อำมหิต (บาลีวันละคำ 582)
อำมหิต
อ่านว่า อำ-มะ-หิด
มาจากคำอะไร ?
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า
“อำมหิต : ดุร้าย, ร้ายกาจ, ทารุณ, เหี้ยมโหด”
แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นคำที่มาจากภาษาอะไร
ลากเข้าวัด
– กฎ
คำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต ซึ่งพยางค์แรกเป็น “อ” แผลงเป็น “อำ” ได้ เช่น
อมาตย์ เป็น อำมาตย์ (ข้าราชการ, ข้าเฝ้า, ที่ปรึกษา)
อมรินทร์ เป็น อำมรินทร์ (พระอินทร์)
อนรรฆ เป็น อำนรรฆ (หาค่ามิได้, เกินที่จะประเมินราคาได้)
– สันนิษฐานนัยที่ 1
“อำมหิต” แผลงมาจาก “อมหิต” (อะ-มะ-หิ-ตะ) คือ อ (< น) + มหิต = อมหิต
“มหิต” แปลว่า ให้เกียรติ, เคารพ, นับถือ (honoured, revered)
“อมหิต” แปลว่า ไม่ให้เกียรติ, ไม่เคารพ, ไม่นับถือ
– สันนิษฐานนัยที่ 2
“อำมหิต” แผลงมาจาก “อหิต” (อะ-หิ-ตะ) คือ อ (< น) + หิต = อหิต
“หิต” (คุณศัพท์) แปลว่า มีประโยชน์, เหมาะสม, เป็นประโยชน์, เป็นมิตร (useful, suitable, beneficial, friendly) (นาม) เพื่อน, ผู้มีบุญคุณ (a friend, benefactor) คุณประโยชน์, พร, ความดี (benefit, blessing, good)
“อหิต” แปลว่า ไม่ดีหรือไม่เป็นมิตร, มีอันตราย, เลว; ความไม่มีใจเมตตากรุณา (not good or friendly, harmful, bad; unkindliness)
ความหมายเด่นของ “อหิต” ในภาษาบาลีคือ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์, สิ่งที่มีโทษ
“อหิต” เมื่อนำมาแผลงในภาษาไทย ออกเสียง อำ-หิด (ตามกฎ อะ เป็น อำ) ระหว่างเสียง “อำ” กับ “หิด” จะมีเสียง “มะ” แทรกตามธรรมชาติของการเปล่งเสียง (อำ-(มะ)-หิด) จึงสะกดตามเสียงจริงเป็น “อำมหิต”
เมื่อดูความหมายตาม พจน.42 (อำมหิต : ดุร้าย, ร้ายกาจ, ทารุณ, เหี้ยมโหด) สรุปได้ว่า “อำมหิต” น่าจะมาจาก “อหิต” ในภาษาบาลีตามสันนิษฐานนัยที่ 2 มากกว่า “อมหิต” ตามสันนิษฐานนัยที่ 1
: ยอดอำมหิต คือประพฤติทุจริตถ้วนไตรทวาร
18-12-56