บาลีวันละคำ

บรทารกรรม (บาลีวันละคำ 2,644)

บรทารกรรม

ถึงจะไม่รู้จักคำ แต่ถ้าไม่รู้จักทำก็เป็นการดี

อ่านว่า บอ-ระ-ทา-ระ-กำ

ประกอบด้วยคำว่า บร + ทาร + กรรม

(๑) “บร

บาลีเป็น “ปร” อ่านว่า ปะ-ระ รากศัพท์มาจาก (แทนศัพท์ หึสา = เบียดเบียน) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ

: + รมฺ = ปรมฺ + กฺวิ = ปรมกฺวิ > ปรม > ปร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยินดีในการเบียดเบียน” ในที่นี้หมายถึง –

(1) อีกอันหนึ่ง, อื่นอีก, อื่น (another, other)

(2) ศัตรู, ปรปักษ์ (enemies, opponents)

ในภาษาไทยใช้ว่า “ปร-” เหมือนบาลี (ขีดท้ายคำบ่งว่าใช้นำหน้าคำอื่น ไม่ใช้เดี่ยวๆ) อ่านว่า ปะ-ระ- และ ปอ-ระ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปร– : (คำวิเศษณ์) อื่น, ใช้เป็นบทหน้าสมาส เช่น ปรปักษ์ ปรโลก. (ป.).”

ในที่นี้ใช้เป็น “บร-” อ่านว่า บอ-ระ- (ในบทร้อยกรองถ้าไม่มีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายหรือใช้เดี่ยวๆ อ่านว่า บอน ก็มี) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บร– : (คำแบบ; คำที่ใช้ในบทร้อยกรอง) (คำนาม) ฝ่ายอื่น เช่น บรเทศ, ข้าศึก เช่น บรปักษ์. (ป., ส. ปร).”

โปรดสังเกตคำที่พจนานุกรมฯ ยกเป็นตัวอย่าง มีทั้ง “ปรปักษ์” และ “บรปักษ์”

(๒) “ทาร

บาลีอ่านว่า ทา-ระ รากศัพท์มาจาก ทรฺ (ธาตุ = แตก, ทำลาย) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา ตามกฎ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (ทรฺ > ทาร)

: ทรฺ + = ทรณ > ทร > ทาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหตุให้แตกกัน” (คือเป็นผู้แยกสามีออกจากครอบครัวของเขา)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาร” ว่า a young woman, esp. married woman, wife (สตรีสาว, โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีที่แต่งงานแล้ว, ภรรยา)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ทาร– : (คำแบบ) (คำนาม) เมีย เช่น ทารทาน คือ การให้เมียเป็นทาน. (ป., ส.).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

ทาร– : (คำแบบ) (คำนาม) เมีย เช่น สทารสันโดษ คือ การยินดีเฉพาะเมียของตน. (ป., ส.).”

(๓) “กรรม

บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ควบ กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม

กมฺม” รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ที่ต้นปัจจัย

: กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กรรม ๑, กรรม– ๑ : (คำนาม) (๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.”

การประสมคำ :

ปร + ทาร = ปรทาร แปลว่า ภรรยาของผู้อื่น (the wife of another)

ปรทาร” ในภาษาไทยใช้เป็น “บรทาร” ถ้าไม่มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย พจนานุกรมฯ ให้อ่านว่า บอ-ระ-ทาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรทาร : (คำแบบ) (คำนาม) เมียของผู้อื่น. (ส.).”

ปรทาร + กมฺม = ปรทารกมฺม (ปะ-ระ-ทา-ระ-กำ-มะ) แปลว่า “กรรมคือการประพฤติล่วงภรรยาของผู้อื่น” (adultery; unlawful intercourse with others’ wives)

ปรทารกมฺม” ในภาษาไทยใช้เป็น “บรทารกรรม” (บอ-ระ-ทา-ระ-กำ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรทารกรรม : (คำแบบ) (คำนาม) การประพฤติผิดในเมียของผู้อื่น. (ส.).”

อภิปราย :

ประเด็นที่ ๑ – ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเห็นว่า “ทาร” ไม่ควรแปลว่า “เมีย” ซึ่งเจาะจงเฉพาะหญิงที่เป็นภรรยา (wife) เสมอไป บางกรณีต้องแปลว่า “คู่ครอง” (spouse) ซึ่งกินความรวมถึงชายที่เป็น “ผัว” (husband) ด้วย โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงหลักธรรม เช่น –

ทารสงฺคห” ในมงคล 38 ควรแปลว่า “สงเคราะห์คู่ครอง

สทารสันโดษ” ควรแปลว่า “การยินดีเฉพาะคู่ครองของตน

เหตุผลคือ –

(๑) มงคล 38 เป็นหลักธรรมที่สอนให้มนุษย์ทั่วไปปฏิบัติ คือทั้งชายและหญิงสามารถปฏิบัติได้ครบทุกข้อ ไม่ใช่สอนเฉพาะผู้ชาย ถ้าแปล “ทารสงฺคห” (มงคลข้อ 13) ว่า “สงเคราะห์ภรรยา” ก็จะกลายเป็นว่ามงคลข้อนี้ปฏิบัติได้เฉพาะผู้ชายที่เป็นสามี แต่ผู้หญิงที่เป็นภรรยาปฏิบัติไม่ได้

แต่ถ้าแปล “ทารสงฺคห” ว่า “สงเคราะห์คู่ครอง” มงคลข้อนี้ก็ปฏิบัติได้ทั้งสามีและภรรยา

(๒) “สทารสันโดษ” เป็นหลักเบญจธรรมที่คู่กับเบญจศีล กล่าวคือ –

(1) เมตตากรุณา คู่กับ ปาณาติบาต

(2) สัมมาอาชีวะ (หรือ ทาน) คู่กับ อทินนาทาน

(3) สทารสันโดษ (หรือ กามสังวร) คู่กับ กาเมสุมิจฉาจาร

(4) สัจจะ คู่กับ มุสาวาท

(5) สติสัมปชัญญะ (หรือ อัปปมาทะ) คู่กับ สุราเมรยฯ

จะเห็นได้ว่า ทั้งชายและหญิงสามารถปฏิบัติเบญจธรรมได้ทุกข้อ แต่ถ้าแปล “สทารสันโดษ” (เบญจธรรมข้อ 3) ว่า “การยินดีเฉพาะเมียของตน” ก็จะกลายเป็นว่าเบญจธรรมข้อนี้ปฏิบัติได้เฉพาะผู้ชาย แต่ผู้หญิงปฏิบัติไม่ได้

แต่ถ้าแปล “สทารสันโดษ” ว่า “การยินดีเฉพาะคู่ครองของตน” เบญจธรรมข้อนี้ก็ปฏิบัติได้ทั้งชายและหญิง

อนึ่ง โปรดสังเกตว่า ในหลักธรรมดังกล่าวนี้ ถ้าประสงค์จะให้หมายถึงเฉพาะ “ภรรยา” หรือ “เมีย” –

ทารสงฺคห” ก็น่าจะใช้คำว่า “ภริยาสงฺคห

สทารสันโดษ” ก็น่าจะใช้คำว่า “สภริยาสันโดษ

ถ้าใช้อย่างนี้ก็จะยืนยันได้ชัดเจนว่าหมายถึงเฉพาะ “ภรรยา” หรือ “เมีย

การที่ท่านใช้คำว่า “ทาร” (“ทารสงฺคห” “สทารสันโดษ”) ย่อมเป็นอันแสดงเจตจำนงชัดเจนว่า “ทาร” ในที่เช่นนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะภรรยา แต่หมายถึงทั้งภรรยาและสามี หรือหมายถึง “เมีย” ก็ได้ และหมายถึง “ผัว” ก็ได้ นั่นคือหมายถึงคนที่ครองคู่กัน (spouse)

ด้วยเหตุผลดังแสดงมา ผู้เขียนบาลีวันละคำขอยืนยันว่า คำว่า “ทาร” นอกจากจะแปลว่า “เมีย” แล้ว ในที่หลายๆ แห่งต้องแปลว่า “คู่ครอง” ซึ่งครอบคลุมทั้ง “เมีย” และ “ผัว” จึงจะชอบด้วยเหตุผล

ดังนั้น “ปรทารกมฺม” หรือ “บรทารกรรม” จึงควรแปลว่า “การประพฤติผิดในคู่ครองของผู้อื่น

ถ้าเป็นชาย (จะมีภรรยาหรือไม่ก็ตาม) ก็หมายถึง เป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น

ถ้าเป็นหญิง (จะมีสามีหรือไม่ก็ตาม) ก็หมายถึง เป็นชู้กับสามีของผู้อื่น

ประเด็นที่ ๒ – ปัจจุบันนี้มีผู้นิยมลัทธิ “คิดนอกกรอบ” กันมาก ใครทำอะไรนอกกรอบก็นับถือยกย่องกันว่ามีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ติดตันอยู่กับแนวนิยมเก่าๆ เดิมๆ ที่ซ้ำซากจำเจ

กรอบของมนุษย์ที่เจริญแล้วข้อหนึ่งคือ ไม่ทำ “บรทารกรรม” ใครทำเข้าจะถูกตำหนิติเตียน ซ้ำยังจะต้องรับผลกรรมในปรโลกด้วย

ถ้าถามว่า ผู้นิยมลัทธิ “คิดนอกกรอบ” ก็คือผู้ที่พอใจและชื่นชมยินดีกับการทำ “บรทารกรรม” ใช่หรือไม่

ดังนี้ ก็จะเห็นได้ทันทีว่า การ “คิดนอกกรอบ” นั้น เอาเข้าจริงๆ แล้วทำได้เป็นบางเรื่องเท่านั้น ไม่ใช่ทำได้ทุกเรื่อง และบางเรื่องที่ทำได้ก็ทำได้เป็นบางกรอบเท่านั้น ไม่ใช่ทำได้ทุกกรอบ และเมื่อพิจารณาให้ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ยังต้องมี “กรอบ” ไม่อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ด้วยเสมอ

ข้อสำคัญอยู่ที่ใครจะถือเอาอะไรเป็นกรอบของตน กรอบที่เขาถือนั่นแหละจะเป็นเครื่องชี้วัดความเป็นมนุษย์ของคนคนนั้น

ในทางพระศาสนา กรอบใหญ่ที่เป็นเส้นแบ่งเขตให้คนสูงกว่าสัตว์ ท่านเรียกเป็นคำรวมว่า “ธรรม

…………..

ดูก่อนภราดา!

ธมฺเมน หีนา ปสุภี สมานา.

: ถ้าหลุดออกไปจากกรอบธรรม

: คนก็ต่ำเท่ากับสัตว์

#บาลีวันละคำ (2,644)

8-9-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย