สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (บาลีวันละคำ 584)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(บาลีสันสกฤตผสมไทย)
ประกอบด้วย สมาชิก + สภา + ผู้แทน + ราษฎร
“สมาชิก” บาลีอ่านว่า สะ-มา-ชิ-กะ ภาษาไทยอ่านว่า สะ-มา-ชิก
รากศัพท์คือ สมาช (สะ-มา-ชะ = ที่ประชุม, การประชุม) + ณิก ปัจจัย = สมาชิก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นส่วนหนึ่งเท่ากันกับผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหลาย”
“สภา” (สะ-พา) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่มาประชุมกันพูด” (2) “ที่เป็นที่พูดร่วมกัน” (3) “ที่อันรุ่งเรืองด้วยคนดี”
ในภาษาบาลี “สภา” หมายถึง “สถานที่” แต่ในภาษาไทยนอกจากหมายถึงสถานที่แล้ว ยังหมายถึง “องค์การ” (หรือองค์กร) คือศูนย์รวมกลุ่มบุคคลหรือกิจการที่ประกอบกันขึ้นเป็นหน่วยงาน (ดูเพิ่มเติมที่ “สภา” บาลีวันละคำ (340) 17-4-56)
คำว่า “ผู้แทน” เป็นคำไทย ความหมายในภาษาบาลีตรงกับคำว่า “นิโยชิต” (นิ-โย-ชิ-ตะ) แปลว่า “ผู้ได้รับการสนับสนุน”
“ราษฎร” (ราด-สะ-ดอน) เป็นรูปคำสันสกฤต “ราษฺฏฺร” (มีจุดใต้ ษ และ ฏ ปฏัก) บาลีเป็น “รฏฺฐ” (รัด-ถะ)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า
“ราษฺฏฺร : ประเทศ, ราษฎร, ประชา a realm or region, a country, the people”
ผู้แทน + ราษฎร = ผู้แทนราษฎร (คำประสมแบบไทย) พจน.42 บอกความหมายไว้ว่า “บุคคลที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ทําหน้าที่นิติบัญญัติในสภา”
สมาชิก + สภา + ผู้แทนราษฎร = สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แปลว่า “ผู้เป็นสมาชิกแห่งสภาของผู้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน”
พจน.42 บอกไว้ว่า
“สภาผู้แทนราษฎร : สภานิติบัญญัติสภาหนึ่ง ซึ่งเมื่อรวมกับวุฒิสภาแล้วประกอบเป็นรัฐสภา … มีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ และมีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามระบบการปกครองแบบรัฐสภา”
: ถ้าไม่สนับสนุนประชาชน
: ก็ไม่สมควรที่จะมาให้ประชาชนสนับสนุน
21-12-56