บาลีวันละคำ

อามิส (บาลีวันละคำ 583)

อามิส

ไทยอ่านว่า อา-มิด

บาลีอ่านว่า อา-มิ-สะ

รากศัพท์คือ อา (= ภายใน) + มิ (ธาตุ = ใส่) + สก ปัจจัย ลบ

: อา + มิ + สก > = อามิส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ใส่ไว้ภายใน” (คือใส่ไว้ล่อ)

อามิส” ภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

1. เนื้อสด (raw meat)

2. ดิบ, ไม่ได้ตระเตรียม, ไม่มีการปลูกฝัง (raw, unprepared, uncultivated)

3. มีเนื้อ, วัตถุ, อามิส (fleshy, material, physical)

4. อาหาร, อาหารที่ถูกปาก, อาหารสำหรับกินเพื่อความเอร็ดอร่อย, อาหารอันโอชะ (food, palatable food, food for enjoyment, dainties

5. เหยื่อ (bait)

6. ลาภ, รางวัล, เงิน, สินบน, เงินรางวัล, การให้รางวัล (gain, reward, money, douceur, gratuity, tip)

7. ความเพลิดเพลิน (enjoyment)

8. ความโลภ, ความอยากได้, ตัณหา (greed, desire, lust)

ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า –

อามิส : สิ่งของวัตถุเครื่องล่อใจมีเงินเป็นต้น, เช่น อย่าเห็นแก่อามิสสินจ้าง”

ในทางธรรม “อามิส” มีความหมายคู่กับ “ปฏิบัติ” (หรือ “ธรรม”) เช่น

อามิสบูชา (อา-มิด-สะ-) : การบูชาด้วยอามิส คือ ด้วยสิ่งของมีดอกไม้ ของหอม อาหาร และวัตถุอื่นๆ

ปฏิบัติบูชา (ปะ-ติ-บัด-ติ-) (ธรรมบูชา / ทำ-มะ-) : การบูชาด้วยการปฏิบัติ คือ ประพฤติตามธรรมคำสั่งสอนของท่าน, บูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติ กระทำสิ่งที่ดีงาม

เทวภาษิต :

โลกามิสํ  ปชเห  สนฺติเปกฺโข

(โลกามิสัง ปะชะเห สันติเปกโข)

ที่มา : สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ๑๕/๘, ๑๐, ๒๗๔, ๓๐๐

แปลโดยพยัญชนะ

สนฺติเปกฺโข อันว่าผู้เพ่งซึ่งความสงบ

ปชเห พึงละทั่ว

โลกามิสํ ซึ่งเหยื่ออันเขาใส่ไว้เพื่อล่อซึ่งชาวโลก

แปลโดยอรรถ

ถ้าหวังให้สงบสุข ก็อย่าใช้สินจ้างรางวัลหลอกล่อชาวบ้านชาวเมือง

20-12-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย