ขุททานุขุททกะ (บาลีวันละคำ 4,056)
ขุททานุขุททกะ
คำที่วัดใจพระมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล
อ่านว่า ขุด-ทา-นุ-ขุด-ทะ-กะ
แยกศัพท์เป็น ขุทท + อนุขุททกะ
(๑) “ขุทท”
เขียนแบบบาลีเป็น “ขุทฺท” (มีจุดใต้ ทฺ ตัวหน้า) อ่านว่า ขุด-ทะ รากศัพท์มาจาก ขุทฺ (ธาตุ = ไม่ทน) + ท ปัจจัย
: ขุทฺ + ท = ขุทฺท แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่ทน” (คือแตกหักง่าย)
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ขุทฺท” ว่า น้อย, เล็ก, ผอม, บาง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ขุทฺท” ว่า small, inferior, low; trifling, insignificant (เล็ก, เลวกว่า, ต่ำต้อย; ไม่สำคัญ, เป็นเรื่องหยุมหยิม)
(๒) “อนุขุททกะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “อนุขุทฺทก” (มีจุดใต้ ทฺ ตัวหน้า) อ่านว่า อะ-นุ-ขุด-ทะ-กะ แยกศัพท์เป็น อนุ + ขุทฺทก
(ก) “อนุ” คำอุปสรรค = น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ
(ข) “ขุทฺทก” รากศัพท์มาจาก + ขุทฺ (ธาตุ = ไม่ทน) + ท ปัจจัย + ก ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “ก-สกรรถ” (กะ-สะ-กัด) คือลง ก ข้างท้าย แต่มีความหมายเท่าเดิม
: ขุทฺ + ท = ขุทฺท + ก = ขุทฺทก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่ทน”
“ขุทฺทก” ในบาลีมีความหมายเท่ากับ “ขุทฺท” นั่นเอง เพียงแต่เติม ก-สกรรถ คือลง ก ข้างท้ายศัพท์ ความหมายเท่าคำเดิม
: อนุ + ขุทฺทก = อนุขุทฺทก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่ทนชนิดเล็กน้อย”
ขุทฺท + อนุขุทฺทก = ขุทฺทานุขุทฺทก แปลว่า “เล็กน้อยและเล็กน้อยลงไป”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ขุทฺทานุขุทฺทก” ว่า “small and still smaller”, i. e. all sorts of small items or whatever is small or insignificant. (“เล็กและเล็กกว่านั้น”, คือชิ้นหรืออันเล็ก ๆ ทุกชนิด หรืออะไรก็ตามที่เล็กหรือไม่สำคัญ)
หมายเหตุ :
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “ขุทท” และ “อนุขุททกะ” แต่เก็บคำว่า “ขุทกนิกาย” ไว้
แสดงว่า “ขุททก” ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ ตัด ท ออกตัวหนึ่ง สะกดเป็น “ขุทก” ดังนั้น “ขุทฺทานุขุทฺทก” ในภาษาไทยควรสะกดเป็น “ขุทานุขุทกะ”
แต่ในที่นี้ ขอสะกดคงรูปบาลีเป็น “ขุททานุขุททกะ” โดยเหตุผลว่า เป็นศัพท์วิชาการ
ขยายความ :
“ขุททานุขุททกะ” ที่ควรแก่การสนใจเป็นพิเศษ คือที่ใช้เป็นคำขยาย “สิกขาบท” เรียกรวมกันเป็น “ขุททานุขุททกสิกขาบท” อ่านว่า ขุด-ทา-นุ-ขุด-ทะ-กะ-สิก-ขา-บด
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ขุทฺทานุขุทฺทกสิกฺขาปทานิ” ว่า the minor observances of discipline, the lesser & minor precepts
(สิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ, สิกขาบทข้อย่อยและไม่สำคัญ)
“ขุททานุขุททกสิกขาบท” ปรากฏในพุทธประวัติตอนใกล้เสด็จดับขันธปรินิพพาน มีพุทธดำรัสตรัสแก่พระอานนท์ว่า
…………..
อากงฺขมาโน อานนฺท สงฺโฆ มมจฺจเยน ขุทฺทานุขุทฺทกานิ สิกฺขาปทานิ สมูหเนยฺยาติ ฯ
ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์จำนงอยู่ จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียก็ได้
…………..
พระอานนทเถระแจ้งเรื่องนี้ในที่ประชุมสงฆ์ทำปฐมสังคายนา และแจ้งว่าไม่ได้ทูลถามว่า “สิกขาบทเล็กน้อย” คือสิกขาบทข้อไหน
พระอรหันต์ที่เข้าประชุมได้จำลองแนวคิดของภิกษุบางพวกสมัยพุทธกาลมาเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา ดังที่บันทึกไว้ในคัมภีรจุลวรรค ภาค 2 พระวินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่มเล่ม 7 ข้อ 620 ขอนำมาเสนอเพื่อประดับปัญญาดังนี้ –
…………..
พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิย์ปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ เว้นปาฎิเทสนียะ ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
…………..
แสดงว่า แนวคิดของภิกษุที่จะรักษาศีลเฉพาะปาราชิก 4 สิกขาบทเท่านั้น มีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าพระถือศีลแค่สี่ข้อ
: ชาวพุทธจะท้อหรือยังจะนับถือพระอยู่
#บาลีวันละคำ (4,056)
21-7-66
…………………………….
…………………………….