บาลีวันละคำ

ปุเร (บาลีวันละคำ 4,060)

ปุเร

คำสั้น แต่คิดได้ยาว

ปุเร” อ่านว่า ปุ-เร เป็นศัพท์ที่บางกรณีใช้เหมือนคำนิบาต บางกรณีใช้เหมือนเป็นคำนาม นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลว่า “ปุเร ในก่อน” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า “ปุเร” เป็น indeclinable (อัพยยศัพท์ คือนิบาตชนิดหนึ่ง) ใช้ในความหมาย 2 นัย คือ –

(1) ก่อน, ข้างหน้า (before, in front) 

ความหมายนี้เล็งถึงกาลเวลาในอนาคต เช่นลง โต ปัจจัย เป็น “ปุรโต” (ปุ-ระ-โต) แปลว่า “ข้างหน้า” ถ้าเป็นสถานที่ คือที่อยู่ข้างหน้า เรายังไปไม่ถึง ถ้าเป็นกาลเวลา คือเวลาที่อยู่ข้างหน้า ยังมาไม่ถึง ตรงกับ “อนาคต” ตรงข้ามกับ “อดีต” คือที่ผ่านพ้นล่วงเลยไปแล้ว

แต่ในบางบริบท “ปุเร” ใช้หมายถึงอดีตกาล เช่น “ปุเรชาติ” = ชาติที่เกิดก่อน คือชาติในอดีต

(2) ก่อน, แต่ก่อน, เร็วกว่าหรือก่อนกว่า (before, formerly, earlier)

ความหมายนี้เล็งถึงลำดับก่อนหลัง เช่น ทำก่อน-ทำทีหลัง ไปก่อนคือล่วงหน้าไปก่อน-ไปทีหลัง คือตามไปทีหลัง “ปุเร” ในความหมายนี้ตรงข้ามกับ “ปจฺฉา” = ภายหลัง

ปุเร” ที่ยกมาเป็นบาลีวันละคำวันนี้ เล็งถึงกาลเวลาในอนาคต แปลว่า “ภายหน้า” คือกล่าวถึงเหตุการณ์อันจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

ขยายความ :

ในพระไตรปิฎกมีคำว่า “ปุเร” อยู่แห่งหนึ่งที่ควรศึกษาเพื่อให้เกิดสติระลึกถึงอนาคตของพระศาสนา ปรากฏในคำเสนอญัตติของพระมหากัสสปเถระในคราวที่พระอรหันต์ 500 ประชุมทำปฐมสังคายนาที่กรุงราชคฤห์เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงแล้ว 3 เดือน 

พระไตรปิฎกบันทึกไว้ดังนี้ –

…………..

ปุเร  อธมฺโม  ทิปฺปติ  ธมฺโม  ปฏิพาหิยติ  อวินโย  ทิปฺปติ  วินโย  ปฏิพาหิยติ  ปุเร  อธมฺมวาทิโน  พลวนฺโต  โหนฺติ  ธมฺมวาทิโน  ทุพฺพลา  โหนฺติ  อวินยวาทิโน  พลวนฺโต  โหนฺติ  วินยวาทิโน  ทุพฺพลา  โหนฺตีติ  ฯ

ที่มา: ปัญจสติกขันธกะ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 7 ข้อ 614

…………..

แปลโดยประสงค์ดังนี้

…………..

ปุเร  อธมฺโม  ทิปฺปติ  

ภายหน้า สภาวะมิใช่ธรรมจะรุ่งเรื่อง 

ธมฺโม  ปฏิพาหิยติ

ธรรมจะเสื่อมถอย 

อวินโย  ทิปฺปติ

สภาวะมิใช่วินัยจะรุ่งเรื่อง 

วินโย  ปฏิพาหิยติ

วินัยจะเสื่อมถอย

ปุเร  อธมฺมวาทิโน  พลวนฺโต  โหนฺติ

ภายหน้า อธรรมวาทีบุคคลจะมีกำลัง 

ธมฺมวาทิโน  ทุพฺพลา  โหนฺติ

ธรรมวาทีบุคคลจะเสื่อมกำลัง 

อวินยวาทิโน  พลวนฺโต  โหนฺติ

อวินยวาทีบุคคลจะมีกำลัง 

วินยวาทิโน  ทุพฺพลา  โหนฺตีติ  ฯ

วินัยวาทีบุคคลจะเสื่อมกำลัง

…………..

ต้นเหตุของเรื่องที่พระมหากัสสปเถระแถลงต่อที่ประชุมครั้งนั้นเนื่องมาจากเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานได้ 7 วัน พระสุภัททะ “ผู้บวชเมื่อภายแก่” ได้แสดงวาทะเป็นทำนองว่า พระพุทธเจ้านิพพานก็ดีแล้ว ต่อไปนี้เราจะได้ทำอะไรได้ตามใจชอบ 

พระมหากัสสปเถระระลึกถึงถ้อยคำเช่นนี้แล้วเกิดธรรมสังเวช

คัมภีร์อรรถกถาบรรยายถึงความรู้สึกของพระมหากัสสปเถระไว้ดังนี้ –

…………..

สตฺตาหมตฺตํ  ปรินิพฺพุโต  ภควา  อชฺชาปิ  หิสฺส  สุวณฺณวณฺณํ  สรีรํ  ธรติเยว  ทุกฺเขน  ภควตา  อาหริตสาสเน  นาม  เอวํ  ลหุํ  มหนฺตํ  ปาปกสฏํ  กณฺฏโก  อุปฺปนฺโน  ฯ  อยํ  โข  ปเนส  ปาโป  วฑฺฒมาโน  อญฺเญปิ  เอวรูเป  สหาเย  ลภิตฺวา  สกฺกา  สาสนํ  โอสกฺกาเปตุนฺติ  ฯ

ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 342

…………..

แปลโดยประสงค์ดังนี้

…………..

สตฺตาหมตฺตํ  ปรินิพฺพุโต  ภควา  

พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานได้เพียง 7 วัน 

อชฺชาปิ  หิสฺส  สุวณฺณวณฺณํ  สรีรํ  ธรติเยว  

แม้วันนี้พระสรีระของพระองค์มีพระฉวีวรรณดังทองคำก็ยังดำรงอยู่แท้ๆ 

(พูดภาษาชาวบ้านว่า ยังไม่ทันได้เผา ศพยังอยู่แท้ๆ)

เอวํ  ลหุํ  มหนฺตํ  ปาปกสฏํ  กณฺฏโก  อุปฺปนฺโน  ฯ

กากบาปเสี้ยนหนามอันใหญ่เกิดขึ้นเร็วถึงเพียงนี้ –

ทุกฺเขน  ภควตา  อาหริตสาสเน  นาม  

ในพระศาสนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำมาด้วยทุกข์ยาก 

อยํ  โข  ปเนส  ปาโป  วฑฺฒมาโน  

ก็แหละคนบาปชนิดนี้ เมื่อเติบโตขึ้น 

อญฺเญปิ  เอวรูเป  สหาเย  ลภิตฺวา  

ได้คนอื่นๆ ที่คิดอย่างเดียวกันเป็นพรรคพวก 

สกฺกา  สาสนํ  โอสกฺกาเปตุนฺติ  ฯ

ก็อาจจะทำพระศาสนาให้เสื่อมถอยลงไปได้ ดังนี้

…………..

เหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในคัมภีร์เกิดขึ้นเมื่อ 2,600 ปีมาแล้ว เป็นการทำนายอนาคตของพระศาสนาที่จะเกิดขึ้นในกาลภายหน้า-ซึ่งก็คือกาลปัจจุบันวันนี้

ข้อความที่ควรจับตาเป็นพิเศษ คือ “อญฺเญปิ  เอวรูเป  สหาเย  ลภิตฺวา” แปลตามศัพท์ว่า “ได้แล้ว ซึ่งสหาย ผู้มีรูปอย่างนี้ แม้อื่นๆ” = ได้คนอื่นๆ ที่คิดอย่างเดียวกันเป็นพรรคพวก 

ความข้อนี้ตรงกับที่กำลังนิยมอ้างกันอยู่ทุกวันนี้ว่า ที่ไหนๆ เขาก็ทำอย่างนี้ ใครๆ เขาก็ทำอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ 

คำทำนายวันนั้น กำลังแม่นอยู่ในวันนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: “ปุเร ภายหน้า” เมื่อสองพันหกร้อยปี

: วันนี้ธรรมวาทีกับอธรรมวาทีข้างไหนมากกว่ากัน

#บาลีวันละคำ (4,060)

25-7-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *