บาลีวันละคำ

อวดอุตริ (บาลีวันละคำ 4,102)

อวดอุตริ

ห้ามไม่ให้อวดไม่ยากเท่าห้ามไม่ให้เชื่อ

อ่านว่า อวด-อุด-ตะ-หฺริ

ประกอบด้วยคำว่า อวด + อุตริ

(๑) “อวด

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายพร้อมตัวอย่างไว้ดังนี้ – 

(1) สําแดงให้รู้เห็น เช่น อวดฤทธิ์อวดเดช

(2) แสดงให้ปรากฏ เช่น อวดความสามารถ

(3) นําออกให้ดูให้ชม เช่น เอาของมาอวด

(4) ยกย่องต่อหน้าคน เช่น อวดว่าลูกตัวเก่ง

(5) แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีคุณสมบัติเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่มิได้มี เช่น อวดเก่ง อวดภูมิ

ในที่นี้ “อวด” มีความหมายตามข้อ (5) 

(๒) “อุตริ

บาลีเป็น “อุตฺตริ” อ่านว่า อุด-ตะ-ริ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ตรฺ (ธาตุ = ข้าม, กระโดด) + อิ ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + ตฺ + ตรฺ)

: อุ + ตฺ + ตรฺ = อุตฺตรฺ + อิ = อุตฺตริ แปลตามศัพท์ว่า “ข้ามขึ้น” หรือ “โดดขึ้นไป” มีความหมายว่า นอกเหนือ, เหนือขึ้นไป, พ้นไป, เสริม, ยิ่งไปกว่านั้น, ไกลไปกว่านั้น, นอกจาก (out, over, beyond; additional, moreover, further, besides)

นอกจากเป็น “อุตฺตริ” แล้ว ยังเป็น “อุตฺตรึ” (อุด-ตะ-ริง, ลงนิคหิตที่ -ริ > -รึ) อีกรูปหนึ่งด้วย ทั้งสองคำนี้ใช้เป็นกริยาวิเศษณ์ หรือคุณศัพท์

ตัวอย่างเช่น ในบทอานิสงส์เมตตา มีคำว่า “อุตฺตรึ  อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต” แปลว่า “ยังไม่รู้แจ้งยิ่งขึ้นไป” คือยังไม่บรรลุธรรมขั้นสูงขึ้นไปอีก (ในข้อความนี้หมายถึงยังไม่บรรลุนิพพาน)

อุตฺตริอุตฺตรึ” มีแนวคิดในความหมาย 2 นัย คือ –

(1) ตกจากพื้นฐานปกติแล้วกลับขึ้นมาได้ เช่น ตกลงไปในบ่อแล้วขึ้นจากบ่อได้ หรือพลาดพลั้งไปทำผิดทำชั่ว แล้วกลับตัวได้ ก็เรียกว่า “อุตฺตริ

(2) อยู่ตามพื้นฐานปกติ แต่ทำ พูด คิดเหนือขึ้นไปจากปกติธรรมดา หรือที่คนธรรมดาไม่ทำหรือทำไม่ได้ ก็เรียกว่า “อุตฺตริ

บาลี “อุตฺตริ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “อุตริ” อ่านว่า อุด-ตะ-หฺริ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

อุตริ : (คำวิเศษณ์) นอกคอก, นอกทาง, นอกรีต. (ป., ส. อุตฺตริ ว่า ยิ่ง).”

อวด + อุตริ = อวดอุตริ เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลังว่า “อวดเรื่องนอกคอก นอกทาง นอกรีต” หมายถึง พูดหรือทำสิ่งที่คนทั่วไปเขาไม่พูดไม่ทำกัน ถือว่านอกลู่นอกทาง

ขยายความ :

คำว่า “อวดอุตริ” เป็นคำที่ผู้ใหญ่กำราบหรือตำหนิเด็กหรือผู้น้อยที่พูดหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ผาดแผลงผิดวิสัยที่คนทั่วไปเขาทำกัน อันอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายได้ เช่น “อวดอุตริไม่เข้าเรื่อง” หรือพูดลัดว่า “อุตริไม่เข้าเรื่อง

คำว่า “อวดอุตริ” น่าจะตัดมาจากคำว่า “อวดอุตริมนุสธรรม” 

คำว่า “อุตริมนุสธรรม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อุตริมนุสธรรม : (คำนาม) คุณอย่างยวดยิ่งของมนุษย์ ได้แก่ธรรมวิเศษมีการสําเร็จฌาน สําเร็จมรรคผลเป็นต้น. (ป. อุตฺตริ + มนุสฺส + ธมฺม; ส. อุตฺตริ + มนุษฺย + ธรฺม).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

อุตริมนุสธรรม : ธรรมยวดยิ่งของมนุษย์, ธรรมของมนุษย์ผู้ยอดยิ่ง, ธรรมล้ำมนุษย์ ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาบัติ มรรคผล, บางทีเรียกให้ง่ายว่า ธรรมวิเศษ บ้าง คุณวิเศษ หรือ คุณพิเศษ บ้าง.

…………..

มีสิกขาบทบัญญัติไว้ว่า ห้ามภิกษุอวดอุตริมนุสธรรม ถ้าไม่มีคุณพิเศษจริงตามที่อวดมีโทษถึงขาดจากความเป็นพระ ที่เรียกว่า “ต้องอาบัติปาราชิก” 

ขอยกตัวบทสิกขาบทมาบันทึกไว้ในที่นี้เพื่อเป็นข้อมูลอันจะเกื้อกูลแก่การศึกษาพระธรรมวินัย 

ท่านที่ไม่ถนัดภาษาบาลี พึงตั้งจิตให้เป็นกุศล พยายามศึกษาตามกำลังความสามารถ เพื่อเป็นอุปนิสัยปัจจัยต่อไป

ศึกษาจากปาราชิกสิกขาบทที่ 4:

…………..

โย  ปน  ภิกฺขุ  อนภิชานํ  อุตฺตริมนุสฺสธมฺมํ  อตฺตูปนายิกํ  อลมริยญาณทสฺสนํ  สมุทาจเรยฺย  อิติ  ชานามิ  อิติ  ปสฺสามีติ 

อนึ่ง ภิกษุใดไม่รู้เฉพาะ [คือไม่รู้จริง] กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมอันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตัวว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้

ตโต  อปเรน  สมเยน  สมนุคฺคาหิยมาโน  วา  อสมนุคฺคาหิยมาโน  วา  อาปนฺโน  

ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดหนึ่งถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม [คือเชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม แต่ในบทภาชนีย์คัมภีร์วิภังค์แก้ความว่า ถูกซักถามก็ตาม ไม่ถูกซึกถามก็ตาม] ก็เป็นต้องอาบัติแล้ว

วิสุทฺธาเปกฺโข  เอวํ  วเทยฺย  อชานเมวํ  อาวุโส  อวจํ  ชานามิ  อปสฺสํ  ปสฺสามิ  ตุจฺฉํ  มุสา  วิลปินฺติ  

มุ่งความหมดจด [คือพ้นโทษ] จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จเปล่าๆ

อญฺญตฺร  อธิมานา  อยมฺปิ  ปาราชิโก  โหติ  อสํวาโสติ ฯ 

เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

ที่มา: 

– คำบาลี: จตุตถปาราชิกกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 232

– คำแปล: วินัยมุข เล่ม 1 หน้า 47 พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

…………..

หนังสือนวโกวาทแปลสรุปความไว้ว่า –

…………..

ภิกษุอวดอุตริมนุสธรรม (คือธรรมอันยิ่งของมนุษย์) ที่ไม่มีในตน ต้องปาราชิก.

…………..

ศึกษาจากคำบอกอนุศาสน์:

…………..

อุปสมฺปนฺเนน  ภิกฺขุนา  อุตฺตริมนุสฺสธมฺโม  น  อุลฺลปิตพฺโพ  อนฺตมโส  สุญฺญาคาเร  อภิรมามีติ.

ภิกษุผู้อุปสมบทแล้วไม่พึงอวดอุตริมนุสธรรม โดยที่สุดพูดแสดงให้เขารู้ว่า “ข้าพเจ้าพอใจในสุญญาคาร”

โย  ภิกฺขุ  ปาปิจฺโฉ  อิจฺฉาปกโต  อสนุตํ  อภูตํ  อุตฺตริมนุสฺสธมฺมํ  อุลฺลปติ ฌานํ  วา  วิโมกฺขํ  วา  สมาธึ  วา  สมาปตฺตึ  วา  มคฺคํ  วา  ผลํ  วา  อสฺสมโณ  โหติ  อสกฺยปุตฺติโย.

ภิกษุใดตกอยู่ในอำนาจความอยาก ถูกความอยากได้ครอบงำ อวดอุตริมนุสธรรมอันไม่ได้บรรลุจริง คืออวดว่าได้บรรลุฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ มรรค หรือผลก็ตาม ภิกษุนั้นไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร 

เสยฺยถาปิ  นาม  ตาโล  มตฺถกจฺฉินฺโน  อภพฺโพ  ปุน  วิรุฬฺหิยา

อันว่าตาลยอดด้วน ไม่อาจที่จะงอกขึ้นได้อีก ฉันใด

เอวเมว  ภิกขุ  ปาปิจฺโฉ  อิจฺฉาปกโต  อสนฺตํ  อภูตํ  อุตฺตริมนุสฺสธมฺมํ  อุลฺลปิตฺวา  อสฺสมโณ  โหติ  อสกฺยปุตฺติโย.

ภิกษุตกอยู่ในอำนาจความอยาก ถูกความอยากได้ครอบงำ อวดอุตริมนุสธรรมอันไม่ได้บรรลุจริง ก็ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร ฉันนั้นเหมือนกัน

ตนฺเต  ยาวชีวํ  อกรณียํ.

การนั้นเธอไม่พึงทำตลอดชีวิต.

ที่มา: มหาขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 4 ข้อ 144

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ห้ามคนทั้งโลกไม่ให้อวดอุตริ ยากมาก

: ห้ามคนเขลาคนเดียวไม่ให้เชื่อคำอวด ยากกว่า

#บาลีวันละคำ (4,102)

5-9-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *