กฐินสามัคคี
กฐินสามัคคี
————–
ทบทวนกันอีกที บางทีจะเจอขุมทรัพย์
สังเกตไหมครับว่า เวลานี้เมื่อพูดว่า “กฐิน” จะต้องมีคำว่า “สามัคคี” ต่อท้ายด้วยทุกทีไป ชวนให้เข้าใจว่าชื่อเต็มๆ ของกฐินคือ “กฐินสามัคคี” ไม่ใช่ “กฐิน” เฉยๆ
แล้วจริงๆ คืออะไร?
จริงๆ ก็คือ ชื่อจริงๆ ของกฐินก็คือ “กฐิน” เฉยๆ
ไม่ใช่ “กฐินสามัคคี”
อ้าว
ก็ควรจะอ้าว เพราะเวลานี้เราพูดว่า “กฐินสามัคคี” กันจนผิดกลายเป็นถูกไปแล้ว
และที่เจ็บปวด ถูกกลายเป็นผิด
อย่างที่ผมบอกว่า ชื่อจริงๆ ของกฐินก็คือ “กฐิน” เฉยๆ นี่แหละ จะต้องมีคนแย้งทันทีว่า จะเป็นอย่างนั้นได้ยังไง ก็ชาวบ้านเขาเรียก “กฐินสามัคคี” กันทั้งโลกแล้ว ยังมาตะแบงเรียก “กฐิน” เฉยๆ อยู่ได้ แหกตาดูโลกเขามั่งสิ
อ้าว
ไม่ต้องมาอ้าวเลย ไปให้พ้นๆ จะไปเรียก “กฐิน” เฉยๆ ที่ไหนก็ไปเลย แต่อย่ามาแหยมที่นี่
สวัสดีเลย
………….
สาเหตุก็มาจากการที่เราไม่รู้จัก “ถอยมาตั้งหลัก” กันมั่งเลย ตะบึงไปข้างหน้าท่าเดียว
หลักของกฐินคือมีเจ้าภาพได้รายเดียว ที่พลาดกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะไม่จับหลักนี้ไว้ให้แน่น
เพราะเหตุนี้จึงเกิดธรรมเนียม “จองกฐิน” คือประกาศความจำนงว่า ออกพรรษาปีนี้ข้าพเจ้าจะทอดกฐินที่วัดนี้ ใครอยากทอดกฐินจงไปทอดที่วัดอื่น ไม่ต้องมาวัดนี้ เพาะวัดนี้มีเจ้าภาพแล้ว
ทีนี้ก็เกิดเหตุ คือมีคนไปจองกฐินวัดเดียวกันพร้อมกันหลายเจ้าภาพ
ถ้ารายหนึ่งได้ รายอื่นๆ ก็อด
ก็แย่งกันเป็นเจ้าภาพนะซี จะรออะไรละ
ก็ทะเลาะกันนะซี จะอะไรเสียอีกละ
ก็จะฆ่ากันเพราะแย่งกันทำบุญนะซี จะอะไรเสียอีกละ
กฐินมีเจ้าภาพได้รายเดียว ทอดได้รายเดียว
ถ้ารายหนึ่งจองแล้ว รายอื่นๆ อดพะย่ะค่ะ
แล้วทำอย่างไรจึงจะทอดได้หมดทุกราย
ง่ายนิดเดียว เลิกทะเลาะกัน แล้วก็รวมตัวรวมใจให้เป็นหนึ่งเดียว จะ ๒ ราย ๕ ราย ๑๐ ราย ๑๐๐ ราย กี่รายก็ตาม รวมกันให้เป็นรายเดียว เป็นเจ้าภาพร่วมกัน แค่นี้ก็ได้ทอดหมดทุกราย ไม่ใช่อดทุกราย
นี่คือทะเลาะกันเพราะกฐิน แล้วก็มาคืนดีได้กันได้เพราะกฐิน
เราจึงเรียกกฐินที่เริ่มต้นด้วยการทะเลาะกัน แต่ลงท้ายด้วยการดีกันว่า “กฐินสามัคคี”
กฐินทั่วไป จองได้อย่างปลอดโปร่ง ไม่มีใครมาแย่ง ไม่ต้องทะเลาะกับใคร ไม่ต้องคืนดีกับใคร เพราะไม่มีใครโกรธกันมาก่อนด้วยเรื่องแย่งกันเป็นเจ้าภาพ เพราะฉะนั้นก็จึงไม่ต้องไปสามัคคีกับใคร
สามัคคีในความหมายดั้งเดิมคือ โกรธกันแล้วมาคืนดีกัน
ใครรู้เรื่องพระลงโบสถ์บ้าง?
“พระลงโบสถ์” กร่อนกลายมาจากคำว่า “พระลงทำอุโบสถสังฆกรรม” ที่เรารู้จักกันในคำว่าฟังปาติโมกข์
“อุโบสถ” ไทยเราเรียกสั้นๆ ว่า “โบสถ์”
“ลงทำอุโบสถสังฆกรรม” ตัดสั้นๆ มาแค่ “ลงโบสถ์”
……………………………………………………..
ลงโบสถ์
ก. ลงอุโบสถ; โดยปริยายหมายความว่า เข้ากันได้ (มักใช้ในประโยคปฏิเสธ) เช่น นาย ก กับ นาย ข ไม่ลงโบสถ์กัน.
ลงอุโบสถ
ก. เข้าร่วมสังฆกรรมฟังพระปาติโมกข์ในวันขึ้น ๑๕ คํ่า วันแรม ๑๔ หรือ แรม ๑๕ คํ่าของเดือน (ใช้แก่พระสงฆ์), ลงโบสถ์ ก็ว่า.
(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔)
……………………………………………………..
ลงโบสถ์ปกติทำในวันขึ้น ๑๕ คํ่า วันแรม ๑๔ หรือ แรม ๑๕ คํ่าของเดือน นี่เรารู้กันทั่วไป
รู้เพิ่มอีกหน่อย
ลงโบสถ์ปกติ ๑๕ คํ่า เรียกว่า “ปัณณรสิกอุโบสถ” (ปัน-นะ-ระ-สิ-กะ-)
ลงโบสถ์ปกติ ๑๔ คํ่า เรียกว่า “จาตุทสิกอุโบสถ” (จา-จุด-ทะ-สิ-กะ-)
แต่ที่คนส่วนมากไม่รู้ก็คือ มีการลงโบสถ์เป็นกรณีพิเศษด้วย คือกรณีที่สงฆ์แตกกันด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม แล้วกลับมาปรับความคิดความเห็นให้ตรงกันได้เหมือนเดิม นั่นคือกลับมาสามัคคีคืนดีกัน สงฆ์กลับมาสามัคคีกันได้วันไหน มีพุทธานุญาตให้ทำอุโบสถสังฆกรรมในวันนั้นได้เลยเป็นกรณีพิเศษ ไม่ต้องรอให้ถึง ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำตามปกติ และเรียกการทำอุโบสถสังฆกรรมในกรณีเช่นนี้ว่า “สามัคคีอุโบสถ”
งงละสิ เกิดมาไม่เคยได้ยิน
“สามัคคีอุโบสถ” จะเรียกแบบไทยๆ ว่า “อุโบสถสามัคคี” ก็ได้ เหมือน – “กฐินสามัคคี”
ถ้าภิกษุอยู่ด้วยกันเป็นปกติสุข ไม่ได้ทะเลาะอะไรกัน ถึงวันอุโบสถก็ลงโบสถ์ตามปกติ ก็ไม่ต้องเรียกว่า “สามัคคีอุโบสถ” หรือ “อุโบสถสามัคคี” ฉันใด
ถ้าเจ้าภาพทอดกฐินไม่ได้ทะเลาะกับใคร ไม่ได้แย่งกันเป็นเจ้าภาพกับใคร จองได้ทอดได้ตามปกติ ก็เรียกว่า “กฐิน” เฉยๆ ไม่ต้องเรียกว่า “กฐินสามัคคี” ฉันนั้น
เข้าใจหรือไม่
เข้าใจหรือยัง
………………
แต่-เชื่อเถอะ อธิบายจนปากฉีกก็ไม่มีใครเชื่อ
ทั้งนี้เพราะฝังหัวลงไปแล้ว คนหนึ่งไปจองกฐิน-ไม่ได้แย่งกับใครเลย-แล้วมาบอกญาติมิตรให้ไปร่วมบุญช่วยกันบริจาคช่วยกันหาเงินไปร่วมทอดกฐิน-แบบนี้แหละเขาเรียกว่า-กฐินสามัคคี
นี่แหละคือถูกกลายเป็นผิด และผิดกลายเป็นถูก
จะว่าอย่างนั้นก็ว่าไป ผมไม่ทะเลาะด้วย แต่ผมขอเสนอวิธีที่จะทำให้ผิดกลับไปเป็นถูกได้อีก
เบื้องต้น เรามีคำว่า “กฐินสามัคคี” เป็นทุนอยู่แล้วแม้จะเข้าใจผิดและเชื่อว่าเข้าใจถูก-ก็ไม่เป็นไร เรามาช่วยกันทำให้การทอดกฐินเป็น “กฐินสามัคคี” จริงๆ ไม่ใช่สามัคคีแต่ปาก
กฐินสามัคคีจริงๆ คือกฐินที่ไม่มีตัวบุคคลหรือนายดำนายแดงมาแสดงตัวเป็นเจ้าภาพใหญ่อย่างที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้
กฐินสามัคคีจริงๆ คือกฐินที่ประชาชนรวมตัวรวมใจกันเป็นเจ้าภาพ ชี้ไม่ได้ว่ากฐินของคนนั้นกฐินของคนนี้ มีแต่ “กฐินของพวกเรา”
แต่ที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่อย่างนี้
ใครไปจองกฐิน ก็จะแสดงตัวทันทีว่า ฉันเป็นเจ้าภาพ กฐินของฉัน คนอื่นเป็นแต่เพียงมาร่วม แม้จะใช้คำพูดให้ฟังดูดีว่า “เจ้าภาพร่วม” แต่ความรู้สึกก็ยังบอกอยู่ว่าเขาไม่ใช่เจ้าภาพ เขาเป็นแค่คนมาร่วม เจ้าภาพคือฉันนี่เพราะฉันเป็นคนจอง
แม้คนที่ไปร่วมบุญกฐินเองก็ยอมรับว่าฉันไม่ใช่เจ้าภาพ ฉันเป็นแค่คนมาร่วมบุญ เจ้าภาพตัวจริงเขานั่งอยู่โน่น ไม่ใช่ฉัน
นี่คือที่ผมว่า กฐินสามัคคีแต่ปาก ใจจริงไม่ได้สามัคคี
เราก็เริ่มด้วยการล้มความคิดว่า “ฉันเป็นเจ้าภาพ” ด้วยการปลูกความคิดว่า “กฐินของพวกเรา”
“พวกเรา” ในที่นี้คือประชาชนทั้งหมู่บ้านทั้งตำบลในละแวกวัดนั้นๆ ไม่ใช่พวกเราชาวคณะนั้นคณะนี้กลุ่มนั้นกลุ่มนี้-พวกเราแบบนี้ก็คือยังมีตัวกูของกูอยู่นั่นเอง
แต่อยู่ๆ จะให้ประชาชนคิดขึ้นมาได้เอง ไม่ได้
“สัตว์ต้องต้อน
คนต้องนำ”
นี่คือธรรมชาติ
เพราะฉะนั้น จะให้ประชาชนเกิดความคิดว่า “กฐินของพวกเรา” ก็ต้องมีคนนำ
โดยโครงสร้างการปกครองของไทยเรา เรามีตัวผู้นำอยู่แล้ว ของเดิมคือกำนันผู้ใหญ่บ้าน ของใหม่คือ อบต รวมทั้ง อบ…ทั้งหลาย แม้กระทั่งหน่วยงานของทางราชการที่ตั้งอยู่ในชุมชน
บุคคลและหน่วยงานเหล่านี้ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ บอกประชาชนว่า ต่อไปนี้กฐินวัดเรา พวกเราทั้งหมดเป็นเจ้าภาพร่วมกัน กำหนดรายละเอียดลงไป ตั้งองค์กฐินที่ไหน ใครจะรับอาสารับผิดชอบส่วนไหน แบ่งงานกันทำ ไม่ต้องถาม ไม่ต้องเรียกหาว่าใครเป็นเจ้าภาพใหญ่ ทุกบ้านทุกคนเป็นเจ้าภาพเสมอกัน
จะจัดตั้งเป็นคณะกรรมการจัดการทอดกฐินประจำหมู่บ้านประจำตำบลขึ้นมาก็น่าจะได้ เลือกกันเข้ามาว่าใครจะร่วมเป็นกรรมการ แต่ต้องระวัง อย่าให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นกฐินของคณะกรรมการ จะกลายเป็น-หลุดจากเจ้าภาพใหญ่ไปติดที่คณะกรรมการอีก
แม้แต่บุคคลและหน่วยงานที่ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำนั่นก็ด้วย นำเขาแล้วปล่อยให้ประชาชนช่วยกันรับลูกช่วยกันสานต่อ ไม่ใช่นำแล้วยึดเอาเป็นกฐินของกำนัน กฐินของผู้ใหญ่ กฐินของ อบต. แบบนั้นผิดเจตนารมณ์
เจตนารมณ์คือ จุดประกายให้ประชาชนเกิดความคิด – “กฐินของพวกเรา”
เมื่อประชาชนรับเอาการทอดกฐินไว้เป็นกฐินของพวกเราแล้ว ต่อไปการจองกฐินก็หมดความจำเป็นไปเอง
การจองกฐินก็คือการตีกันไม่ให้คนอื่นเป็นเจ้าภาพ
ในเมื่อประชาชนทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าภาพแล้ว ก็ไม่มีคนอื่นจะมาแย่ง จะต้องแย่งทำไมอีกในเมื่อได้เป็นเจ้าภาพร่วมกันอยู่แล้ว
คนอื่น-คนต่างถิ่น ต่างก็มีวัดในถิ่นของตนที่ตนเป็นเจ้าภาพเหมือนๆ กันอยู่แล้ว ก็จึงไม่จำเป็นจะต้องไปแย่งเป็นเจ้าภาพที่วัดไหนอีก
วัดแต่ละวัดก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้รับกฐิน วัดในละแวกไหน คนในละแวกนั้นเป็นเจ้าภาพทุกปีเป็นการถาวรอยู่แล้ว
ภาพตามที่ว่ามานี้คือ “กฐินสามัคคี” จริงๆ กฐินสามัคคีตัวจริง การปฏิบัติกับชื่อที่เรียกมีความหมายตรงกันจริงๆ
“กฐินสามัคคี” ตัวจริง ไม่ต้องมีเจ้าภาพเป็นรายบุคคล
ไม่ต้องมีตัวตนเข้าไปยึดถือว่า “กฐินของฉัน” กฐินของคนนั้น กฐินของคนนี้
มีแต่ “กฐินของพวกเรา” ที่ประชาชนในละแวกวัดนั้นๆ ร่วมกันทอด
ข้ามภูเขา “กฐินของกู” ไปได้
ก็จะเจอ “กฐินสามัคคี” ตัวจริง
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๕
๑๔:๓๕
…………………………….
…………………………….