บาลีวันละคำ

ประกาศอุโบสถ (บาลีวันละคำ 4,052)

ประกาศอุโบสถ

ประกาศอนาคตของพระพุทธศาสนา

อ่านว่า ปฺระ-กาด-อุ-โบ-สด

ประกอบด้วยคำว่า ประกาศ + อุโบสถ

(๑) “ประกาศ

บาลีเป็น “ปกาส” อ่านว่า ปะ-กา-สะ รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + กาสฺ (ธาตุ = ส่องแสง, ส่งเสียง) + (อะ) ปัจจัย

: + กาสฺ = ปกาสฺ + = ปกาส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ส่องสว่างทั่ว” “ผู้ส่งเสียงไปทั่ว

ปกาส” ในบาลีมักใช้ในความหมายว่า แสงสว่าง, ความสว่าง (light)

ถ้าใช้ในความหมายว่า การอธิบาย, การทำให้ทราบ, ข่าวสาร, หลักฐาน, การชี้แจง, การประกาศ, การเผยแพร่ (explaining, making known; information, evidence, explanation, publicity) บาลีนิยมใช้ในรูป “ปกาสน” (ปะ-กา-สะ-นะ) ( + กาสฺ + ยุ > อน = ปกาสน)

ปกาส สันสกฤตเป็น “ปฺรกาศ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ปฺรกาศ : (คำนาม) ‘ประกาศ,’ สูรยาตบะ, สูรยาโลก, แสงแดด; โศภา, ประภา; ความเบิกบาน, ความสร้าน, ความแสดงไข; หัวเราะ; ยิ้ม; ความเปิดเผยหรือแพร่หลาย; ธาตุสีขาวหรือธาตุหล่อระฆัง; sunshine; luster, light, expansion, diffusion, manifestation; a laugh; a smile; publicity; white or bellmetal.”

ในภาษาไทยใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “ประกาศ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประกาศ : (คำกริยา) ป่าวร้อง, แจ้งให้ทราบ, เช่น ประกาศงานบุญงานกุศล. (คำนาม) ข้อความที่แจ้งให้ทราบทั่วกัน เช่น ประกาศของวัด ประกาศของบริษัท; ข้อความที่ทางราชการแจ้งให้ประชาชนทราบหรือวางแนวทางให้ปฏิบัติ เช่น ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศกระทรวง ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี. (ส. ปฺรกาศ; ป. ปกาส).”

(๒) “อุโบสถ” 

บาลีเป็น “อุโปสถ” อ่านว่า อุ-โป-สะ-ถะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + วสฺ (ธาตุ = อยู่) + อถ ปัจจัย, แปลง อะ ที่ (อุ)- กับ -(สฺ) เป็น โอ (อุป + วสฺ > อุโปส)

: อุป + วสฺ = อุปวสฺ > อุโปส + อถ = อุโปสถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมเป็นที่เข้าจำ”, “กาลเป็นที่เข้าจำ” (คือเข้าไปอยู่โดยการถือศีลหรืออดอาหาร) (2) “กาลเป็นที่เข้าถึงการอดอาหารหรือเข้าถึงศีลเป็นต้นแล้วอยู่

อุโปสถ” ในภาษาบาลีมีความหมาย 4 อย่าง –

(1) การสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน = อุโบสถกรรม (biweekly recitation of the Vinaya rules by a chapter of Buddhist monks; the days for special meetings of the order, and for recitation of the Pāṭimokkha)

(2) การอยู่จำรักษาศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา = อุโบสถศีล (observance; the observance of the Eight Precepts; the Eight Precepts observed by lay devotees on Uposatha days)

(3) วันสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ และวันรักษาศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา = วันอุโบสถ (Uposatha days)

(วันอุโบสถของพระสงฆ์ คือ ขึ้น 15 ค่ำ, แรม 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำเมื่อเดือนขาด, วันอุโบสถของอุบาสกอุบาสิกาเพิ่มอีกสองวัน คือ ขึ้นและแรม 8 ค่ำ)

(4) สถานที่สงฆ์ทำสังฆกรรม เรียกเต็มศัพท์ว่า “อุโปสถาคาร” หรือ “อุโปสถัคคะ” = โรงอุโบสถ คือที่เราเรียกว่า “โบสถ์” (the Uposatha hall; consecrated assembly hall)

อุโปสถ” ใช้ในภาษาไทยว่า “อุโบสถ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุโบสถ ๑ : (คำนาม) เรียกสถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมกันทําสังฆกรรมเช่นสวดพระปาติโมกข์ อุปสมบท ว่า โรงอุโบสถ หรือ อุโบสถ, เรียกย่อว่า โบสถ์; (ภาษาปาก) เรียกวันพระว่า วันอุโบสถ; เรียกการแสดงพระปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุก ๆ กึ่งเดือน คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑๕ ค่ำ หรือวันแรม ๑๔ ค่ำ ในเดือนขาด ว่า การทําอุโบสถ; เรียกการรักษาศีล ๘ ของคฤหัสถ์ว่า การรักษาอุโบสถ. (ป. อุโปสถ; ส. อุโปษธ, อุปวสถ).”

อุโบสถ” ในที่นี้หมายถึง อุโบสถศีล

ประกาศ + อุโบสถ = ประกาศอุโบสถ เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลัง คือแปลว่า “ประกาศเรื่องการรักษาอุโบสถศีล” 

ขยายความ :

การรักษาอุโบสถศีล” หมายถึง การรักษาองค์ ๘ ที่โดยทั่วไปเรียกกันว่า “ศีล ๘” ของอุบาสกอุบาสิกา

ปกติการรักษาอุโบสถศีลตามแบบแผนจะทำกันที่วัดในวันพระ เริ่มด้วยการ “ประกาศอุโบสถ” นั่นคือ เมื่อทำกิจอื่นๆ เสร็จแล้ว พร้อมแล้ว พระภิกษุจะให้ศีลอุโบสถก่อนแสดงพระธรรมเทศนา เมื่อพระธรรมกถึกขึ้นสู่ธรรมาสน์แล้ว ผู้แทนคณะผู้รักษาอุโบสถที่ได้รับมอบหมายจะทำหน้าที่กล่าวคำประกาศอุโบสถ

คำประกาศอุโบสถมีทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย ภาษาบาลีจะมีข้อความตรงกัน แต่ภาษาไทยอาจยักเยื้องแตกต่างกันออกไปตามแต่ละวัด

ต่อไปนี้เป็นคำประกาศอุโบสถที่ใช้อยู่ที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี

…………………………

อัชชะ  โภนโต  ปักขัสสะ  อัฏฐะมีทิวะโส.  (ถ้าวันพระ ๑๕ ค่ำ ว่า  ปัณณะระสีทิวะโส  ถ้าวันพระ ๑๔ ค่ำ ว่า  จาตุททะสีทิวะโส)  เอวะรูโป  โข  โภนโต  ทิวะโส  พุทเธนะ  ภะคะวะตา  ปัญญัตตัสสะ  ธัมมัสสะวะนัสสะ  เจวะ  ตะทัตถายะ  อุปาสะกะอุปาสิกานัง  อุโปสะถัสสะ  จะ  กาโล  โหติ.

หันทะ  มะยัง  โภนโต  สัพเพ  อิธะ  สะมาคะตา  ตัสสะ  ภะคะวะโต  ธัมมานุธัมมะปะฏิปัตติยา  ปูชะนัตถายะ,  อิมัญจะ  รัตติง  อิมัญจะ  ทิวะสัง  อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง  อุโปสะถัง  อุปะวะสิสสามาติ  กาละปะริจเฉทัง  กัต์วา  ตัง  ตัง  เวระมะณิง  อารัมมะณัง  กะริต์วา  อะวิกขิตตะจิตตา  หุต์วา  สักกัจจัง  อุโปสะถัง  สะมาทิเยยยามะ.  อีทิสัง หิ  อุโปสะถะกาลัง  สัมปัตตานัง  อัมหากัง  ชีวิตัง  มา  นิรัตถะกัง  โหตุ.

ขอประกาศเริ่มเรื่องความที่จะรักษาอุโบสถศีลให้สาธุชนทราบทั่วกันก่อนแต่สมาทาน, วันนี้เป็นวันอุโบสถ ขึ้น ๘ ค่ำ (เปลี่ยนไปตามวันพระนั้นๆ คือ แรม ๘ ค่ำ, ขึ้น ๑๕ ค่ำ, แรม ๑๕ ค่ำ หรือ แรม ๑๔ ค่ำ) แห่งปักษ์, เป็นวันที่สาธุชนอุบาสกอุบาสิกาพึงสดับพระธรรมเทศนาและรักษาอุโบสถศีลอันประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการ 

บัดนี้ ขอกุศลอันยิ่งใหญ่ คือการตั้งจิตสมาทานองค์ ๘ ประการแห่งอุโบสถนั้นจงเกิดมีแก่สาธุชนทั้งหลายผู้มาประชุมพร้อมกันในสถานที่นี้, จงกำหนดว่า เราจักรักษาอุโบสถศีลสิ้นคืนและวันวันนี้, พึงทำความเว้นจากโทษนั้นๆ ให้เป็นอารมณ์ คือ 

เว้นจากฆ่าสัตว์ ๑

เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย ๑

เว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ๑

เว้นจากพูดปด ๑

เว้นจากดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑

เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือตั้งแต่ตะวันเที่ยงแล้วไป ๑

เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล และทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยระเบียบดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อมเครื่องทา ๑

เว้นจากที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ ภายในมีนุ่นและสำลี ๑ ฉะนี้

อย่าให้จิตฟุ้งซ่านส่งไปอื่น จงสมาทานองค์ ๘ ประการแห่งอุโบสถนั้นโดยเคารพ เพื่อจะบูชาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นด้วยธัมมานุธัมมปฏิบัติ ตามกำลังของคฤหัสถ์ทั้งหลาย, ชีวิตของเราทั้งหลายที่ได้ดำรงมาจนถึงวันอุโบสถเช่นนี้แล้ว อย่าให้ล่วงไปเปล่าปราศจากประโยชน์เลย. 

…………………………

เมื่อประกาศอุโบสถจบแล้ว พระสงฆ์จะให้ศีลอุโบสถและแสดงพระธรรมเทศนาเป็นลำดับไป 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รักษาศีลอุโบสถ

: รักษาอนาคตของพระศาสนา

#บาลีวันละคำ (4,052)

17-7-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *