บาลีวันละคำ

ปีติ กับ ปิศาจ (บาลีวันละคำ 4,092)

ปีติ กับ ปิศาจ

คิดไปก็ประหลาดในภาษาไทย

(๑) “ปีติ” 

เป็นรูปคำบาลี อ่านว่า ปี-ติ รากศัพท์มาจาก ปี (ธาตุ = ยินดี, ชอบใจ) + ติ ปัจจัย

: ปี + ติ = ปีติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ยินดี” 

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ปีติ” ว่า ความยินดี, ความอิ่มใจ, ความเบิกบานใจ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปีติ” ว่า emotion of joy, delight, zest, exuberance (ความรู้สึกยินดี, ความอิ่มใจ, ความปราโมทย์, ความซาบซ่านหรือดื่มด่ำ)

บาลี “ปีติ” สันสกฤตเป็น “ปฺรีติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรีติ : (คำนาม) ‘ปรีติ’ ความยินดี, ความปราโมท, ความสุข; ความรัก, ความเสน่หา, ความนับถือ, วธูของกามเทพ; นักษัตรโยคที่สองในจำนวนยี่สิบเจ็ด; joy, pleasure, happiness; love, affection, regard; the wife of Kāmadeva or Cupid; the second of the twenty-seven astronomical yogas.”

ภาษาไทยใช้ตามรูปบบาลีเป็น “ปีติ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ปีติ : (คำนาม) ความปลาบปลื้มใจ, ความอิ่มใจ. (ป.; ส. ปฺรีติ).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ปีติ” ไว้ว่า –

…………..

ปีติ : ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำในใจ มี ๕ คือ ๑. ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อยพอขนชันน้ำตาไหล ๒. ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะรู้สึกแปลบๆ ดุจฟ้าแลบ ๓. โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอกรู้สึกซู่ลงมาๆ ดุจคลื่นซัดฝั่ง ๔. อุพเพคาปีติ ปีติโลดลอย ให้ใจฟู ตัวเบาหรืออุทานออกมา ๕. ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ เป็นของประกอบกับสมาธิ (ข้อ ๔ ใน โพชฌงค์ ๗)

…………..

(๒) “ปิศาจ

เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “ปิสาจ” อ่านว่า ปิ-สา-จะ รากศัพท์มาจาก ปิสิต (ปิ-สิ-ตะ = เนื้อสัตว์) + อสฺ (ธาตุ = กิน) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ปิสิต เป็น ปิ, แปลง อสฺ เป็น สาจ

: ปิสิต > ปิ + อสฺ > สาจฺ : ปิ + สาจฺ + = ปิสาจ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินเนื้อ” หมายถึง มาร, ปีศาจ, ผี (a demon, goblin, sprite, ghost)

บาลี “ปิสาจ” สันสกฤตเป็น “ปิศาจ” (สันสกฤต ศาลา บาลี เสือ)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ปิศาจ : (คำนาม) ผี, เวตาล; นางผี; a fiend, a sprite or ghost; a female imp, a she-demon.”

ภาษาไทยใช้ ศาลา ตามสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) “ปิศาจ : (คำนาม) ผี, ลักษณนามว่า ตน, ปีศาจ ก็ว่า. (ส.; ป. ปิสาจ).”

(2) ปีศาจ : (คำนาม) ผี, ลักษณนามว่า ตน, ปิศาจ ก็ว่า. (ส.; ป. ปิสาจ).

อภิปรายขยายความ :

ปีติ” กับ “ปิศาจ” เป็นคำที่ประหลาดในภาษาไทย

ประหลาดข้อแรก คือ คำว่า “ปีติ” ทั้งบาลีและสันสกฤตเป็นรูปเดียวกัน คือ พยางค์ต้น ปี– สระ อี เสียงเดียวกับคำไทยว่า เดือนปี 

แต่คนไทยส่วนมากเมื่อเขียนคำนี้ จะสะกดเป็น “ปิติ” ปิ- สระ อิ 

ปิ- เหมือนคำไทยว่า กะปิ

โปรดทราบว่า 

ปีติ ปี– (เดือนปี) สระ อี ถูก ✔

ปิติ ปิ- (กะปิ) สระ อิ ผิด ✘

ประหลาดข้อที่สอง คือ คำว่า “ปิสาจ” ทั้งบาลีและสันสกฤต พยางค์ต้นเป็นรูปเดียวกัน คือ ปิ– สระ อิ เสียงเดียวกับคำไทยว่า กะปิ 

แต่คนไทยส่วนมากเมื่อเขียนคำนี้ จะสะกดเป็น “ปีสาจ” ปี- สระ อี 

ปี- เหมือนคำไทยว่า เดือนปี

สรุปความประหลาดก็คือ :

บาลี ปี– (ปีติ) เอาไปเขียนเป็น ปิ-

บาลี ปิ– (ปิสาจ) เอาไปเขียนเป็น ปี-

มีผู้เสนอทฤษฎีว่า จะสะกดอย่างไร สระอิหรือสระอี น หนู หรือ ณ เณร ศ ศาลา หรือ ส เสือ สระไอ ไม้ม้วนหรือไม้มลาย สถิต จะมี ย การันต์หรือไม่มี มรณภาพ สะกดเป็น มรณะภาพ ฯลฯ ไม่ต้องไปใส่ใจว่าพจนานุกรมสะกดอย่างไร มีใช้หรือไม่ ภาษาไม่มีผิดไม่มีถูก ข้อสำคัญอยู่ที่จับสาระที่ต้องการสื่อสารให้ได้ แล้วเอาสาระนั้นไปใช้-เท่านี้พอแล้ว

ความจริง ทฤษฎีนี้ไม่ใช่ทฤษฎีใหม่ แต่เป็นทฤษฎีโบราณ-โบราณมาก คนโบราณท่านใช้วิธีสะกดคำแบบนี้ ใครที่เคยอ่านสมุดข่อยใบลานเอกสารเก่าแก่ย่อมจะยืนยันได้

เราผ่านยุคสมัยนั้น จนสามารถสร้างสรรค์พจนานุกรม-ระเบียบแห่งการใช้ถ้อยคำให้ลงรอยเดียวกัน-ไว้เป็นสมบัติวัฒนธรรมของชาติไทย เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศได้แล้ว

จะเดินหน้า ถอยหลัง หรือหยุดอยู่กับที่ – อาจไม่มีถูกไม่มีผิด

แต่ต้องคิดให้รอบคอบ

…………..

ดูก่อนภราดา!

โปรดอ่านข้อความข้างล่างนี้ 

แล้วนำเอาสาระไปใช้ 

อย่าใส่ใจสะกดการันต์

: ยานีกินกไดทากได

: ไชนำตาลิงนำพิงกได

#บาลีวันละคำ (4,092)

26-8-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *