บาลีวันละคำ

พระสยามเทวาธิราช (บาลีวันละคำ 4,103)

พระสยามเทวาธิราช

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

ไม่เคยรู้ศึกษาเอาไว้

อ่านว่า พฺระ-สะ-หฺยาม-เท-วา-ทิ-ราด

ประกอบด้วยคำว่า พระ + สยาม + เทว + อธิราช

(๑) “พระ” 

มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง เป็น ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ดังนี้ –

(๑) น. ( = คำนาม) คำใช้แทนชื่อเรียกภิกษุสงฆ์ เช่น วัดนี้มีพระกี่รูป พระลงโบสถ์, พระพุทธรูป เช่น ชักพระ ไหว้พระในโบสถ์, พระพุทธเจ้า หรือเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เช่น เมืองพระ คำพระ พระมาตรัส, ชื่อวันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา เดือนหนึ่งมี ๔ วัน คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ และแรม ๑๕ ค่ำ ถ้าเป็นเดือนขาดก็แรม ๑๔ ค่ำ เรียกว่า วันพระ

(๒) น. พระเจ้า, พระเยซู, (ตามที่คริสต์ศาสนิกชนในเมืองไทยใช้อนุโลมเรียก) เช่น พระลงโทษ แม่พระ

(๓) น. นักบวช เช่น พระไทย พระแขก พระฝรั่ง พระจีน พระญวน

(๔) น. ใช้ประกอบหน้าคำอื่นแสดงความยกย่อง 

       ๑. เทพเจ้าหรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพิรุณ 

       ๒. พระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ 

       ๓. สมณศักดิ์ชั้นราชาคณะ เช่น พระราชเวที พระเทพเมธี 

       ๔. ภิกษุ เช่น พระสมศักดิ์ 

       ๕. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระภูมิ

(๕) น. อิสริยยศเจ้านาย เช่น พระรามคำแหง พระนเรศวร พระเทียรราชา

(๖) น. บรรดาศักดิ์ข้าราชการสูงกว่าหลวง ต่ำกว่าพระยา เช่น พระสารประเสริฐ พระธรรมนิเทศทวยหาญ, ใช้ประกอบหน้านามพระสนม เช่น พระอินทราณี พระสุจริตสุดา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

(๗) น. โดยปริยายหมายถึงผู้ที่มีเมตตากรุณาทรงคุณงามความดีเหมือนพระ เช่น ใจพระ พ่อแม่เป็นพระของลูก.

(๘) (คำที่ใช้ในบทกลอน) (สรรพนาม) คำใช้แทนผู้เป็นใหญ่ เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒ เช่น เมียเห็นว่าเงาะนี้มีความรู้ พระอย่าได้ลบหลู่ว่าชั่วช้า (สังข์ทอง), หรือเป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓ เช่น พระเสด็จโดยแดนชล (กาพย์เห่เรือ).

ในที่นี้คำว่า “พระ” ใช้ตามความหมายในข้อ (๔) ๑. 

(๒) “สยาม” 

อ่านว่า สะ-หฺยาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สยาม : ชื่อเรียกประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒; ของประเทศไทย.”

มีผู้สันนิษฐานว่า “สยาม” ที่เป็นชื่อประเทศไทยมาจากคำสันสกฤตว่า “ศยาม” เนื่องจากคนไทยมีผิวสีคล้ำ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ศฺยาม : มีสีดำหรือสีครามหม่น; มีสีเขียว black or dark-blue; green.”

พจนานุกรมฯ 54 บอกไว้ว่า –

ศยาม : (คำวิเศษณ์) ดํา, คลํ้า. (ส.).”

ศฺยาม” สันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “สาม” (สา-มะ)

สาม” รากศัพท์มาจาก –

(1) สา (ธาตุ = ทำให้บาง) + ปัจจัย

: สา + = สาม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สีอันเขาทำให้จางลงด้วยสีตรงข้าม” (2) “สีที่ทำให้ความสวยงามด้อยลง

(2) สา (ศรี, สิริ) + เม (ธาตุ = เปลี่ยน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, แผลง เอ ที่ เม เป็น (เม > )

: สา + เม = สาเม + กฺวิ = สาเมกฺวิ > สาเม > สาม แปลตามศัพท์ว่า “สีเป็นเหตุเปลี่ยนไปแห่งสิริ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกไว้ว่า “สาม : เทียบ ศฺยาม ดำ ศฺยาว น้ำเงิน (śyāma black & śyāva brown) และบอกความหมายไว้ดังนี้ –

1 ดำ, มืด (เหมือนน้ำตาลแก่) (black, dark [something like deep brown])

2 เหลือง, มีสีทอง, งดงาม (yellow, of a golden colour, beautiful)

จะเห็นได้ว่า สามศฺยาม ไม่ได้แปลว่าดำ หรือคล้ำ อย่างเดียว แต่หมายถึงสีเหลือง สีทอง หรืองดงามก็ได้ด้วย

บาลี “สาม” สันสกฤต “ศฺยาม” ไทยใช้เป็น “สยาม” 

สยาม” เป็นการเขียนอิงสันสกฤต (สันสกฤต ศฺ ศาลา ไทย ส เสือ) ถ้าเขียนเป็นบาลีอิงสันสกฤต ต้องมีจุดใต้ สฺ เป็น “สฺยาม” 

สฺยาม” ออกเสียง สฺ– กึ่งเสียง สฺยา-มะ ไม่ใช่ สะ-ยา-มะ 

สฺยาม” ในบาลี อ่านว่า เซียม จะได้เสียงที่ถูกต้อง

(๓) “เทว” 

บาลีอ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว

: ทิวฺ + = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ” 

ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา 

แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –

(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)

(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)

(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน) 

(๔) “อธิราช

บาลีอ่านว่า อะ-ทิ-รา-ชะ ประกอบด้วย อธิ + ราช

(ก) “อธิ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ, เหนือ, บน (exceeding, extra-ordinary, superior) 

(ข) “ราช” บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (ปัจจัย) = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ปัจจัย, ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา 

: รญฺชฺ + = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ

ท่านพุทธทาสภิกขุให้คำจำกัดความ “ราช” หรือ “ราชา” ว่าคือ “ผู้ที่ทำให้ประชาชนร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

อธิ + ราช = อธิราช บาลีอ่านว่า อะ-ทิ-รา-ชะ ภาษาไทยอ่านว่า อะ-ทิ-ราด แปลว่า “พระราชาผู้ยิ่งใหญ่” หมายถึง พระราชาผู้เหนือกว่าพระราชาอื่น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อธิราช : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่. (ส.).”

การประสมคำ :

เทว + อธิราช = เทวาธิราช (เท-วา-ทิ-ราด) แปลว่า “เทพผู้เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่” 

สยาม + เทวาธิราช = สยามเทวาธิราช (สะ-หฺยาม-เท-วา-ทิ-ราด) แปลว่า “เทพผู้เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่แห่งประเทศสยาม” หมายถึง “เทวาธิราชผู้ปกปักรักษาประเทศสยาม” 

พระ + สยามเทวาธิราช = พระสยามเทวาธิราช (พฺระ-สะ-หฺยาม-เท-วา-ทิ-ราด) หมายถึง เทวรูปอันมีนามว่า “พระสยามเทวาธิราช

ขยายความ :

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “พระสยามเทวาธิราช” (อ่านเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 เวลา 20:30 น.) อธิบายประวัติของ “พระสยามเทวาธิราช” ไว้ดังนี้ –

…………..

พระสยามเทวาธิราช เป็นเทวรูป หล่อด้วยทองคำสูง 8 นิ้ว ประทับยืนทรงเครื่องกษัตริยาธิราช ทรงฉลองพระองค์อย่างเครื่องของเทพารักษ์ มีมงกุฎเป็นเครื่องศิราภรณ์ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบดรรชนีเสมอพระอุระ องค์พระสยามเทวาธิราชประดิษฐานอยู่ในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์ ลักษณะแบบวิมานเก๋งจีน มีคำจารึกเป็นภาษาจีนที่ผนังเบื้องหลัง แปลว่า “ที่สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช” (暹國顯靈神位敬奉) เรือนแก้วเก๋งจีนนี้ประดิษฐานอยู่ในมุขกลางของพระวิมานไม้แกะสลักปิดทอง ตั้งอยู่เหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ตอนกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง

…………..

…………..

เทวรูปนี้ถูกสร้างตามพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงประมาณ พ.ศ.2402-2403 โดยมีการสักการะในพระราชพิธีส่วนพระองค์ทุกปีในขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติไทย

ประวัติ

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดการศึกษาประวัติศาสตร์ มีพระราชดำริว่าประเทศไทยมีเหตุการณ์ที่เกือบจะต้องเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นภยันตรายมาได้เสมอ คงจะมีเทพยดาที่ศักดิ์สิทธิ์คอยอภิบาลรักษาอยู่ สมควรที่จะทำรูปเทพยดาองค์นั้นขึ้นสักการบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการปั้นหล่อเทวรูปสมมุติขึ้น ถวายพระนามว่าพระสยามเทวาธิราช ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรมในหมู่พระที่นั่งพุทธมณเฑียร ในพระอภิเนาว์นิเวศน์

…………..

…………..

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายเครื่องสังเวยเป็นราชสักการะเป็นประจำวัน เครื่องสังเวยที่ถวายเป็นประจำนั้น จะถวายเฉพาะวันอังคาร และวันเสาร์ก่อนเวลาเพล โดยจะมีพนักงานฝ่ายพระราชฐานชั้นใน เป็นผู้เชิญเครื่องตั้งสังเวยบูชา เครื่องสังเวยประกอบด้วย ข้าวสุกหนึ่งถ้วยเชิง หมูนึ่งหนึ่งชิ้น พร้อมด้วยน้ำพริกเผา ปลานึ่งหนึ่งชิ้นพร้อมด้วยน้ำจิ้ม ขนมต้มแดงและขนมต้มขาว กล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อนหนึ่งผล ผลไม้ตามฤดูกาลสองอย่าง และน้ำสะอาดอีกหนึ่งถ้วย โปรดเกล้า ฯ ให้จัดพระราชพิธีสังเวยเทวดา ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า พระอภิเนาว์นิเวศน์พระพุทธมณเฑียร และพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งเป็นโครงสร้างเสาไม้หุ้มปูน ที่ได้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก ยากที่จะบูรณะให้คงสภาพเดิมไว้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อลงทั้งหมด และอัญเชิญพระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐานไว้ ณ พระวิมานทองสามมุขเหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตราบจนถึงทุกวันนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระสยามเทวาธิราช

มีจริงหรือเปล่า ไม่เป็นปัญหา

: คนไทยที่จะรักษาประเทศไทยให้อยู่รอดปลอดภัย 

มีหรือเปล่า นี่สิคือปัญหา

#บาลีวันละคำ (4,103)

6-9-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *