บาลีวันละคำ

พระบรมราชโองการ (บาลีวันละคำ 577)

พระบรมราชโองการ

(บาลีไทย)

อ่านว่า พฺระ-บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-โอง-กาน

ประกอบด้วย พระ + บรม + ราช + โองการ

คำว่า “พระ” มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง เป็น ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)

ในที่นี้คำว่า “พระ” เป็นคำใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่อง

บรม” บาลีเป็น “ปรม” (ปะ-ระ-มะ) แปลตามรากศัพท์ว่า (1) “ยังข้าศึกให้ตาย” (2) “ขัดเกลาผู้อื่นให้หมดจด” (3) “ยินดีในความยิ่งใหญ่” (4) “ผูกผู้อื่นไว้ด้วยความดี” (5) “ตักตวงคุณความดีไว้” (6) “รักษาความสูงสุดของตนไว้ได้” (7) “กำหนดรู้โลก” (8) “ถึงนิพพาน” แปลเอาความว่า อย่างยิ่ง, เยี่ยม, ยอดเยี่ยม, สูงสุด, ดีที่สุด

บรม” ในภาษาไทยมักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่

ราช” แปลว่า พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า “เป็นของพระเจ้าแผ่นดินหรือเกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน

โองการ” พจน.42 บอกไว้ว่า เป็นคำบาลี ถ้าสันสกฤตจะเป็น โอํการ = อักษรโอม หมายถึง พระเป็นเจ้าทั้ง 3 คือ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ

คำว่า “โอม” พจน.42 บอกไว้ดังนี้ –

1. คำที่ประกอบด้วยเสียง 3 เสียง คือ อ อุ ม (อ่านว่า อะ อุ มะ) รวมกัน ข้างฝ่ายฮินดูหมายถึง พระเจ้าทั้ง 3 คือ –

อ = พระศิวะ

อุ = พระวิษณุ

ม = พระพรหม

2. ข้างพระพุทธศาสนาเลียนเอามาใช้หมายถึง พระรัตนตรัย คือ –

อ = อรหํ (พระพุทธเจ้า)

อุ = อุตฺตมธมฺม (พระธรรมอันสูงสุด)

ม = มหาสงฺฆ (พระสงฆ์)

3. นับถือเป็นคําศักดิ์สิทธิ์, เป็นคำขึ้นต้นของการกล่าวมนตร์

ความเห็น

1. คำว่า “โอม” ถ้าเป็นบาลี ประสมจาก อ-อุ-ม อ่านว่า โอ-มะ

2. คำว่า “-การ” (บาลีอ่านว่า กา-ระ) ในคำว่า “โองการ” แปลว่า “ตัวอักษรโองการ = ตัวอักษรโอม

3. โอม + การ ควรเป็น โอมการ (โอ-มะ-กา-ระ)

4. แต่เมื่อต้องการให้ออกเสียง “โอม” เป็น โอมฺ ( เป็นตัวสะกด) อย่างเสียงในคำไทย : โอมฺ + การมฺ” มีฐานะเป็นเสียงนิคหิต เมื่ออยู่หน้าอักษร “” ตามกฎจำต้องแปลงนิคหิตเป็นพยัญชนะตัวสุดท้ายของอักษรในวรรค คือ “” (= ก ข ค ฆ ) ดังนั้น โอมฺ + การ จึงเป็น โองฺการ (โอง-กา-ระ) และมาเป็น “โองการ” (โอง-กาน) ในภาษาไทย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “โองฺการ” บอกไว้ว่า “รหัสยนามของเทพดา” (the mysterious name of the deity)

พจน.42 บอกไว้ว่า

โองการ : คําศักดิ์สิทธิ์ เช่น โองการแช่งน้ำ, ถ้าเป็นคําศักดิ์สิทธิ์มาจากพระดํารัสสั่งของพระเจ้าแผ่นดิน เรียกว่า พระราชโองการ หรือ พระบรมราชโองการ”

สรุป :

พระ + บรม + ราช + โองการ = พระบรมราชโองการ แปลตามศัพท์ว่า “คำศักดิ์สิทธิ์ของพระราชาผู้ยอดเยี่ยม” “คำศักดิ์สิทธิ์อย่างยอดยิ่งของพระราชา” ความหมายที่เข้าใจง่ายๆ คือ “คำสั่งของพระราชา

: ช่วยกันทำพระบรมราชโองการให้ศักดิ์สิทธิ์

ด้วยการอุทิศชีวิตทำงานให้ประชาชนร้องว่าพอใจ พอใจ

14-12-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย