

หายใจเข้า ก็ใช้สติกำหนดลมหายใจเข้า

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง –

หายใจออก ก็รู้ตัวว่ากำลังหายใจออก 

หายใจเข้า ก็รู้ตัวว่ากำลังหายใจเข้า

พูดง่าย ทำยาก แต่ถ้าฝึกทำมากๆ ก็ทำได้ง่าย

มีพุทธดำรัสตรัสสรรเสริญอานาปานสติไว้ดังนี้ –

…………..

อยํปิ  โข  ภิกฺขเว  อานาปานสฺสติสมาธิ  ภาวิโต  พหุลีกโต  สนฺโต  เจว  ปณีโต  จ  อเสจนโก  จ  สุโข  จ  วิหาโร  อุปฺปนฺนุปฺปนฺเน  จ  ปาปเก  อกุสเล  ธมฺเม  ฐานโส  อนฺตรธาเปติ  วูปสเมติ  ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสตินี้แล อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นสภาพสงบ ประณีต บำรุงใจ อยู่เป็นสุข และกำราบอกุศลธรรมอันชั่วช้าที่บังเกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยพลัน

ที่มา: เวสาลีสูตร สังยุตนิกาย มหาวารวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 19 ข้อ 1352

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มีสติทุกลมหายใจ

: มีสันติทุกลมหายใจ

#บาลีวันละคำ (4,043)

8-7-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *