บาลีวันละคำ

สัจนิยม (บาลีวันละคำ 4,079)

สัจนิยม

นิยมให้ตรงกับความจริง

อ่านว่า สัด-จะ-นิ-ยม

ประกอบด้วยคำว่า สัจ + นิยม

(๑) “สัจ

เขียนแบบบาลีเป็น “สจฺจ” อ่านว่า สัด-จะ รากศัพท์มาจาก –

(1) (แทนศัพท์ว่า “สนฺต” = สัตบุรุษ, คนดี) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย, แปลง ภู เป็น

: + ภู > = สจ + = สจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีในคนดีทั้งหลาย” (สัจจะจึงต้องเป็นไปในทางดี) 

(2) สรฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ (ส)-รฺ (สรฺ > ), ซ้อน จฺ

: สรฺ > + จฺ + = สจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียนทุกข์” (สัจจะจึงต้องใช้เพื่อแก้ทุกข์ คือแก้ปัญหา)

สจฺจ” เป็นคำนาม แปลว่า ความจริง (the truth), การยืนยันแน่นอน (a solemn asseveration) เป็นคุณศัพท์ แปลว่า จริง, แท้ (real, true)

สจฺจ” ยังหมายถึง พระนิพพาน โดยนัยว่า เพราะไม่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นเหตุสิ้นราคะ หรือเพราะนับเนื่องในสัจจะสี่

สจฺจ” สันสกฤตเป็น “สตฺย” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) สตฺย : (คุณศัพท์) ‘สัตย์’ จริง, มีสัตย์; วิศุทธ์, สุจจริต, ศุทธมติ, หรือกล่าวความจริง; true; sincere, honest, speaking the truth.

(2) สตฺย : (คำนาม) ‘สัตย์’ ความจริง; ประติชญาหรือคำศบถ; การกล่าวความจริง; ความวิศุทธิหรือความจริงใจ true; an oath; speaking the truth; sincerely, or veracity.

สจฺจ” ในภาษาไทย นิยมตัด ออกตัวหนึ่ง เขียนเป็น “สัจ” ถ้าใช้คำเดียวและอ่านว่า สัด-จะ เขียนเป็น “สัจจะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) สัจ, สัจ-, สัจจะ : (คำนาม) ความจริง, ความจริงใจ, เช่น ทำงานร่วมกันต้องมีสัจจะต่อกัน. (ป. สจฺจ; ส. สตฺย).

(2) สัตย-, สัตย์ : (คำนาม) ความจริง เช่น รักษาสัตย์, คำมั่นสัญญา, เช่น เสียชีพอย่าเสียสัตย์ ลูกเสือให้สัตย์ปฏิญาณ.(คำวิเศษณ์) จริง เช่น วาจาสัตย์, มักใช้เข้าคู่กับคำอื่น เช่น สัตย์ซื่อ ซื่อสัตย์ สัตย์จริง. (ส.; ป. สจฺจ).

ความหมายในภาษาไทย :

(ตามความเข้าใจของผู้เขียนบาลีวันละคำ)

(๑) สัจจะ : มีความหมายหนักไปในทาง > 

(1) ความจริง (the truth) ตรงข้ามกับความเท็จ

(2) จริงใจ, อย่างมีน้ำใสใจจริง (sincere, heartfelt) ตรงข้ามกับมารยา เสแสร้ง

(๒) สัตย์ : มีความหมายหนักไปในทาง > 

(1) ตรง, โดยตรง; ตรงไปตรงมา (straight, direct; straightforward, honest, upright) ตรงข้ามกับมีลับลมคมใน มีเล่ห์เหลี่ยม

(2) ความซื่อตรง, ความซื่อสัตย์ (straightness, uprightness) ตรงข้ามกับทรยศคดโกง หักหลัง 

(๒) “นิยม” 

บาลีอ่านว่า นิ-ยะ-มะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ยมุ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + (อะ) ปัจจัย

: นิ + ยมฺ = นิยมฺ + = นิยม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ต้องกำหนดด้วยเวลาเป็นต้น” (คือ เหตุผลที่จะนำมาใช้เป็นข้อกำหนดมีหลายอย่าง หนึ่งในหลายอย่างนั้นคือกาลเวลา)

นิยม” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การสำรวม, การบังคับยับยั้ง, การฝึกฝน, การควบคุมตนเอง (restraint, constraint, training, self-control)

(2) การกำหนดแน่, ความแน่นอน, การจำกัด (definiteness, certainty, limitation)

(3) กฎธรรมชาติ, กฎของจักรวาล (natural law, cosmic order)

ความหมายของ “นิยม” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิยม : (คำแบบ) (คำนาม) การกำหนด. (ป., ส.). (คำกริยา) ชมชอบ, ยอมรับนับถือ, ชื่นชมยินดี, ใช้ประกอบท้ายคำสมาสบางคำใช้เป็นชื่อลัทธิ เช่น ลัทธิชาตินิยม ลัทธิสังคมนิยม.”

ประสมคำ :

เขียนแบบบาลี : สจฺจ + นิยม = สจฺจนิยม (สัด-จะ-นิ-ยะ-มะ)

เขียนแบบไทย : สัจ + นิยม = สัจนิยม (สัด-จะ-นิ-ยม)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัจนิยม : (คำที่ใช้ในศิลปะและวรรณคดี) (คำนาม) คตินิยมในการสร้างสรรค์วรรณกรรมหรือศิลปะซึ่งแสดงให้เห็นชีวิตและโลกอย่างสมจริง; (คำที่ใช้ในปรัชญา) ทฤษฎีที่ถือว่าโลกและวัตถุเป็นสิ่งมีอยู่จริงเช่นเดียวกับจิต และมีอยู่อย่างอิสระจากจิต. (อ. realism).”

ขยายความ :

สัจนิยม” เป็นคำที่บัญญัติขึ้นเทียบคำอังกฤษว่า realism 

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล realism ว่า ลักษณะเหมือนจริง, การมองดูสภาพที่เป็นจริง

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล realism เป็นบาลีว่า: 

yathābhūta-nirūpana ยถาภูตนิรูปน (ยะ-ถา-พู-ตะ-นิ-รู-ปะ-นะ) = การกำหนดเห็นตามความเป็นจริง

อภิปราย :

สัจนิยม” ควรเป็นคำที่อยู่ในชุดเดียวกับ “-นิยม” อีก 2 คำ คือ “สุนิยม” และ “ทุนิยม

สุนิยม” เป็นศัพท์ทางปรัชญา บัญญัติขึ้นเทียบคำอังกฤษว่า optimism 

ทุนิยม” เป็นศัพท์ทางปรัชญา บัญญัติขึ้นเทียบคำอังกฤษว่า pessimism 

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำอังกฤษชุดนี้เป็นไทยดังนี้ – 

optimism : การมองในแง่ดี, ความเบิกบานใจ

optimist : ผู้ที่มองเหตุการณ์ไปในทางดี

pessimism : มองดูในแง่ร้าย 

pessimist : คนมองดูสิ่งต่างๆ ในแง่ร้าย

สุนิยม” น่าจะตรงกับคำที่นิยมเรียกกันในเวลานี้ว่า “โลกสวย” ถ้าเป็นคนก็เรียกว่าพวกโลกสวย มองเห็นแต่ส่วนดี ไม่สนใจส่วนเสีย หรือบางทีก็ไม่เชื่อว่าจะมีส่วนเสียด้วยซ้ำไป 

พวกสุนิยมมีเหตุผลว่า ชีวิตนี้ไม่ยาวนาน ไม่ควรเสียเวลาไปกับเรื่องเลวร้าย ควรเลือกรับเลือกเสพแต่สิ่งที่ดีงามดีกว่า เป็นกำไรชีวิต 

ส่วน “ทุนิยม” ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่ได้เห็นคำที่ใช้เรียกกันชัดเจน ถ้าจะใช้คำที่ล้อเสียงกัน ก็น่าจะเรียกว่า “โลกเสื่อม” เป็นพวกที่เห็นตรงกันข้าม

พวกทุนิยมก็มีเหตุผลว่า โลกไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด จึงไม่ควรหลงเพลิดเพลินไปกับสิ่งลวงตา ควรคิดป้องกันและขจัดปัญหาเพื่อชีวิตที่ไม่ยาวนานนี้จะได้อยู่อย่างสงบสุขหมดทุกข์ภัย 

…………..

มักมีผู้เข้าใจว่าพระพุทธศาสนาเป็นพวกทุนิยม เพราะสอนแต่เรื่องทุกข์ ผู้รู้ท่านว่าพระพุทธศาสนาไม่เป็นทั้ง “ทุนิยม” ไม่เป็นทั้ง “สุนิยม” แต่พระพุทธศาสนาเป็น “สัจนิยม” คือมองโลกตามความเป็นจริง ตรงกับคำบาลีว่า “ยถาภูตํ ปชานาติ” แปลว่า “กำหนดรู้ตามความเป็นจริง

หมายความว่า ความจริงของโลกเป็นอย่างไร ก็ให้รู้เท่าทัน เราไม่มีหน้าที่ไปตัดสินว่า “โลกสวย” หรือ “โลกเสื่อม” แต่มีหน้าที่รู้ให้ตรงกับความจริงที่โลกเป็น อาจใช้คำให้เข้าชุดว่า “โลกสัจ” เราไม่เกณฑ์โลกให้เป็นตามที่เราเห็น แต่เราทำความเห็นให้ตรงกับที่โลกเป็น 

เมื่อทำได้อย่างนี้ เราก็จะเห็นความจริง สามารถปฏิบัติให้ถูก ให้ควร ให้ตรงกับความจริงนั้นได้ และอยู่กับโลกได้ แต่จิตใจเป็นอิสระเหนือกระแสโลก 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มองโลกสวย ก็ไม่เห็นภัย

: มองโลกจังไร ก็ไม่เห็นความเพริศพริ้ง

: มองโลกตามความเป็นจริง จึงจะรู้ว่าเห็นอะไร

#บาลีวันละคำ (4,079)

13-8-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *