บาลีวันละคำ

ยันเต (บาลีวันละคำ 2,138)

ยันเต

อ่านว่า ยัน-เต

คำว่า “ยันเต” เป็นภาษาปาก (คือภาษาพูดที่แสดงความคุ้นเคย ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นพิธีรีตอง เช่น ตาแป๊ะ ตะบี้ตะบัน เทน้ำเทท่า-พจนานุกรมฯ) มีความหมายว่า ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งบ่อยๆ ทำซ้ำซากจำเจ ทำอยู่เสมอ อาจเป็นเรื่องที่ตนเองทำเองคนเดียว หรือทำกับคนอื่น หรือให้คนอื่นมีส่วนร่วมทำด้วยก็ได้ สิ่งที่ทำนั้นเป็นเรื่องที่มักเห็นกันว่าควรเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นบ้าง แต่ก็ไม่เปลี่ยน และมักเป็นไปในทางไม่ดี

พจนานุกรมแปล ไทย-อังกฤษ NECTEC’s Lexitron Dictionary มีคำว่า “ยันเต” บอกความหมายว่า เสมอ แปลเป็นอังกฤษว่า always มีตัวอย่างประโยคว่า –

ใครๆ ก็โทษว่าเป็นความผิดของเขายันเต

พจนานุกรมชื่อ Thai-English-French: Volubilis Dictionary 1.0 ก็มีคำว่า “ยันเต” แปลเป็นอังกฤษว่า always; constantly; invariably; continuously; periodically; continually; incessantly.

คำว่า “ยันเต” นี้ สันนิษฐานว่า ยกมาจากบทสวดมาติกาหรือ “สวดแจง” ในงานศพ ซึ่งโบราณาจารย์ยกบทสวดมาจากพระไตรปิฎก แต่ตัดมาเฉพาะบทแรกของแต่ละปิฎก

เฉพาะพระวินัยปิฎกมีบทขึ้นต้นว่า –

…………..

ยันเตนะ  ภะคะวะตา  ชานะตา  ปัสสะตา  อะระหะตา  สัมมาสัมพุทเธนะ  ปะฐะมัง  ปาราชิกัง  กัตถะ  ปัญญัตตันติ  ฯ  ฯเปฯ ….

แปลว่า –

พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ 1 ณ ที่ไหน? ฯลฯ …

…………..

คำว่า “ยันเต” คงตัดมาจากคำว่า “ยันเตนะ…” ในบทสวดนั่นเอง

และเหตุที่คำว่า “ยันเต” มีความหมายว่า ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งบ่อยๆ ทำซ้ำซากจำเจ น่าจะเป็นเพราะชาวบ้านได้ยินพระสวดบทนี้บ่อยๆ จนรู้สึกกันว่าเป็นการสวดซ้ำซากจำเจ พอเห็นใครทำอะไรซ้ำซากจำเจ ก็ทำให้นึกถึงบทที่พระสวดว่า “ยันเตนะ…” แล้วพูดกันว่า ยันเต..อีกแล้ว

คำว่า “ยันเต” จึงมีความหมายว่า ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งบ่อยๆ ทำซ้ำซากจำเจ ด้วยประการฉะนี้

คำว่า “ยันเต” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ดูเพิ่มเติม: “เอ้เต” บาลีวันละคำ (1,501) 14-7-59

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มีชีวิตอยู่วันเดียว แต่ได้ทำความดี

: ประเสริฐกว่าอยู่ร้อยปี แต่ประพฤติชั่วยันเต

#บาลีวันละคำ (2,138)

20-4-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *