โมกฺโข กลฺยาณิยา สาธุ (บาลีวันละคำ 4,048)
โมกฺโข กลฺยาณิยา สาธุ
ภาษิตน่าศึกษา
อ่านว่า โมก-โข กัน-ลฺยา-นิ-ยา สา-ทุ
เป็นคำบาลี 3 คำ คือ “โมกฺโข” “กลฺยาณิยา” “สาธุ”
(๑) “โมกฺโข”
รูปคำเดิมเป็น “โมกฺข” อ่านว่า โมก-ขะ รากศัพท์มาจาก มุจฺ (ธาตุ = หลุด, พ้น) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อุ ที่ มุ-(จฺ) เป็น โอ แล้วแปลง จฺ เป็น ข (มุจฺ > โมจ >โมข), ซ้อน กฺ ระหว่าง ม กับ ข (โม + กฺ + ข)
: มุจฺ + อ = มุจ > โมจ > โมข : โม + กฺ + ข = โมกฺข แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมเป็นที่หลุดพ้น” (2) “ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากราคะเป็นต้น”
“โมกฺข” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การเปลื้อง, ความพ้น (release, freedom from)
(2) การปลดเปลื้อง, การหลุดพ้น, การช่วยให้หลุดพ้น (release, deliverance, salvation)
(3) ปล่อย, ส่งแสง ส่งเสียง หรือส่งออก, เปล่ง [วาจา] (letting loose, emission, uttering [of speech])
ในบาลียังมี “โมกฺข” อีกความหมายหนึ่ง ใช้เป็นคุณศัพท์ รากศัพท์มาจาก มุจฺ (ธาตุ = หลุด, พ้น) + ต (ตะ) ปัจจัย, แผลง อุ ที่ มุ-(จฺ) เป็น โอ แล้วแปลง จฺ เป็น ก (มุจฺ > โมจ >โมก), แปลง ต เป็น ข
: มุจฺ + ต = มุจต > โมจต > โมกฺต > โมกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่พ้นจากความต่ำต้อยและปานกลาง” หมายถึง สูงสุด, ที่หนึ่ง, นำหน้า, เลิศ (the headmost, first, foremost)
บาลี “โมกฺข” สันสกฤตเป็น “โมกฺษ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“โมกฺษ : (คำนาม) บรมคติ, ความหลุดพ้นแห่งอาตมันจากร่างกาย, และพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป; มรณะ; ความพ้นทุกข์; final emancipation, the liberation of the soul from the body, and its exemption from further transmigration; death; liberation or freedom.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) โมกข-, โมกข์ ๑ : (คำนาม) ความหลุดพ้น, นิพพาน. (ป.; ส. โมกฺษ).
(2) โมกษ-, โมกษะ : (คำนาม) ความหลุดพ้น, นิพพาน. (ส.; ป. โมกฺข).
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “โมกษะ” เป็นอังกฤษว่า salvation; release; deliverance; liberation; the state of disentanglement; release; freedom.
ในที่นี้ “โมกฺข” ใช้ในความหมายว่า เปล่งวาจา (uttering of speech) (ดูความหมายข้อ (3) ข้างต้น)
“โมกฺข” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “โมกฺโข”
(๒) “กลฺยาณิยา”
รูปคำเดิมเป็น “กลฺยาณี” มาจาก กลฺยาณ + อี ปัจจัย
(ก) “กลฺยาณ” อ่านว่า กัน-ลฺยา-นะ (ลฺยา- ออกเสียงควบกัน คล้ายคำว่า เลีย) รากศัพท์มาจาก กลฺย (เหมาะสม, ดีงาม) + อณฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ (กลฺ)-ย เป็น อา
: กลฺย + อณฺ = กลฺยณ + ณ = กลฺยณณ > กลฺยณ > กลฺยาณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กรรมที่ถึงความปราศจากโรค” (คือไม่เจ็บไม่ป่วย แข็งแรง = ดีงาม) (2) “กรรมที่ยังบุคคลให้ถึงประโยชน์เกื้อกูล”
“กลฺยาณ” มีความหมายหลายอย่าง คือ –
(1) งดงาม, ดีงาม, มีเสน่ห์, เป็นศุภมงคล, เป็นอนุเคราะห์, มีประโยชน์, มีคุณธรรมดี (beautiful, charming; auspicious, helpful, morally good)
(2) สิ่งที่ดีหรือมีประโยชน์, ของดีต่างๆ (a good or useful thing, good things)
(3) ความดี, คุณธรรม, บุญกุศล, กุศลกรรม (goodness, virtue, merit, meritorious action)
(4) ความกรุณา, ความอุปการะ (kindness, good service)
(5) ความงาม, ความสะดุดตาหรือดึงดูดใจ, ความสมบูรณ์พร้อม (beauty, attraction, perfection)
“กลฺยาณ” ภาษาไทยใช้เป็น “กัลยาณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กัลยาณ– : (คำวิเศษณ์) งาม, ดี, ใช้เป็นบทหน้าสมาส เช่น กัลยาณคุณ = คุณอันงาม กัลยาณธรรม = ธรรมอันดี กัลยาณมิตร = มิตรดี. (ป., ส.).”
(ข) กลฺยาณ + อี ปัจจัย = กลฺยาณี แปลว่า “มีความงาม”
“กลฺยาณี” ภาษาไทยใช้เป็น “กัลยาณี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กัลยาณี : (คำนาม) นางงาม, หญิงงาม. (ป., ส.).”
ในที่นี้ “กลฺยาณี” เป็นคำขยาย (วิเสสนะ) ของ “วาจา” แจกด้วยวิภัตตินามที่หก (ฉัฏฐีวิภัตติ) เอกวจนะ อิตถีลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “กลฺยาณิยา” (กัน-ลฺยา-นิ-ยา)
(๓) “สาธุ”
อ่านว่า สา-ทุ รากศัพท์มาจาก สาธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + อุ ปัจจัย
สาธฺ + อุ = สาธุ แปลตามศัพท์ว่า “ยังประโยชน์ให้สำเร็จ” มีความหมายว่า “ดีแล้ว” “ถูกต้องแล้ว” “ใช่แล้ว” “เห็นชอบด้วย”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สาธุ” ในความหมายต่างๆ ดังนี้ –
(1) good, virtuous, pious (ดี, มีคุณธรรม, มีศรัทธาแก่กล้า)
(2) good, profitable, proficient, meritorious (ดี, งาม, คล่อง, มีกำไร, เป็นกุศล)
(3) well, thoroughly (อย่างดี, โดยทั่วถึง)
(4) come on, welcome, please (โปรดมาซี, ขอต้อนรับ, ยินดีต้อนรับ : ใช้ในฐานะเป็นคำขอร้องเชิญชวน)
(5) alright, yes (ดีแล้ว ตกลง : ใช้ในฐานะเป็นคำยอมรับและอนุมัติในการตอบคำถาม หรือกรณีอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน)
ในที่นี้ “สาธุ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) และ (2)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “สาธุ” ไว้ว่า –
(1) (คำวิเศษณ์) ดีแล้ว, ชอบแล้ว, (เป็นคําที่พระสงฆ์เปล่งวาจาเพื่อยืนยันหรือรับรองพิธีทางศาสนาที่กระทําไป).
(2) (ภาษาปาก) (คำกริยา) เปล่งวาจาแสดงความเห็นว่าชอบแล้วหรืออนุโมทนาด้วย, มักใช้เข้าคู่กับคำ โมทนา เป็น โมทนาสาธุ
(3) (คำกริยา) ไหว้ (เป็นคําบอกให้เด็กแสดงความเคารพตามธรรมเนียม กร่อนเสียง เป็น ธุ ก็มี).
ในที่นี้ “สาธุ” ทำหน้าที่ขยาย “โมกฺโข” ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “วิกติกัตตา” ใช้คำแปลว่า “เป็น…” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ คงรูปเป็น “สาธุ”
ขยายความ :
“โมกฺโข กลฺยาณิยา สาธุ” เป็นคาถา (คำร้อยกรอง) 1 บาท หรือ 1 วรรค แปลโดยพยัญชนะยกศัพท์ว่า –
โมกฺโข = อันว่าการเปล่งออก
กลฺยาณิยา (วาจาย) = *ซึ่งวาจาอันงาม
สาธุ = เป็นกิจอันยังประโยชน์ให้สำเร็จ
(โหติ = ย่อมเป็น)
*หมายเหตุ: “กลฺยาณิยา” แจกด้วยวิภัตตินามที่หก (ฉัฏฐีวิภัตติ) ตามปกติใช้คำเชื่อมประจำวิภัตติว่า “แห่ง, ของ, เมื่อ” (แห่งวาจาอันงาม, ของวาจาอันงาม, เมื่อวาจาอันงาม) แต่ในที่นี้ใช้คำเชื่อมว่า “ซึ่ง” (ซึ่งวาจาอันงาม) อันเป็นคำเชื่อมประจำวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ)
การที่ใช้คำเชื่อมต่างวิภัตติเช่นนี้ ภาษาไวยาการณ์บาลีเรียกว่า “หักฉัฏฐีเป็นกรรม” หมายถึง รูปศัพท์เป็นฉัฏฐีวิภัตติ แต่ใช้คำเชื่อมของทุติยาวิภัตติ เรียกชื่อในวิชาวากยสัมพันธ์ว่า “ฉัฏฐีกัมมะ”
หนังสือพุทธศาสนสุภาษิตเล่ม 1 หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี แปลเป็นไทยว่า –
“เปล่งวาจางาม ยังประโยชน์ให้สำเร็จ”
ข้อความเต็มของสุภาษิตบทนี้เป็นดังนี้ –
…………..
กลฺยาณิเมว มุญฺเจยฺย
น หิ มุญฺเจยฺย ปาปิกํ
โมกฺโข กลฺยาณิยา สาธุ
มุตฺวา ตปฺปติ ปาปิกํ.
(กัล๎ยาณิเมวะ มุญเจยยะ
นะ หิ มุญเจยยะ ปาปิกัง
โมกโข กัล๎ยาณิยา สาธุ
มุต๎วา ตัปปะติ ปาปิกัง.)
ที่มา:
สารัภมชาดก เอกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 88
ชาตกัฏฐกถา ภาค 2 หน้า 241
…………..
หนังสือพุทธศาสนสุภาษิตเล่ม 2 หลักสูตรนักธรรมชั้นโท แปลเป็นไทยว่า –
พึงเปล่งวาจางามเท่านั้น
ไม่พึงเปล่งวาจาชั่วเลย
การเปล่งวาจางามยังประโยชน์ให้สำเร็จ
คนเปล่งวาจาชั่วย่อมเดือดร้อน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คำชมที่ไม่ได้ออกมาจากใจจริง
: ควรเก็บไว้นิ่งๆ ในใจ
#บาลีวันละคำ (4,048)
13-7-66
…………………………….
…………………………….