มาโรกาสํ ลภนฺตุ มา (บาลีวันละคำ 4,069)
มาโรกาสํ ลภนฺตุ มา
เรียนบาลีจากคำกรวดน้ำ
อ่านว่า มา-โร-กา-สัง ละ-พัน-ตุ มา
คำบาลีที่ตาเห็นมี 3 คำ คือ “มาโรกาสํ” “ลภนฺตุ” “มา”
(๑) “มาโรกาสํ”
อ่านว่า มา-โร-กา-สัง เป็นคำบาลี 2 คำ สนธิกัน แยกศัพท์เป็น มารา + โอกาสํ
(ก) “มารา” รูปคำเดิมเป็น “มาร” อ่านว่า มา-ระ แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ยังกุศลธรรมให้ตาย” คือมารเข้าที่ไหน ความดีที่มีอยู่ในที่นั้นก็ถูกทำลายหมดไป ความดีใหม่ๆ ก็ทำไม่ได้
(2) “ผู้เป็นเครื่องหมายแห่งความเศร้าหมองยังความดีให้ตาย” คือไม่ใช่ฆ่าความดีให้ตายอย่างเดียว หากแต่ยังก่อให้เกิดความสกปรกเลอะเทอะอีกด้วย
สรุปว่า “มาร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้ตาย” มีความหมายว่า สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มาร” ว่า Death, the Evil one, the Tempter (ความตาย, คนชั่วร้าย, นักล่อลวง)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มาร, มาร– : (คำนาม) เทวดาจําพวกหนึ่ง มีใจบาปหยาบช้าคอยกีดกันไม่ให้ทําบุญ; ยักษ์; ผู้ฆ่า, ผู้ทำลาย, ในพระพุทธศาสนาหมายถึงผู้กีดกันบุญกุศล มี ๕ อย่าง เรียกว่า เบญจพิธมาร คือ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร, โดยปริยายหมายถึงผู้ที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง. (ป., ส.).”
“มาร” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหุวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “มารา” แปลว่า “อันว่ามารทั้งหลาย”
(ข) “โอกาสํ”รูปคำเดิมเป็น “โอกาส” อ่านว่า โอ-กา-สะ แปลตามศัพท์ว่า “ช่องเป็นที่ไถลง”
อธิบายเป็นภาพว่า ถ้าเอาไถไปไถตรงไหน แล้วไถนั้นไม่ถูกอะไรเลย มีแต่ปักหัวลงท่าเดียว ตรงนั้นแหละเรียกว่า “โอกาส”
ดังนั้น ความหมายของ “โอกาส” ก็คือ –
1 ที่ว่าง, ช่องว่าง, ที่โล่งแจ้ง, บรรยากาศ, อวกาศ
2 การมองเห็นได้, รูปร่าง
3 วาระ, จังหวะ, การตกลง, ความยินยอม ( = อนุญาตให้-)
4 (คุณศัพท์) มองดูเหมือน-, ดูปรากฏว่า-
“โอกาส” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “โอกาสํ” แปลว่า “ซึ่งโอกาส”
มารา + โอกาสํ = มาโรกาสํ
พึงทราบว่า “มาโรกาสํ” ไม่ใช่คำเดียวกัน เป็นคำ 2 คำที่สนธิกันด้วยเหตุผลทางฉันทลักษณ์ กล่าวคือ ข้อความตรงนี้ต้องการคำ 4 พยางค์ มารา กับ โอกาสํ นับรวมกันได้ 5 พยางค์ เกินต้องการ จึงแก้ปัญหาด้วยวิธีเชื่อมเสียง มา-รา โอ-กา-สัง เข้าด้วยกันเป็น มา-โร-กา-สัง จาก 5 พยางค์เหลือ 4 พยางค์ตามต้องการ
ถามว่า มารา + โอกาสํ เป็น “มารากาสํ” ไม่ได้หรือ ทำไมต้องเป็น “มาโรกาสํ”
ตอบว่า เป็นวิธีรักษารูปคำเดิม ถ้าเป็น “มารากาสํ” อาจแยกศัพท์เป็น มารา + อากาสํ รูปคำเดิมของ “โอกาสํ” ก็จะคลาดเคลื่อนไป ทำให้เข้าใจผิดไปได้ว่าคำนี้เป็น “อากาสํ” ไม่ใช่ “โอกาสํ”
แต่เมื่อเป็น “มาโรกาสํ” การแยกศัพท์จะไม่มีโอกาสผิดพลาด คือเห็นได้ชัดว่าคำหลังต้องเป็น “โ-กาสํ” ส่วนจะเป็น มาโร + โอกาสํ หรือ มารา + โอกาสํ ก็ดูบริบทคือข้อความอื่นๆ ในประโยค
คำสำคัญในประโยคนี้คือ “ลภนฺตุ” ซึ่งเป็นคำกริยา (กิริยา) พหุวจนะ เป็นการบังคับให้ “มาร” ซึ่งเป็นประธานในประโยคต้องเป็นพหุวจนะ นั่นคือต้องเป็น “มารา” ไม่ใช่ “มาโร”
มารา + โอกาสํ ใช้สูตร “ลบสระหน้า คงสระหลัง” สระหน้าคือ อา ที่ (มา)-รา : มารา > มาร สระหลังคือ โอ ที่ โอ-(กาส)
: มารา > มาร + โอกาสํ = มาโรกาสํ
“มาโรกาสํ” ตาเราเห็นเป็นคำเดียว แต่สถานะของคำเป็น 2 คำ
คนไม่ได้เรียนบาลีเห็นเป็น “มาโรกาสํ”
คนเรียนบาลีเห็นเป็น “มารา โอกาสํ”
นี่คือความได้เปรียบของคนเรียนบาลี
(๒) “ลภนฺตุ”
อ่านว่า ละ-พัน-ตุ เป็นคำกิริยาอาขยาต ปฐมบุรุษ (ประธานเป็นผู้ที่ถูกพูดถึง ในที่นี้คือ “มารา”), พหุวจนะ รากศัพท์มาจาก ลภฺ (ธาตุ = ได้) + อ (อะ) ปัจจัยประจำหมวด ภู ธาตุ + อนฺตุ (อัน-ตุ) วิภัตติอาขยาตหมวดปัญจมี
: ลภฺ + อ + อนฺตุ = ลภนฺตุ แปลว่า “จงได้”
(๓) “มา”
เป็นคำจำพวก “นิบาต” คำจำพวกนี้ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คือคงรูปเดิมเสมอ อาจเปลี่ยนรูปโดยวิธีสนธิกับคำอื่นบ้าง แต่คงถือว่าเป็นคำเดิมเพราะเวลาแปลต้องแยกคำออกเป็นคำเดิมเสมอ
นักเรียนบาลีมักท่องจำรวมกับคำอื่นในกลุ่มเดียวกันว่า “น ไม่ โน ไม่ มา อย่า ว เทียว” (น [นะ] = ไม่, โน = ไม่, มา = อย่า, ว [วะ] = เทียว)
“มา” เป็นนิบาตบอกความปฏิเสธ แปลว่า ไม่, อย่า, หวังว่าคงไม่, ขอให้…ไม่ (not, do not, let us hope not, I wish that … not)
ขยายความ :
“มาโรกาสํ ลภนฺตุ มา” เป็นวรรคหนึ่งในบทกรวดน้ำ “อิมินา” มีชื่อเป็นทางการว่า “อุททิสสนาธิฏฐานคาถา” (อุด-ทิด-สะ-นา-ทิด-ถา-นะ-คา-ถา) แปลตามประสงค์ว่า “คาถาตั้งจิตอุทิศส่วนบุญ” คนเก่าท่องได้กันเป็นส่วนมาก คนไม่รู้หนังสือก็ยังอุตส่าห์ท่องได้ น่าอนุโมทนา
ภายหลัง สำนักสวนโมกขพลารามได้แปลเป็นบทร้อยกรองเผยแพร่ใช้สวดควบกัน มีผู้ท่องบ่นกันแพร่หลายทั่วไป
“มาโรกาสํ ลภนฺตุ มา” เขียนแบบคำอ่านเป็น “มาโรกาสัง ละภันตุ มา” แปลโดยพยัญชนะว่า
มารา = อันว่ามารทั้งหลาย
มา ลภนฺตุ = จงอย่าได้
โอกาสํ = ซึ่งโอกาส
แปลรวมความว่า “ขอมารทั้งหลายจงอย่าได้โอกาส (ที่จะมาขัดขวางการอุทิศส่วนบุญของข้าพเจ้า)”
ข้อควรระวัง :
เวลาเขียนคำบาลี โปรดแยกคำให้ถูกต้อง
มาโรกาสํ /คำหนึ่ง
ลภนฺตุ /คำหนึ่ง
มา /คำหนึ่ง
มาโรกาสํ / ลภนฺตุ / มา
มาโรกาสํ ลภนฺตุ มา.
แถม :
บทกรวดน้ำอิมินา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: แยกคำ ต้องใช้สูตรสนธิ์
: แยกคน ต้องใช้ศาสตร์ศิลป์
#บาลีวันละคำ (4,069)
3-8-66
…………………………….
…………………………….