บาลีวันละคำ

ให้อภัย ในบาลี (บาลีวันละคำ 4,064)

ให้อภัย ในบาลี

ไม่เหมือน “ให้อภัย” ในภาษาไทย

ให้อภัย” ถ้าพูดเป็นคำบาลี เราก็จะนึกถึงคำว่า “อภัยทาน” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ให้อภัย

อภัยทาน” เขียนแบบบาลีเป็น “อภยทาน” อ่านว่า อะ-พะ-ยะ-ทา-นะ ประกอบด้วยคำว่า อภย + ทาน

(๑) “อภย” (อะ-พะ-ยะ) แปลว่า “ไม่มีภัย” “ไม่เป็นภัย” 

ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า ปลอดจากความกลัวหรืออันตราย, ไม่มีความกลัว, ปลอดภัย (free from fear or danger, fearless, safe) 

ใช้เป็นคำนาม มีความหมายว่า ความไว้วางใจ, ความปลอดภัย (confidence, safety)

(๒) “ทาน” (ทา-นะ) เรามักแปลและเข้าใจกันอย่างเดียวว่า “การให้” แต่ฝรั่งซึ่งนัยว่าเรียนบาลีทีหลังเรานานนักหนา แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ, การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง, ความใจบุญ)

อภย + ทาน = อภยทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้อภัย” คือ ให้ความไม่มีภัย, ให้ความปลอดภัย หมายถึง ไม่ทำอันตรายต่อกัน ไม่ว่ากับคนหรือกับสัตว์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อภัยทาน : (คำนาม) การให้ความไม่มีภัย เช่น ให้อภัยทาน. (คำวิเศษณ์) ที่ให้ความไม่มีภัย เช่น เขตอภัยทาน. (ป.).”

ในภาษาไทย ถ้าพูดว่า “ให้อภัย” เราเข้าใจกันว่า หมายถึง ไม่คุมแค้นเมื่อมีผู้ทำให้เดือดร้อน เสียหาย หรือทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะยอมรับผิดหรือไม่ก็ตาม

ขยายความ :

ให้อภัย” หรือ “อภัยทาน” ในบาลีคือการปฏิบัติเช่นไร คัมภีร์อรรถกถาอธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

อภยทานํ  ปน  ราชโต  โจรโต  อคฺคิโต  อุทกโต  เวริปุคฺคลโต  สีหพฺยคฺฆาทิวาฬมิคโต  นาคยกฺขรกฺขสปิสาจาทิโต  สตฺตานํ  ภเย  ปจฺจุปฏฺฐิเต  ปริตฺตาณภาเวน  เวทิตพฺพํ  ฯ  

ที่มา: ปกิณณกกถา ปรมัตถทีปนี อรรถกถาจริยาปิฎก หน้า 493

…………..

แปลโดยประสงค์:-

อภยทานํ  ปน  … เวทิตพฺพํ  

ส่วนอภัยทาน พึงทราบ (วิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้) –

สตฺตานํ  ภเย  ปจฺจุปฏฺฐิเต

เมื่อภัยปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย (คือภัย) —

ราชโต

(1) จากพระราชา 

โจรโต  

(2) จากโจร

อคฺคิโต  

(3) จากไฟ

อุทกโต  

(4) จากน้ำ

เวริปุคฺคลโต  

(5) จากศัตรู

สีหพฺยคฺฆาทิวาฬมิคโต  

(6) จากสัตว์ร้าย มีราชสีห์ เสือโคร่ง เป็นต้น 

นาคยกฺขรกฺขสปิสาจาทิโต  

(7) จากอมนุษย์ มีนาค ยักษ์ รากษส ปีศาจ เป็นต้น

ปริตฺตาณภาเวน  

ก็ช่วยป้องกัน (ภัยดังที่กล่าวนั้น ถ้ายังไม่เกิดก็อย่าให้เกิด ถ้าเกิดขึ้นก็ช่วยแก้ไขบรรเทา) 

…………..

คำบาลีว่า “สตฺตานํ” ที่แปลว่า “สัตว์ทั้งหลาย” นั้น พึงเข้าใจว่า “สัตว์” ในที่นี้ไม่ใช่ animal ตามที่มักรู้สึกกันเช่นนั้นในคำไทย แต่หมายถึง living being (สิ่งมีชีวิตซึ่งแตกต่างไปจากพรรณไม้ ส่วนมากมีความรู้สึกและเคลื่อนไหวย้ายที่ไปได้เอง)

ตามคำอธิบายข้างต้น จะเห็นได้ว่า “ให้อภัย” ในความหมายทางธรรมไม่ใช่ว่า ใครทำผิดต่อเราหรือทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ ก็ยกโทษให้ ไม่ถือโทษ ไม่เอาผิด (forgive) แบบนั้นก็อนุโลมเข้าเป็นส่วนหนึ่งได้ แต่ความหมายที่แท้จริง “อภัยทาน” หรือ “ให้อภัย” คือการไม่ก่อทุกข์โทษใดๆ แก่ใครทั้งปวง 

มองให้เป็นภาพก็คือ ใครๆ ไม่ต้องกลัวว่าเราจะไปทำอันตรายหรือก่อปัญหาใดๆ สรรพสัตว์จะไม่ได้รับภัยใดๆ จากเรา ตรงกันข้าม ใครใดมีภัย เราจะเข้าไปช่วยให้พ้นภัย ให้ปลอดภัย

อย่างนี้คือความหมายที่แท้จริงของ “อภัยทาน” หรือ “ให้อภัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

รู้ตัวว่าผิด: ดี

ยอมรับผิด: ดีมาก

ไม่เอาผิด: ดีกว่า

ไม่ทำผิด: ดีที่สุด

#บาลีวันละคำ (4,064)

29-7-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *