บาลีวันละคำ

อุปสมานุสติ – 1 ในอนุสติ 10 (บาลีวันละคำ 4,044)

อุปสมานุสติ – 1 ในอนุสติ 10

ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ

อ่านว่า อุ-ปะ-สะ-มา-นุด-สะ-ติ

ประกอบด้วย อุปสม + อนุสติ

(๑) “อุปสม” 

บาลีอ่านว่า อุ-ปะ-สะ-มะ ประกอบด้วย อุป + สม

(ก) ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “อุป-” :

อุป-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) เป็นคำจำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค” 

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “อุป : เข้าไป, ใกล้, มั่น” 

อุป” ในบาลีใช้ในความหมายตามบริบทต่างๆ ประมวลได้ดังนี้ –

(1) ข้างบน, บน (on upon, up)

(2) ข้างนอก (out) 

(3) สุดแต่ (up to) 

(4) สูงขึ้น, ข้างต้น (higher, above)

(5) ใกล้ชิด, ใกล้เคียง, ใกล้ (close by, close to, near)

(6) ทีเดียว, โดยประการทั้งปวง (quite, altogether)

(7) เกือบ, ราว ๆ, ค่อนข้าง, เล็กน้อย, รอง, โดย –, น้อย ๆ, ทำตามแบบ (nearly, about, somewhat, a little, secondary, by — , miniature, made after the style of)

(ข) “สม” (สะ-มะ) รากศัพท์มาจาก สมุ (ธาตุ = สงบ) + (อะ) ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อุ ที่ สมุ (สมุ > สม)

: สมุ > สม + = สม (ปุงลิงค์ แปลตามศัพท์ว่า “ความสงบ” หมายถึง ความสงบ, ความราบรื่น, ความสงบทางใจ (calmness, tranquillity, mental quiet)

อุป + สม = อุปสม (อุ-ปะ-สะ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “ความเข้าไปสงบ” หมายถึง ความสงบ, ความเงียบ, ความระงับ, การบรรเทา, การทำให้ลดลง, ความราบรื่น (calm, quiet, appea- sement, allaying, assuagement, tranquillizing)

อุปสม” ในภาษาไทย เมื่ออยู่เดี่ยวหรืออยู่ท้ายคำ ใช้เป็น “อุปสมะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อุปสมะ” บอกไว้ดังนี้ –

อุปสมะ : ความสงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ, การทำใจให้สงบ, สภาวะอันเป็นที่สงบ คือ นิพพาน (ข้อ ๔ ในอธิษฐานธรรม ๔).”

คำว่า “อุปสมะ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

(๒) “อนุสติ

บาลีเป็น “อนุสฺสติ” (โปรดสังเกต 2 ตัว) อ่านว่า อะ-นุด-สะ-ติ ประกอบด้วย อนุ + สติ

(ก) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –

(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)

(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)

ความหมายของ “อนุ” ที่เข้าใจกันหมู่นักเรียนบาลี คือ น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ

(ข) “สติ” รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > )

: สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ระลึกได้” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้” (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท” 

สติ” หมายถึง ความระลึกได้, การจำได้, สติ; ความตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติถึงตนเอง (memory, recognition, consciousness, intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness)

อนุ + สติ ซ้อน สฺ : อนุ + สฺ + สติ = อนุสฺสติ แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกถึงเนืองๆ” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุสฺสติ” ว่า remembrance, recollection, thinking of, mindfulness (อนุสติ, ความระลึก, ความทรงจำ, ความคิด, ความตั้งใจ) (โปรดสังเกตคำแปลภาษาอังกฤษระหว่าง “สติ” กับ “อนุสฺสติ” บางคำตรงกัน)

อุปสม + อนุสฺสติ = อุปสมานุสฺสติ (อุ-ปะ-สะ-มา-นุด-สะ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกเนืองๆ ถึงธรรมเป็นที่เข้าไปสงบ” (recollection of peace; contemplation on the virtue of Nibbāna)

อุปสมานุสฺสติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุปสมานุสติ” (อนุสฺสติ ในบาลีตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง เป็น อนุสติ)

อุปสมานุสติ” เป็น 1 ในอนุสติ 10 คือ –

1. พุทธานุสติ = ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า

2. ธัมมานุสติ = ระลึกถึงคุณพระธรรม

3. สังฆานุสติ = ระลึกถึงคุณพระสงฆ์

4. สีลานุสติ = ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา

5. จาคานุสติ = ระลึกถึงความเผื่อแผ่เสียสละที่มีในตน

6. เทวตานุสติ = ระลึกถึงคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดา

7. มรณสติ = ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา

8. กายคตาสติ =  “สติอันไปในกาย” คือมีสติรู้เท่าทันสภาวะกายของตนมิให้หลงใหลมัวเมา

9. อานาปานสติ = สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

10. อุปสมานุสติ = ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือพระนิพพาน

คำว่า “อุปสมานุสติ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อุปสมานุสติ” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

อุปสมานุสติ : ระลึกถึงคุณพระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ระงับกิเลสและกองทุกข์ (ข้อ ๑๐ ในอนุสติ ๑๐)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [335] อนุสติ 10 แสดงความหมายของ “อุปสมานุสติ” ไว้ดังนี้ –

…………..

10. อุปสมานุสติ (ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือ ระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระนิพพาน อันเป็นที่ระงับกิเลสและความทุกข์ — Upasamānussati: recollection of peace; contemplation on the virtue of Nibbāna)

…………..

ขยายความ :

วิธีเจริญอุปสมานสติ ท่านให้ระลึกถึงลักษณะของ “นิพพาน” มีคำแสดงลักษณะดังนี้ –

…………..

มทนิมฺมทโน  ปิปาสวินโย  อาลยสมุคฺฆาโต  วฏฺฏูปจฺเฉโท  ตณฺหกฺขโย  วิราโค  นิโรโธ  นิพฺพานํ  …

ที่มา: ปสาทสูตร จตุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 21 ข้อ 34

…………..

คำแปล

มทนิมฺมทโน (มะทะนิมมะทะโน) = เป็นที่ยังความเมาให้สร่าง

ปิปาสวินโย (ปิปาสะวินะโย) = เป็นที่รำงับเสียสิ้นซึ่งความกระหาย

อาลยสมุคฺฆาโต (อาละยะสะมุคฆาโต) = เป็นที่ถอนขึ้นหมดซึ่งอาลัย

วฏฺฏูปจฺเฉโท (วัฏฏูปัจเฉโท) = เป็นที่เข้าไปตัดเสียซึ่งวัฏฏะ

ตณฺหกฺขโย (ตัณหักขะโย) = เป็นที่สิ้นตัณหา

วิราโค (วิราโค) = เป็นที่สำรอกราคะ

นิโรโธ (นิโรโธ) = เป็นที่ดับทุกข์

นิพฺพานํ (นิพพานัง) = เป็นที่ตัดเครื่องร้อยรัด

ขยายความ :

อุปสมะคือนิพพาน –

เรียกว่า “มทนิมฺมทโน” เพราะความเมาทั้งหลายทั้งปวง เช่นเมาว่าข้าเป็นนั่นเป็นนี่ มาถึงนิพพานเข้าแล้วก็สร่างเมาคือหายเมาไปหมดสิ้น 

เรียกว่า “ปิปาสวินโย” เพราะความกระหายในกามทั้งหลายทั้งปวง มาถึงนิพพานเข้าแล้วก็ปลาสนาการตกไปหมด

เรียกว่า “อาลยสมุคฺฆาโต” เพราะอาลัยคือการติดจมอยู่ในเบญจกามคุณ มาถึงนิพพานเข้าแล้วก็ถอนขึ้นได้หมด

เรียกว่า “วฏฺฏูปจฺเฉโท” เพราะวัฏฏะคือเวียนว่ายตายเกิด มาถึงนิพพานเข้าแล้วก็ขาดสิ้นไป 

เรียกว่า “ตณฺหกฺขโย” เพราะตัณหามาถึงนิพพานเข้าแล้วย่อมสิ้นสูญไปหมด

เรียกว่า “วิราโค” เพราะความกำหนัดที่ย้อมใจอยู่ มาถึงนิพพานเข้าแล้วก็สำรอกออกไปได้หมด

เรียกว่า “นิโรโธ” เพราะความกำหนัดที่เผาลนใจ มาถึงนิพพานเข้าแล้วก็ดับสนิทไปหมด

และตัวนิพพานเองเรียกว่า “นิพฺพานํ” เพราะสลัดตัดสรรพกิเลสาสวะอันผูกมัดรัดร้อยสรรพสัตว์ไว้ในวัฏทุกข์ให้ขาดเด็ดเสร็จสิ้นไปได้หมดโดยประการทั้งปวง

…………..

ท่านแสดงอานิสงส์สำหรับผู้เจริญอุปสมานุสติไว้ดังนี้ –

…………..

อิมญฺจ  ปน  อุปสมานุสฺสติมนุยุตฺโต  ภิกฺขุ  สุขํ  สุปติ  สุขํ  ปฏิพุชฺฌติ  สนฺตินฺทฺริโย  โหติ  สนฺตมานโส  หิโรตฺตปฺปสมนฺนาคโต  ปาสาทิโก  ปณีตาธิมุตฺติโก  สพฺรหฺมจารีนํ  ครุ  จ  ภาวนีโย  จ  อุตฺตรึ  อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต  ปน  สุคติปรายโน  โหติ  ฯ

ก็แลภิกษุผู้ประกอบอุปสมานุสตินั้นเนืองๆ ย่อมหลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข เป็นผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจสงบ ถึงพร้อมด้วยหิริโอตตัปปะ น่าเลื่อมใส มีอัชฌาสัยประณีต เป็นที่เคารพและยกย่องแห่งสพรหมจารีทั้งหลาย อนึ่งเล่า เมื่อยังไม่บรรลุคุณที่สูงขึ้นไป ย่อมเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

ที่มา: อนุสติกัมมัฏฐานนิทเทส วิสุทธิมรรค ภาค 2 หน้า 90

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผู้ไม่มีตัณหา

: คือผู้ไม่มีปัญหา

#บาลีวันละคำ (4,044)

9-7-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *