บาลีวันละคำ

อิมํ เตมาสํ (บาลีวันละคำ 4,068)

อิมํ เตมาสํ

ท่องจนขลัง น่าจะดี

อิมํ เตมาสํ” เป็นคำบาลี 2 คำ คือ “อิมํ” คำหนึ่ง “เตมาสํ” อีกคำหนึ่ง

(๑) “อิมํ” 

อ่านว่า อิ-มัง เป็นวิเสสนสัพพนาม รูปคำเดิมคือ “อิม” อ่านว่า อิ-มะ แปลว่า “นี้” (this) แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “อิมํ” 

ในที่นี้ “อิมํ” เป็นคำขยาย (วิเสสนะ) คำว่า “เตมาสํ

(๒) “เตมาสํ” 

อ่านว่า เต-มา-สัง แยกศัพท์เป็น เต + มาส 

(ก) “เต” ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “ติ” เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “สังขยา” คือคำนับจำนวน แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)

หลักภาษา :

(1) “ติ” หรือ “เต” ถ้าคงรูปเช่นนี้ จะต้องมีคำอื่นมาสมาสท้ายเสมอ ไม่ใช้เดี่ยวๆ

(2) ในกรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย “ติ” คงรูปเป็น “ติ” ก็มี แผลงเป็น “เต” ก็มี เช่น –

ติรตน (ติ-ระ-ตะ-นะ) = รัตนะสาม 

เตมาส (เต-มา-สะ) = สามเดือน 

(3) ในภาษาไทย “ตรี” มักแผลงมาจาก ติ– “ไตร” มักแผลงมาจาก เต– 

อาจจับหลักไว้ง่ายๆ ว่า –

: ติ > ตรี 

: เต > ไตร 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เก็บคำว่า “เต” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –

เต : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) สาม, ใช้เติมหน้าศัพท์สังขยาเป็นเศษจํานวนเต็ม เช่น เตรสมสุรทิน = วันที่ ๑๓, เตรสีดิถี = วัน ๑๓ คํ่า, เตวีสติมสุรทิน = วันที่ ๒๓, เตติงสติมสังวัจฉระ = ปี (แห่งรัชกาล) ที่ ๓๓. (ป.).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่ เป็นดังนี้ –

เต : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) สาม, ใช้เติมหน้าศัพท์สังขยาที่เป็นหลักสิบ เช่น เต = ๓ วีสติ = ๒๐ เตวีสติ = ๒๓. (ป.).”

(ข) “มาส” บาลีอ่านว่า มา-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มสิ (ธาตุ = กะ, กำหนด) + ปัจจัย, ยืดเสียง ที่ – เป็น อา, ลบ อิ ที่ –สิ

: มสิ > มาสิ > มาส + = มาส แปลตามศัพท์ว่า “กาลที่เหมือนกำหนดอายุของเหล่าสัตว์ทำให้สิ้นสุด” หมายถึง เดือน (ส่วนของปี)

(2) มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ) + ปัจจัย

: มา + = มาส แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องกำหนดข้างแรมและข้างขึ้นของวัน” หมายถึง ดวงจันทร์

มาส” (ปุงลิงค์) จึงมีความหมาย 2 อย่าง คือ เดือน (month) และ ดวงจันทร์ (moon)

คำว่า “เดือน” ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่า ส่วนของปี และ ดวงจันทร์

เต + มาส = เตมาส (เต-มา-สะ) แปลว่า “สามเดือน

มาส” เป็นปุงลิงค์ แต่เมื่อสมาสกับ “เต” เป็น “เตมาส” เปลี่ยนสถานะเป็นนปุงสกลิงค์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เตมาส” ว่า 3 months, i. e. a season (สามเดือน, คือ หนึ่งฤดู)

เตมาส” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกพจน์ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “เตมาสํ” (เต-มา-สัง)

ในภาษาไทย “เตมาส” แผลงเป็น “ไตรมาส” 

ไตรมาส” แต่เดิมก็คงหมายถึงช่วงเวลาที่พระสงฆ์จำพรรษา ดังคำถวายผ้ากฐินว่า “น้อมนำมาถวายพระสงฆ์จึงจำพรรษากาลถ้วนไตรมาสในอาวาสวิหารนี้”

ปัจจุบันคำว่า “ไตรมาส” ถูกนำไปใช้ในการบอกระยะเวลาการประกอบธุรกิจว่า ไตรมาสแรก ไตรมาสที่สอง … เป็นต้น โดยไม่เกี่ยวกับฤดูกาลตามธรรมชาติ เช่น “ปริมาณการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ….”

คำว่า “ไตรมาส” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

ขยายความ :

ในภาษาบาลี คำว่า “เตมาส” มักใช้ในความหมายว่า สามเดือนในฤดูฝน คือช่วงเวลาที่พระสงฆ์จำพรรษา สมด้วยคำที่พระภิกษุอธิษฐานอยู่จำพรรษาว่า –

…………..

อิมสฺมึ  อาวาเส  อิมํ  เตมาสํ  วสฺสํ  อุเปมิ.

(อหํ = อันว่าข้าพเจ้า) 

อุเปมิ = ขอเข้าจำ 

วสฺสํ = ซึ่งกาลฝน

เตมาสํ = ตลอดไตรมาส

อิมํ = นี้

อาวาเส = ในอาวาส

อิมสฺมึ = นี้

อิมสฺมึ  อาวาเส  อิมํ  เตมาสํ  วสฺสํ  อุเปมิ.

ข้าพเจ้าขอเข้าจำพรรษาตลอดไตรมาสในอาวาสนี้

…………..

อิมํ  เตมาสํ” ตัดตอนมาจากคำอธิษฐานจำพรรษาของพระภิกษุดังแสดงมานี้

แถม :

ปีนี้แรมค่ำ 1 เดือน 8 วันเข้าพรรษา ตรงกับวันที่ 2 สิงหาคม

แต่อย่าเข้าใจผิดว่าวันที่ 2 สิงหาคมเป็นวันเข้าพรรษา

ช่วยกันพูดว่า วันเข้าพรรษาคือแรมค่ำ 1 เดือน 8

แรมค่ำ 1 เดือน 8 จะตรงกับวันที่เท่าไร ดูกันเป็นปีๆ ไป

วันที่เท่าไรเดือนอะไร เปลี่ยนได้

แต่แรมค่ำ 1 เดือน 8 ไม่เปลี่ยน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หมั่นพูดคำบาลีให้ติดปาก

: เวลาโกรธใครมากๆ จะได้ด่าเป็นบาลี

#บาลีวันละคำ (4,068)

2-8-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *