บาลีวันละคำ

สมณบริขาร (บาลีวันละคำ 4,071)

สมณบริขาร

คู่แฝดที่ไม่มีใครเรียกขาน

อ่านว่า สะ-มะ-นะ-บอ-ริ-ขาน

ประกอบด้วยคำว่า สมณ + บริขาร

(๑) “สมณ” 

อ่านว่า สะ-มะ-นะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” หรือแปลสั้นๆ ว่า “ผู้สงบ” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต

ข้อสังเกต: ศัพท์ที่ลง ยุ ปัจจัย แปลงเป็น อน มักจะเป็นนปุงสกลิงค์ แต่ที่เป็นปุงลิงค์ก็มีบ้าง เช่น “สมณ” ศัพท์นี้เป็นต้น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมณ” ว่า a wanderer, recluse, religieux (นักบวช, ฤๅษี, สมณะ) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมณ-, สมณะ : (คำนาม) ผู้สงบกิเลสแล้ว โดยเฉพาะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา. (ป.; ส. ศฺรมณ).”

(๒) “บริขาร

อ่านว่า บอ-ริ-ขาน บาลีเป็น “ปริกฺขาร” อ่านว่า ปะ-ริก-ขา-ระ (โปรดสังเกตว่าบาลีเป็น ปริกฺ– มี กฺ สะกดด้วย ไม่ใช่ ปริ-) รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ), แปลง เป็น (กรฺ > ขรฺ), ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ 

: ปริ + กฺ + กรฺ = ปริกฺกร + = ปริกฺกรณ > ปริกฺกร > ปริกฺการ > ปริกฺขาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาจัดทำไว้โดยรอบ

ผู้จัดทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลความหมายของ “ปริกฺขาร” ว่า “all that belongs to anything” (อะไรก็ตามซึ่งเป็นของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง) 

ปริกฺขาร” หมายถึง –

(1) สิ่งจำเป็น, เครื่องอุปกรณ์, เครื่องประกอบ, เครื่องมือ, เครื่องช่วย (requisite, accessory, equipment, utensil, apparatus)

(2) “ของที่จำเป็นหนึ่งชุด” ของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และประกอบด้วยปัจจัย 4 อย่าง คือ จีวร, บิณฑบาต, ที่นั่งและที่นอน, เภสัชสำหรับบำบัดความป่วยไข้ (“set of necessaries” of a Buddhist monk & comprises the 4 indispensable instruments of a mendicant, i. e. robe, alms-bowl, seat & bed, medicine as help in illness)

(3) บริขาร 8 คือ ไตรจีวร, บาตร, มีดโกน, กล่องเข็ม, ประคดเอว, ผ้ากรองน้ำ (the 8 requirements : the 3 robes, the bowl, a razor, a needle, the girdle, a water-strainer)

ปริกฺขาร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บริขาร

สมณ + ปริกฺขาร = สมณปริกฺขาร (สะ-มะ-นะ-ปะ-ริก-ขา-ระ) แปลว่า “เครื่องใช้สอยของสมณะ

สมณปริกฺขาร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สมณบริขาร” (สะ-มะ-นะ-บอ-ริ-ขาน)

ขยายความ :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “บริขาร” ที่เกี่ยวข้องกัน 3 คำ ขอยกมาให้ดูเทียบกันดังนี้ –

(1) บริขาร : (คำนาม) เครื่องใช้สอยของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา มี ๘ อย่าง คือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคดเอว กระบอกกรองนํ้า (ธมกรก) เรียกว่า อัฐบริขาร, สมณบริขาร ก็เรียก. (ป. ปริกฺขาร).

(2) สมณบริขาร : (คำนาม) เครื่องใช้สอยของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา มี ๘ อย่าง คือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคดเอว กระบอกกรองนํ้า (ธมกรก), อัฐบริขาร ก็เรียก. (ป.).

(3) อัฐบริขาร : (คำนาม) เครื่องใช้สอยของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา มี ๘ อย่าง คือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคดเอว กระบอกกรองนํ้า (ธมกรก), สมณบริขาร ก็เรียก. (ป. อฏฺฐปริขาร).

โปรดสังเกตว่า ทั้ง 3 คำ ใช้คำนิยามเดียวกัน

…………..

บริขาร” และ “อัฐบริขาร” มีคนพูดกันทั่วไป แต่ “สมณบริขาร” แทบจะไม่ได้ยินใครพูด

โปรดเข้าใจว่า “อัฐบริขาร” และ “สมณบริขาร” หมายถึงสิ่งเดียวกัน

สมณบริขาร” 8 อย่างมีอะไรบ้าง ขอให้ทบทวนพร้อมกับชื่อบาลี ดังนี้ – 

1 อุตฺตราสงฺโค = ผ้าห่ม หรือที่เรียกกันว่า จีวร

2 อนฺตรวาสโก = ผ้านุ่ง ที่เรียกว่า สบง 

3 สงฺฆาฏิ = ผ้าห่มซ้อน มักเรียกทับศัพท์ว่า สังฆาฏิ 

4 ปตฺโต = บาตร 

5 วาสี = มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ 

6 สูจิ = เข็มเย็บผ้า (พร้อมด้าย) 

7 กายพนฺธนํ = ประคดเอว 

8 ปริสฺสาวนํ = กระบอกกรองนํ้า เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ธมฺมกรก ในภาษาไทยใช่ว่า ธมกรก (ทะ-มะ-กะ-หฺรก)

…………..

ประมวลความจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ที่คำว่า “บริขาร” ได้ความที่ควรคำนึงดังนี้ –

บริขาร : ของใช้ส่วนตัวของพระ, เครื่องใช้สอยประจำตัวของภิกษุ; บริขารที่จำเป็นแท้จริง คือ บาตร และจีวร ซึ่งต้องมีพร้อมก่อนจึงจะอุปสมบทได้ แต่ได้ยึดถือกันสืบมาให้มีบริขาร ๘ (อัฐบริขาร) คือ ไตรจีวร (สังฆาฏิ อุตราสงค์ อันตรวาสก) บาตร มีดเล็ก เข็ม ประคดเอว ผ้ากรองน้ำ 

ท่านผู้บรรลุธรรมเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า มีบริขาร ๘ เกิดขึ้นเองพร้อมกับการหายไปของเพศคฤหัสถ์ พระสาวกในยุคต้นพุทธกาลก็มีบริขาร ๘ เกิดขึ้นเองเมื่อได้รับอุปสมบทเป็นเอหิภิกขุ 

ภิกษุผู้สันโดษในพระพุทธศาสนา ซึ่งเบาตัว จะไปไหนเมื่อใดก็ได้ตามปรารถนาดังนกที่มีแต่ปีกจะบินไปไหนเมื่อใดได้ดังใจนั้น คือท่านที่มีเพียงบริขาร 8 เท่านั้น

…………..

อนึ่ง โปรดเข้าใจให้ถูกต้องว่า  “สมณบริขาร” หรือ “อัฐบริขาร” นั้น เป็น “เครื่องใช้สอยของพระภิกษุ” หรือ “สมณะ” โดยเฉพาะ (ดูคำจำกัดความของพจนานุกรมฯ ข้างต้น) ไม่ใช่เครื่องใช้สอยของสามเณร (สามเณรยังไม่ใช่สมณะ เป็นเพียง “เหล่ากอของสมณะ”) ผู้บวชเป็นสามเณรไม่มีกำหนดบังคับว่าต้องมีบริขารทั้ง 8 

บางท่านเขียนเพลินไปว่า “ช่วยกันเตรียมอัฐบริขารสำหรับบวชสามเณร”

เวลานี้ใครเขียนผิดพูดผิดก็ไม่มีใครทักท้วงกัน ถือกันว่าเป็นมารยาทอย่างหนึ่ง ใครไปทักท้วงเข้าจะถูกมองว่าเป็นคนไม่มีมารยาท คำที่ผิดเรื่องที่ผิดก็คงเสนอตัวอยู่เช่นนั้น เปิดโอกาสให้คนอื่นๆ นำไปอ้างอิงต่อไปอีก จนในที่สุดผิดกลายเป็นถูก

เวลานี้มีพฤติกรรมใหม่เกิดขึ้นอีก คือ แทนที่จะช่วยกันแก้ไขที่ผิดให้ถูก กลับมีผู้นิยมช่วยกันอธิบายผิดให้กลายเป็นถูก นับว่าเป็นความวิปริตชนิดหนึ่งที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่ว่าจะบวชในเพลหรือนอกเพล

: ถ้าบวชเป็นสามเณรไม่ต้องมีอัฐบริขารนะจ๊ะ

#บาลีวันละคำ (4,071)

5-8-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *