บาลีวันละคำ

วัฏฏะ (บาลีวันละคำ 4,047)

วัฏฏะ

อย่ามองข้ามหญ้าปากคอก

อ่านว่า วัด-ตะ

วัฏฏะ” เขียนแบบบาลีเป็น “วฏฺฏ” อ่านว่า วัด-ตะ รากศัพท์มาจาก วฏฺฏ (ธาตุ = หมุน, วน) + (อะ) ปัจจัย

: วฏฺฏ + = วฏฺฏ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่กลม” “สิ่งที่หมุนเวียน” 

วฏฺฏ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) รอบ, กลม, วงกลม (round, circular; circle)

(2) หมุนไป, วงรอบของความเป็นอยู่, วัฏสงสาร, วิวัฒน์ (rolling on, the round of existences, cycle of transmigrations, evolution)

บาลี “วฏฺฏ” ภาษาไทยใช้เป็น “วัฏฏะ” และตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “วัฏ-” (กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วัฏ-, วัฏฏะ : (คำแบบ) (คำนาม) วงกลม; การหมุน, การเวียนไป, รอบแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย.ว. กลม, เป็นวง. (ป.; ส. วฺฤตฺต).”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “วัฏฏะ” อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

วัฏฏะ : การวนเวียน, การเวียนเกิดเวียนตาย, การเวียนว่ายตายเกิด, ความเวียนเกิด หรือวนเวียน ด้วยอำนาจกิเลส กรรม และวิบาก เช่น กิเลสเกิดขึ้นแล้วให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมแล้ว ย่อมได้รับผลของกรรม เมื่อได้รับผลของกรรมแล้วกิเลสก็เกิดอีก แล้วทำกรรม แล้วเสวยผลกรรม หมุนเวียนต่อไป; ดู ไตรวัฏฏ์ 

…………..

ที่คำว่า “ไตรวัฏฏ์” ขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

ไตรวัฏฏ์ : วัฏฏะ ๓, วงวน ๓ หรือวงจร ๓ ส่วนของปฏิจจสมุปบาทซึ่งหมุนเวียนสืบทอดต่อๆ กันไป ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด หรือวงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม และ วิบาก (เรียกเต็มว่า ๑. กิเลสวัฏฏ์ ประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ๒. กรรมวัฏฏ์ ประกอบด้วยสังขาร ภพ ๓. วิปากวัฏฏ์ ประกอบด้วยวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสอุปายาส) คือ กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมก็ได้รับวิบากคือผลของกรรมนั้น อันเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสแล้วทำกรรมหมุนเวียนต่อไปอีก เช่น เกิดกิเลสอยากได้ของเขา จึงทำกรรมด้วยการไปลักของเขามา ประสบวิบากคือได้ของนั้นมาเสพเสวย เกิดสุขเวทนา ทำให้มีกิเลสเหิมใจอยากได้รุนแรงและมากยิ่งขึ้นจึงยิ่งทำกรรมมากขึ้น หรือในทางตรงข้าม ถูกขัดขวาง ได้รับทุกขเวทนาเป็นวิบาก ทำให้เกิดกิเลสคือโทสะแค้นเคือง แล้วพยายามทำกรรมคือประทุษร้ายเขา ฯลฯ เมื่อเป็นอยู่เป็นไปอย่างนี้ วงจรจะหมุนเวียนต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด เป็นอาการหมุนวน หรือวงกลมอันหมุนวน ที่เรียกว่า ภวจักร สังสารจักร หรือสังสารวัฏ, ไตรวัฏ ก็เขียน.

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [105] แสดง “วัฏฏะ 3” ไว้ดังนี้ –

…………..

 วัฏฏะ 3 หรือ ไตรวัฏฏ์ (วน, วงเวียน, องค์ประกอบที่หมุนเวียนต่อเนื่องกันของภวจักร หรือสังสารจักร — Vaṭṭa: the triple round; cycle)

1. กิเลสวัฏฏ์ (วงจรกิเลส ประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน — Kilesa-vaṭṭa: round of defilements)

2. กรรมวัฏฏ์ (วงจรกรรม ประกอบด้วยสังขารและกรรมภพ — Kamma-vaṭṭa: round of kamma)

3. วิปากวัฏฏ์ (วงจรวิบาก ประกอบด้วย วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ซึ่งแสดงออกในรูปปรากฏที่เรียกว่า อุปปัตติภพ ชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น — Vipāka-vaṭṭa: round of results)

สามอย่างนี้ ประกอบเข้าเป็นวงจรใหญ่แห่งปัจจยาการ เรียกว่า ภวจักร หรือ สังสารจักร ตามหลักปฏิจจสมุปบาท

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แสดงความหมายของ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ ไว้ดังนี้ –

…………..

(1) กิเลสวัฏฏ์ : วนคือกิเลส, วงจรส่วนกิเลส, หนึ่งในวัฏฏะ ๓ แห่งปฏิจจสมุปบาทประกอบด้วย อวิชชา ตัณหา และอุปาทาน.

(2) กัมมวัฏฏ์ : วนคือกรรม, วงจรส่วนกรรม, หนึ่งในวัฏฏะ ๓ แห่งปฏิจจสมุปบาท ประกอบด้วยสังขารและกรรมภพ.

(3) วิปากวัฏฏ์ : วนคือวิบาก, วงจรส่วนวิบาก, หนึ่งในวัฏฏะ ๓ แห่งปฏิจจสมุปบาท ประกอบด้วยวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา, ชาติ ชรามรณะ.

…………..

แถม :

ศึกษารายละเอียดของ “วัฏฏะ” เพิ่มเติมที่ ปัญญาภูมินิทเทส วิสุทธิมรรค ภาค 3 หน้า 106-205

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทุกคนวนอยู่กับวัฏฏะ

: แต่น้อยคนที่จะรู้จักวัฏฏะ

: และยิ่งน้อยคนเข้าไปอีกที่คิดจะหลีกออกจากวัฏฏะ

#บาลีวันละคำ (4,047)

12-7-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *